ความชุกการสูบบุหรี่และการบริโภคบุหรี่ใน 187 ประเทศ

ความชุกการสูบบุหรี่และการบริโภคบุหรี่ใน 187 ประเทศ

JAMA. 2014;311(2):183-192.

บทความเรื่อง Smoking Prevalence and Cigarette Consumption in 187 Countries, 1980-2012รายงานว่า ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงอันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคในทั่วโลก การศึกษาแนวโน้มของประเทศในด้านความชุกและการบริโภคจึงมีนัยสำคัญต่อการกำหนดการปฏิบัติและประเมินความคืบหน้าการควบคุมยาสูบ

นักวิจัยประเมินความชุกการสูบบุหรี่ต่อวันตามอายุและเพศ และจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันจาก 187 ประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1980-2012 โดยรวบรวมข้อมูลจากสถิติการใช้ยาสูบทั้งประเทศ (n = 2,102 country-years of data) ข้อมูลอายุ-เพศ-ประเทศ-ปี (n = 38,315) สังเคราะห์ด้วย spatial-temporal gaussian process regression เพื่อหาค่าประมาณความชุกตามอายุ เพศ ประเทศ และปี และหาค่าประมาณจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันจากข้อมูลการบริโภคบุหรี่ มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ ความชุกปรับมาตรฐานอายุของการสูบบุหรี่ต่อวันตามอายุ เพศ ประเทศ และปี และจำนวนบุหรี่ต่อผู้สูบต่อวันตามประเทศและปี

ความชุกปรับมาตรฐานอายุของการสูบบุหรี่ต่อวันในประชากรอายุมากกว่า 15 ปีทั่วโลกลดลงจาก41.2% (95% uncertainty interval [UI], 40.0-42.6%) ในปี ค.ศ. 1980 มาที่ 31.1% (95% UI, 30.2-32.0%; p < 0.001) ในปี ค.ศ. 2012 สำหรับผู้ชาย และจาก 10.6% (95% UI, 10.2-11.1%) มาที่ 6.2% (95% UI, 6.0-6.4%; p < 0.001) สำหรับผู้หญิง ความชุกลดลงมาในอัตราที่เร็วขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1996-2006 (mean annualized rate of decline 1.7%; 95% UI 1.5-1.9%) เทียบกับช่วงหลัง (mean annualized rate of decline 0.9%; 95% UI 0.5-1.3%; p = 0.003) แม้พบว่าความชุกลดลงแต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 721 ล้านคน (95% UI 700-742 million) ในปี ค.ศ. 1980 มาที่ 967 ล้านคน (95% UI 944-989 million; p < 0.001) ในปี ค.ศ. 2012 อัตราความชุกชี้ให้เห็นความแปรปรวนด้านอายุ เพศ และประเทศ โดยมีอัตราต่ำกว่า 5% สำหรับผู้หญิงในชาติแอฟริกันบางประเทศ และสูงกว่า 55% สำหรับผู้ชายในติมอร์-เลสเตและอินโดนีเซีย และจำนวนบุหรี่ต่อผู้สูบต่อวันยังแตกต่างกันมากตามประเทศและไม่สอดคล้องกับความชุก

นับจากปี ค.ศ. 1980 พบการลดลงอย่างชัดเจนของค่าประมาณความชุกการสูบบุหรี่ต่อวันทั้งในผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลก แต่เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกทำให้จำนวนผู้สูบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจากการที่ยาสูบยังคงเป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชากรโลก จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการเพื่อควบคุมยาสูบ