ผลลัพธ์เสริมวิตามินดีต่อความหนาแน่นกระดูก
Lancet. 2014 Jan;383(9912):146-155.
บทความเรื่อง Effects of Vitamin D Supplements on Bone Mineral Density: A Systematic Review and Meta-Analysis อ้างถึงข้อมูลจากงานวิจัย meta-analysis หลายชิ้นชี้ว่า การเสริมวิตามินดีโดยไม่ได้ให้ร่วมกับแคลเซียมไม่มีผลในการป้องกันกระดูกหัก ซึ่งอาจเป็นผลจากข้อจำกัดของการศึกษา หรือขนาดที่ไม่เหมาะสม หรือการแทรกแซงไม่ได้มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมาย แต่กระนั้นพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่อายุมาก (อายุมากกว่า 50 ปี) ยังคงใช้ผลิตภัณฑ์เสริมวิตามิน
นักวิจัยได้ศึกษาผลการเสริมวิตามินดีต่อความหนาแน่นกระดูก โดยรวบรวมข้อมูลงานวิจัยประเมินผลของวิตามินดี (D3 หรือ D2 แต่ไม่รวม vitamin D metabolites) ต่อความหนาแน่นกระดูกจาก Web of Science, Embase และ Cochrane Database นับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2012 นักวิจัยรวบรวมงานวิจัยทั้งหมดที่เปรียบเทียบการแทรกแซงซึ่งมีความแตกต่างกันเฉพาะปริมาณวิตามินดี และศึกษาจากผู้ใหญ่ (อายุเฉลี่ย > 20 ปี) ซึ่งไม่เป็นโรคกระดูกเมตาบอลิกอื่น นักวิจัยรวมข้อมูลด้วย random effects meta-analysis ซึ่งรายงานค่า weighted mean differences และ 95% CIs โดยใช้ Cochran's Q statistic และ I2 statistic ประเมินความแตกต่างกันในผลลัพธ์ของแต่ละการศึกษา ทั้งนี้ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ percentage change ของความหนาแน่นกระดูกจากเส้นฐาน
มีงานวิจัยที่สอดคล้องกับเกณฑ์การศึกษารวม 23 ชิ้น (mean duration 23.5 เดือน รวมผู้เข้าร่วมวิจัย 4,082 ราย, 92% เป็นผู้หญิง, อายุเฉลี่ย 59 ปี) โดยงานวิจัย 19 ชิ้นศึกษาจากกลุ่มเชื้อสายยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ค่า mean baseline serum 25-hydroxyvitamin D concentration ต่ำกว่า 50 nmol/L ในงานวิจัย 8 ชิ้น (n = 1,791) และในงานวิจัย 10 ชิ้น (n = 2,294) ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับวิตามินดีต่ำกว่า 800 IU/d ความหนาแน่นกระดูกวัดจากหนึ่งถึงห้าจุด (กระดูกสันหลังเอว คอกระดูกสะโพก สะโพก ปุ่มกระดูก กระดูกทั้งตัว หรือกระดูกต้นแขน) โดยมีการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติรวมทั้งหมด 70 ครั้ง มีข้อมูล 6 ชิ้นที่ชี้ว่ามีประโยชน์ที่มีนัยสำคัญ และ 2 ชิ้นชี้ว่ามีอันตราย และข้อมูลที่เหลือไม่พบผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญ มีการศึกษาเพียงชิ้นเดียวที่พบว่ามีประโยชน์ต่อกระดูกมากกว่าหนึ่งจุด ผลลัพธ์จาก meta-analysis พบว่ามีประโยชน์เล็กน้อยต่อกระดูกคอสะโพก (weighted mean difference 0.8%, 95% CI 0.2-1.4) โดยมีความแตกต่างกันระหว่างการศึกษา (I2 = 67%, p < 0.00027) จากการศึกษาไม่พบผลลัพธ์ต่อกระดูกบริเวณอื่น รวมถึงสะโพก ขณะที่พบอคติต่อผลบวกสำหรับกระดูกคอสะโพกและสะโพก
นักวิจัยสรุปว่า การใช้วิตามินดีอย่างแพร่หลายเพื่อป้องกันกระดูกพรุนสำหรับผู้ใหญ่ในชุมชนซึ่งไม่มีปัจจัยเสี่ยงจำเพาะต่อภาวะพร่องวิตามินดีอาจไม่มีความจำเป็น