ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตหนุ่มสาวยุคใหม่

ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตหนุ่มสาวยุคใหม่

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การดำเนินชีวิตของคนในสังคมเมืองมีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น ทำให้คนเรามองข้ามสุขภาพร่างกายของตัวเองไป พบว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของคนเมืองมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการทำงานคือ มีอิริยาบถในการทำงานไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน อาทิ การนั่งหลังค่อม การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ และยังส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขนหรือข้อมือ และสายตา นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคกระเพาะ เบาหวาน และความดัน เป็นต้น ส่วนอาการในด้านอารมณ์คือ หงุดหงิดง่าย เกรี้ยวกราดกับเพื่อนร่วมงาน ให้ความสนใจแต่เฉพาะเรื่องของการทำงานจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงานและครอบครัว ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวเบื้องต้นสามารถเริ่มรักษาได้ด้วยตนเอง โดยปรับพฤติกรรมลดความเครียดจากการทำงานให้มีความพอดีด้วยการใช้เวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน และควรมีการผ่อนคลายในระหว่างการทำงาน เพื่อลดระยะเวลาในการรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และถ้ามีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจะต้องเงยหน้าขึ้นมองออกไปไกล ๆ ทุก 20 นาที เพื่อบรรเทาความเมื่อยล้าของสายตา และควรหาต้นไม้ในร่มมาปลูกเพื่อช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาที่อ่อนล้า ห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงานโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศและส่งผลเสียต่อสุขภาพของตนเองและผู้ร่วมงาน หมั่นทำความสะอาดโต๊ะทำงานด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรค ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมในการทำงาน โดยเปิดหน้าต่างสำนักงานให้อากาศได้ระบายอย่างน้อยในตอนเช้าที่อากาศยังไม่ร้อนมาก และตอนพักกลางวันควรปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน