อุบัติการณ์ อาการ และปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดแดงสมองตีบตันในเด็ก
Lancet Neurol. 2014;13(1):35-43.
บทความเรื่อง Childhood Arterial Ischaemic Stroke Incidence, Presenting Features, and Risk Factors: A Prospective Population-Based Study รายงานว่า โรคหลอดเลือดสมองตีบตันเป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บทางสมองในเด็ก แต่ที่ผ่านมาข้อมูลโรคหลอดเลือดแดงสมองตีบตันในเด็กก็ยังมีการศึกษากันน้อย
นักวิจัยศึกษาระบาดวิทยาและอาการทางคลินิกของโรคหลอดเลือดแดงสมองตีบตันในเด็กจาก population-based cohort โดยศึกษาจากเด็กอายุ 29 วันถึงไม่เกิน 16 ปี ซึ่งตรวจพบหลอดเลือดแดงสมองตีบตันในระยะ 1 ปี (1 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 ถึง 30 มิถุนายน ค.ศ. 2009) และอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของอังกฤษ (สัดส่วนประชากรเด็ก 5.99 ล้านคน) การระบุผู้ป่วยอาศัยจากแหล่งข้อมูลหลายแห่ง (กุมารแพทย์ประสาทวิทยาและแพทย์ฝึกหัด, British Paediatric Neurology Surveillance Unit, กุมารแพทย์, รังสีแพทย์, นักกายภาพบำบัด, ประสาทศัลยแพทย์, พ่อแม่และเครือข่าย Paediatric Intensive Care Audit Network) นักวิจัยยืนยันผู้ป่วยตามการตรวจร่างกายและบันทึก รายละเอียดอาการ ปัจจัยเสี่ยง และการศึกษาปัจจัยเสี่ยงได้บันทึกโดยการวิเคราะห์บันทึกผู้ป่วย และวิเคราะห์ capture-recapture analysis เพื่อประเมินความครบถ้วนของการรายงาน
นักวิจัยพบผู้ป่วยหลอดเลือดแดงสมองตีบตัน 96 ราย อุบัติการณ์อย่างหยาบของโรคหลอดเลือดแดงสมองตีบตันในเด็กเท่ากับ 1.60/100,000/year (95% CI 1.30-1.96) ข้อมูลจาก capture-recapture analysis ชี้ว่าการรายงานผู้ป่วยมีความครบถ้วน 89% (95% CI 77-97) อุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดแดงสมองตีบตันมีระดับสูงสุดในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี (4.14/100,000/year, 95% CI 2.36-6.72) โดยไม่พบความแตกต่างด้านความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดแดงสมองตีบตันระหว่างเพศ (อุบัติการณ์อย่างหยาบเท่ากับ 1.60/100,000/year [95% CI 1.18-2.12] สำหรับเด็กผู้ชาย และ 1.61/100,000/year [1.18-2.14] สำหรับเด็กผู้หญิง) เด็กเชื้อสายเอเชีย (relative risk 2.14, 95% CI 1.11-3.85; p = 0.017) และแอฟริกัน (2.28, 1.00-4.60; p = 0.034) มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงสมองตีบตันสูงกว่าเด็กเชื้อสายยุโรป และเด็ก 82 ราย (85%) มี focal features (ส่วนใหญ่เป็น hemiparesis) โดยพบอาการชักบ่อยกว่าในเด็กเล็ก (≤ 1 ปี) ขณะที่พบอาการปวดหัวบ่อยกว่าในเด็กโต (> 5 ปี; p < 0.0001) ทั้งนี้นักวิจัยระบุปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงสมองตีบตันอย่างน้อยหนึ่งตัวได้จากผู้ป่วย 80 ราย (83%)
อายุและเชื้อชาติเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงสมองตีบตันในเด็ก แต่ไม่รวมถึงปัจจัยด้านเพศ ซึ่งการศึกษาความแตกต่างดังกล่าวอาจช่วยให้ทราบสาเหตุที่ชัดเจน