ใช้น้ำผึ้งป้องกันติดเชื้อจากล้างไตทางช่องท้อง
Lancet Infect Dis. 2014 Jan;14(1):23-30.
บทความเรื่อง Antibacterial Honey for The Prevention of Peritoneal-Dialysis-Related Infections (HONEYPOT): A Randomised Trial รายงานว่า ปัจจุบันยังคงมีข้อมูลจำกัดสำหรับกำหนดแนวทางป้องกันการติดเชื้อจากการล้างไตทางช่องท้อง ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลชี้ว่าการทาน้ำผึ้งเป็นวิธีที่ประหยัดและให้ผลดีโดยไม่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา นักวิจัยจึงศึกษาว่าการทาน้ำผึ้งวันละครั้งที่บริเวณทางออกสายล้างท้องจะเพิ่มระยะเวลาจนถึงเกิดการติดเชื้อจากการล้างไตทางช่องท้องหรือไม่ โดยเทียบกับการดูแลรักษาตามมาตรฐานร่วมกับ intranasal mupirocin prophylaxis สำหรับผู้เป็นพาหะของ Staphylococcus aureus
นักวิจัยศึกษาจากศูนย์การแพทย์ 26 แห่งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยสุ่มให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการล้างไตทางช่องท้องทาน้ำผึ้งที่บริเวณทางออกสายล้างท้องร่วมกับการดูแลทางออกสายล้างท้องตามมาตรฐาน หรือให้ intranasal mupirocin prophylaxis (เฉพาะในผู้เป็นพาหะของ S. aureus) ร่วมกับการดูแลทางออกสายล้างท้องตามมาตรฐาน (กลุ่มควบคุม) โดย primary endpoint ได้แก่ ระยะเวลาจนถึงเกิดการติดเชื้อจากการล้างไตทางช่องท้องครั้งแรก (การติดเชื้อที่ทางออกสายล้างท้อง การติดเชื้ออุโมงค์สาย หรือภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
มีผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มทาน้ำผึ้ง 186 ราย และกลุ่มควบคุม 185 รายจากจำนวนทั้งสิ้น 371 ราย มัธยฐานการรอดชีพโดยไม่เกิดการติดเชื้อจากการล้างไตทางช่องท้องไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ทาน้ำผึ้ง (16.0 months [IQR not estimable]) และกลุ่มควบคุม (17.7 months [not estimable]; unadjusted hazard ratio 1.12, 95% CI 0.83-1.51; p = 0.47) และจากการวิเคราะห์กลุ่มย่อยพบว่า น้ำผึ้งเพิ่มความเสี่ยงต่อทั้ง primary endpoint (1.85, 1.05-3.24; p = 0.03) และภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (2.25, 1.16-4.36) ในผู้ที่เป็นเบาหวาน อุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง (298 vs 327, respectively; p = 0.1) และการตาย (14 vs 18, respectively; p = 0.9) ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มทาน้ำผึ้งและกลุ่มควบคุม และพบผู้เข้าร่วมวิจัย 11 ราย (6%) ในกลุ่มทาน้ำผึ้งที่เกิดผิวหนังระคายเคืองเฉพาะที่
ผลลัพธ์จากการศึกษานี้ไม่แนะนำให้ใช้น้ำผึ้งสำหรับการป้องกันการติดเชื้อจากการล้างไตทางช่องท้อง