เผยผลการวิจัย พิสูจน์วัคซีนเอชพีวีคุ้มค่า

เผยผลการวิจัย พิสูจน์วัคซีนเอชพีวีคุ้มค่า

ทีมนักวิจัยจากภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการศึกษาใหม่ วัคซีนเอชพีวีมีประสิทธิภาพสูงในการลดการติดเชื้อจากไวรัสเอชพีวีและมะเร็งปากมดลูก มีคุณค่าและประโยชน์ในการนำวัคซีนเอชพีวีเข้าในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย

รศ.นพ.ธีรพงศ์ เจริญวิทย์ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสำหรับผู้หญิงไทย เพราะถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยสูงถึง 14 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันยังพบความเสี่ยงในผู้หญิงที่เป็นโรคดังกล่าวในช่วงอายุที่ลดลง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ในปัจจุบันที่มีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ประเทศไทยติดอันดับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นอันดับ 2 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย และกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ประเทศไทยต้องรับมือ

“การที่วัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นหรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ แม้โรคนี้จะสามารถป้องกันรักษาได้ แต่ปัญหาส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการมีคู่นอนหลายคน มาพบแพทย์เมื่อมีอาการอยู่ในระยะที่ลุกลาม โดยอาการส่วนใหญ่ที่พบคือ ตกขาวและมีเลือดออก ซึ่งผู้หญิงมักจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติจึงนิ่งนอนใจ และไม่ได้มาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ”

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิทยาการความก้าวหน้าทางการแพทย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำวัคซีนเอชพีวีมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ โดยในปัจจุบันมีการใช้วัคซีนเอชพีวีใน 128 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้มี 58 ประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศมาเลเซีย ประเทศภูฏาน ประเทศลาว ที่รัฐบาลได้บรรจุวัคซีนเอชพีวีเป็นวัคซีนพื้นฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนทุกคนในประเทศว่ามีสิทธิเข้าถึงวัคซีนนี้ได้ แต่การจะนำวัคซีนมาใช้เป็นวัคซีนพื้นฐานจะต้องอาศัยข้อมูลการศึกษามาใช้ประกอบการตัดสินใจ การศึกษาที่สำคัญที่สุดคือ การใช้ข้อมูลในประเทศเพื่อดูความคุ้มค่าของวัคซีน

นพ.นิพนธ์ เขมะเพชร อาจารย์สาขามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งในประเทศไทยพบค่อนข้างสูง ที่พบมากที่สุดในปัจจุบันคือ มะเร็งเต้านม รองลงมาคือ มะเร็งปากมดลูก จากในอดีตจะพบมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับ 1 แต่เนื่องจากมีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังให้ผู้หญิงไทยมีการตรวจคัดกรอง และฉีดวัคซีนป้องกันจึงทำให้อุบัติการณ์มะเร็งปากมดลูกลดลงเป็นอันดับ 2 และในอนาคตได้มีความพยายามให้อุบัติการณ์ลดลงเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

“มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งสามารถป้องกันได้ เพราะโดยส่วนใหญ่ร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้เอง หากร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานที่ดี แต่มีส่วนหนึ่งซึ่งเชื้อไม่ถูกกำจัด ยังคงอยู่ในตัวเรา และพัฒนาเซลล์ให้ผิดปกติจนกระทั่งเป็นมะเร็ง ซึ่งการตรวจคัดกรองจะช่วยไม่ให้เซลล์เกิดการพัฒนาเป็นมะเร็ง เพราะเมื่อพบและรีบรักษาก็สามารถหายขาดได้ แต่สำหรับวัคซีนเอชพีวีมีความสามารถที่จะป้องกันได้ตั้งแต่แรก เพราะจะไม่เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น จึงไม่มีการพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง”

ทั้งนี้หลังจากมีการใช้วัคซีนเอชพีวี อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกได้ลดลง ในปีนี้เป็นปีแรกที่มีข้อมูลแสดงว่ามะเร็งปากมดลูกลดลงอย่างเห็นได้ชัดในประเทศสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่มีการนำวัคซีนเข้ามาใช้ในปี พ.ศ. 2549 โดยกลุ่มที่มีการลดลงของจำนวนผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัดคือ ผู้หญิงในช่วงอายุ 21-24 ปี ที่อุบัติการณ์ลดลงจาก 834 ราย เป็น 688 รายต่อประชากร 100,000 คน เช่นเดียวกับที่พบในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการลดลงของโรคหูดหงอนไก่ในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 21 ปี ถึง 60% ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2554 และยังพบการลดลงของความผิดปกติของปากมดลูกชนิด high grade ในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึง 47.5% (อุบัติการณ์ลดลงจาก 0.80% เป็น 0.42%) ภายในระยะเวลา 3 ปี

ด้าน อาจารย์ปิยลัมพร หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถิติสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ผลจากการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขแสดงให้เห็นว่า การบรรจุวัคซีนเอชพีวีเข้าในโปรแกรมการตรวจคัดกรองและป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่มีในปัจจุบันมีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับระดับความคุ้มค่าภายใต้บริบทของประเทศไทย วัคซีนเอชพีวีสามารถลดทั้งภาระโรคและค่าใช้จ่ายจากโรคที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี โดยข้อมูลที่ได้นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายในการนำวัคซีนเอชพีวีบรรจุเข้าในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าสาขามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมใหม่ใดก็ตามที่จะนำเข้ามาใช้กับคนไทยต้องทำการประเมินดูก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นนวัตกรรมใหม่ย่อมจะมีราคาสูง ดังนั้น ถ้าประเทศลงทุนกับนวัตกรรมนั้น ๆ จะมีความคุ้มค่าหรือไม่จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา เนื่องจากไม่สามารถใช้ตัวเลขของต่างประเทศที่บอกว่าคุ้มหรือไม่คุ้มมาใช้กับประเทศไทยได้

จากผลการวิจัยเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการประเมินต้นทุน-อรรถประโยชน์ของการใช้วัคซีนเอชพีวี (prophylactic HPV vaccine) โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์ต้นทุนทางการแพทย์ในบริบทของประเทศไทย เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการใช้วัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ซึ่งการประเมินความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการใช้วัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกในครั้งนั้น ได้นำการคำนวณ “แบบจำลองมาร์คอฟ” (Markov Model) มาประยุกต์ใช้ เพื่อประเมินความคุ้มค่าของการใช้วัคซีนเอชพีวีในประเทศไทย โดยจะประเมินจากปัจจัยและข้อมูลของประเทศไทยเองที่หลากหลายทั้งด้านคลินิก เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อหาผลลัพธ์ความคุ้มค่าของการใช้วัคซีนเอชพีวี

การประเมินความคุ้มค่านี้ แบ่งกลุ่มการประเมินออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มอายุ 12 ปี ซึ่งยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยจะได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่แต่งงานมีเพศสัมพันธ์แล้ว และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวี เข้ารับการตรวจคัดกรองบ้างแต่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนนั้น ในเบื้องต้นจะต้องลงทุนเรื่องค่าใช้จ่ายวัคซีน แต่อีกกลุ่มนั้นแม้ไม่ได้ลงทุนไปในเบื้องต้น แต่กลับพบว่ามีค่าใช้จ่ายตามมามากมายจากการรักษามะเร็งปากมดลูกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ผลการวิจัยพบว่า ถ้าให้วัคซีนเอชพีวีแก่เด็กหญิงอายุ 12 ปีทุกคน ถึงแม้ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น แต่สามารถลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ภาวะปากมดลูกมีเซลล์ผิดปกติก่อนเป็นมะเร็งได้ประมาณครึ่งหนึ่ง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกลงได้ประมาณ 55% นอกจากนี้หากใช้หลักเกณฑ์ซึ่งแนะนำโดย The Commission on Macro-Economic and Health ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การอนามัยโลกที่ว่าด้วยเกณฑ์การตัดสินใจเรื่องค่าเพดานความคุ้มค่าสำหรับประเทศกำลังพัฒนานั้น พบว่าหากต้นทุนต่อความคุ้มค่ามีผลลัพธ์อยู่ที่ไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ต่อหัวประชาชาติ (GDP) แสดงว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อหัวประชาชาติของไทยประมาณ 130,000 บาท พบว่าการใช้วัคซีนเอชพีวีมีต้นทุนต่อความคุ้มค่าอยู่ที่ 1 เท่ากว่า ๆ ของรายได้ต่อหัวประชาชาติ ดังนั้น ผลการศึกษาที่ได้ในครั้งนี้ก็มีความสอดคล้องกับค่าเพดานความคุ้มค่าขั้นต่ำที่ใช้ในปัจจุบัน จึงสรุปได้ว่าวัคซีนเอชพีวีมีแนวโน้มถึงความคุ้มค่าในการนำมาป้องกันมะเร็งปากมดลูก

รศ.นพ.วิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดถือเป็นโอกาสอันดีที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอข้อมูลงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการนำวัคซีนเอชพีวีมาใช้ในประเทศไทย โดยการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบในระยะยาวต่อผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจากการบรรจุวัคซีนเอชพีวีในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยเริ่มฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กหญิงที่เรียนอยู่ชั้น ป.5 (อายุ 11-12 ปี) และเพื่อประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ (cost-effectiveness evaluation) ของการฉีดวัคซีนเอชพีวี เปรียบเทียบกับcurrent practice ในมุมมองของผู้จ่ายเงิน (payer perspective) โดยสรุป พบว่าการฉีดวัคซีนเอชพีวีสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถป้องกันการสูญเสียงบประมาณในการรักษาโรคอีกด้วย

ผศ.ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การลดมะเร็งปากมดลูกทำได้ด้วยการตรวจคัดกรองร่วมกับการฉีดวัคซีน สำหรับการตรวจคัดกรองนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว เจอเชื้อเร็วเท่าไหร่ก็รักษาให้หายขาดได้เร็วเท่านั้น แต่ประเด็นคือ ปัจจุบันโลกเรามีวิทยาการที่ก้าวหน้าแล้ว เรามีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีแล้ว ไม่ต้องรอให้ติดเชื้อก่อน แล้วไปพยายามรักษาเอาตอนที่คัดกรองเจอ ทำไมไม่ป้องกันก่อน วัคซีนนี้ทำมาจากเปลือกไวรัส ไม่มีอันตราย แต่ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้ แท้จริงแล้วเป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐานตามข้อตกลง ICPD (International Conference on Population and Development Programme of Action) ด้วยซ้ำ หมายถึงว่า หากมีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้หญิงดีขึ้น รัฐบาลก็ต้องจัดสรรให้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพราะทราบมาว่าประเทศภูฏาน มาเลเซีย และเร็ว ๆ นี้คือประเทศลาว ได้มีวัคซีนเอชพีวีใช้ในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไปหมดแล้ว”

สำหรับมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยมีอุบัติการณ์ของผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละปีเป็น 24.7 คนต่อผู้หญิง 100,000 คน และเสียชีวิตเฉลี่ยถึง 14 คนต่อวัน มีข้อมูลแสดงให้เห็นว่า การเกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทยมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ไวรัสเอชพีวีบางสายพันธุ์ทำให้ผู้หญิงที่ติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากตัวโรค และต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายแสง หรือให้เคมีบำบัด ตลอดจนประเทศต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี นอกจากนี้ไวรัสเอชพีวียังเป็นสาเหตุของโรคของอวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ เช่น มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก รวมทั้งโรคหูดหงอนไก่ การฉีดวัคซีนเอชพีวีจะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีและโรคต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากไวรัสดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี การศึกษาความคุ้มค่าเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งในการช่วยตัดสินใจว่าจะใช้มาตรการอย่างไรที่เหมาะสมในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกซึ่งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ แต่สำหรับประชาชนยังต้องเน้นย้ำว่าการป้องกันยังมีหลายวิธี โดยวัคซีนเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่มีผลต่อการตัดสินใจ ส่วนการตัดสินใจนั้นคงจะต้องเป็นเรื่องของนโยบายต่อไป