ออกกำลังลดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้มีความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง

ออกกำลังลดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้มีความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง

The Lancet, Early Online Publication, 20 December 2013.

บทความเรื่อง Association between Change in Daily Ambulatory Activity and Cardiovascular Events in People with Impaired Glucose Tolerance (NAVIGATOR Trial): A Cohort Analysis รายงานว่า ผลลัพธ์การเพิ่มการออกกำลังกายต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดยังไม่มีข้อมูลชัดเจน นักวิจัยจึงศึกษาว่าระดับการเดินที่เส้นฐานและการเพิ่มระดับการเดินออกกำลังกายสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีความทนต่อน้ำตาลบกพร่องหรือไม่

นักวิจัยประเมินข้อมูลจากงานวิจัย NAVIGATOR ซึ่งศึกษาในผู้ที่มีความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง 9,306 รายโดยรวบรวมจาก 40 ประเทศระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 2002 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2004 ผู้เข้าร่วมวิจัยยังมีโรคหัวใจและหลอดเลือด (หากอายุ ≥ 50 ปี) หรือมีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งตัว (หากอายุ ≥ 55 ปี) ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับการติดตามการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด (การตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด สโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย) เฉลี่ยเป็นเวลา 6 ปี และประเมินระดับการเดินที่เส้นฐานและ 12 เดือน ทั้งนี้นักวิจัยได้ใช้ Cox proportional hazard models ที่ปรับแล้วดูความสัมพันธ์ของการเดินที่เส้นฐานและการเปลี่ยนแปลงของการเดิน (จากเส้นฐานถึง 12 เดือน) กับความเสี่ยงเหตุการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือด

ระหว่างการติดตาม 45,211 person-years พบเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด 531 ราย การเดินที่เส้นฐาน (hazard ratio [HR] per 2,000 steps per day 0.90, 95% CI 0.84-0.96) และการเพิ่มระดับการเดิน (0.92, 0.86-0.99) สัมพันธ์แบบกลับกับความเสี่ยงเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด ผลลัพธ์สำหรับการเพิ่มระดับการเดินยังคงที่ภายหลังปรับการเปลี่ยนแปลงด้านดัชนีมวลกายและตัวแปรกวนที่มีศักยภาพที่ 12 เดือน

ระดับการเดินที่เส้นฐานและการเพิ่มระดับการเดินมีความสัมพันธ์แบบกลับกับความเสี่ยงการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง