Cardiovascular Events จากการใช้ยาเลิกบุหรี่
Circulation. 2014;129:28-41.
บทความเรื่อง Cardiovascular Events Associated with Smoking Cessation Pharmacotherapies รายงานว่า การเลิกสูบบุหรี่ส่งผลดีนานัปการต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต และแม้การใช้ยาเลิกบุหรี่เป็นที่แนะนำกันเพื่อเพิ่มแนวโน้มของการเลิกบุหรี่ แต่ก็มีข้อวิตกว่าการเลิกบุหรี่ด้วยยาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในช่วงการอดบุหรี่ นักวิจัยจึงศึกษาว่าการรักษาอาการติดบุหรี่ด้วยนิโคตินทดแทน, bupropion และ varenicline สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่
นักวิจัยศึกษาแบบ network meta-analysis โดยรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ติดต่อกับผู้นิพนธ์ของการศึกษาเปรียบเทียบซึ่งรายงานผลลัพธ์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด และรายงานของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา งานวิจัยเปรียบเทียบที่นำมาศึกษาทั้ง 63 ชิ้นประกอบด้วยการศึกษาผลของนิโคตินทดแทน 21 ชิ้น ศึกษาผลของ bupropion 28 ชิ้น และศึกษาผลของ varenicline 18 ชิ้น ไม่พบความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมดจาก bupropion (relative risk [RR] 0.98; 95% confidence interval [CI] 0.54-1.73) หรือvarenicline (RR 1.30; 95% CI 0.79-2.23) ขณะที่พบความเสี่ยงสูงขึ้นโดยสัมพันธ์กับนิโคตินทดแทนอันเป็นผลจากเหตุการณ์ของโรคที่ไม่ร้ายแรง (RR 2.29; 95% CI 1.39-3.82) และเมื่อประเมิน major adverse cardiovascular events ก็ไม่พบผลลัพธ์ด้านการป้องกันจาก bupropion (RR 0.45; 95% CI 0.21-0.85) และไม่พบหลักฐานชัดเจนซึ่งบ่งชี้อันตรายจาก varenicline (RR 1.34; 95% CI 0.66-2.66) หรือนิโคตินทดแทน (RR 1.95; 95% CI 0.26-4.30)
ข้อมูลจากการศึกษาสรุปว่า การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ไม่น่าจะส่งผลให้ความเสี่ยงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น