บาดแผลกระสุนปืน: ฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่า
Gun Shot Wound: Suicide Or Murder
นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*
*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การตายจากบาดแผลกระสุนปืนลูกโดด (pistol) ในประเทศไทยนับว่าเป็นการตายที่ถือว่าพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ยังพบได้อยู่เนือง ๆ ทั้งนี้เพราะอาวุธปืนในประเทศไทยนั้นหาได้ง่ายและมีราคาถูก อีกทั้งรอบประเทศไทยยังมีการสู้รบทั้งจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น ในภาคใต้ของประเทศไทยและชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า เป็นต้น ทำให้อาวุธต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธธรรมดาหรืออาวุธสงครามถูกนำเข้ามาในประเทศไทยอย่างมากและจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา และเมื่อเป็นเช่นนี้อาวุธดังกล่าวจึงอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด (ฆ่าคน)1 และ/หรืออาจเกิดเหตุร้ายต่าง ๆ โดยอาวุธปืนอย่างง่ายดายและเป็นปัญหาทางสังคมในปัจจุบันนี้ (ฆ่าตัวตาย) เพราะเหตุแห่งภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้น การแพทย์ต้องเกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพรวมถึงบาดแผลกระสุนปืน จึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
……………...แพทย์จำต้องระลึกไว้เสมอว่า “การตายเนื่องจากบาดแผลอาวุธปืนอาจเป็นการตายจากพฤติการณ์ที่ตายได้ทั้ง “ฆ่าตัวตาย” “ถูกผู้อื่นฆ่าตาย” หรือ “อุบัติเหตุ” ได้เสมอ ดังนั้น เมื่อแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพจึงต้องตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว และ “จำเป็นต้อง” ดำเนินการ……. ส่งศพมาเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด
อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตายที่ถูกส่งมาให้ตรวจ 1 ราย)
1. มูลกรณีที่เกิดขึ้นคือ ผู้ตายถูกบาดแผลอาวุธปืนที่ศีรษะและถูกส่งมาที่โรงพยาบาล น. แพทย์ได้ทำการตรวจแล้วพบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว จึงได้แจ้งไปยังสถานีตำรวจภูธร น. ภายหลังจากได้ทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์โรงพยาบาล น. แล้ว แต่ยังไม่สามารถออกรายงานสาเหตุแห่งการเสียชีวิตได้ จึงส่งตัวมารับการตรวจต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ดังนี้ (ภาพที่ 1 และภาพที่ 2)
“วันที่ 4 ธันวาคม เวลาประมาณ 16.30 น.เศษ พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากโรงพยาบาล น. ว่า นาย ย. อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 226 จังหวัดนครปฐม ได้ใช้อาวุธปืนขนาด .38 ยิ่งตัวเองเสียชีวิต ขอให้ออกไปทำการชันสูตรพลิกศพ จึงได้เดินทางไปตรวจชันสูตรที่โรงพยาบาล น. โดยทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์หญิง ก. แพทย์เวรโรงพยาบาล น. แล้ว แต่ไม่สามารถออกรายงานสาเหตุการเสียชีวิตของ นาย ย. ได้ จึงส่งศพมารับการตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตาย ………..ฯลฯ”
2. ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (โรงพยาบาลศิริราช) ได้รับศพดังกล่าวจากการส่งมาโดยพนักงานสอบสวนเพื่อการตรวจต่อตามอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายตามมาตรา 1512
3. ณ ภาควิชานิติเวชศาสตร์โดยแพทย์ผู้มีอำนาจและหน้าที่ได้ทำการตรวจศพที่ถูกส่งมาดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 1522
วิเคราะห์และวิจารณ์
ประการที่ 1: เมื่อแพทย์พบผู้ตาย แพทย์ต้องแยกเสียก่อนว่าเป็นการตายประเภทใด
ประการสำคัญที่สุดสำหรับแพทย์เมื่อพบว่ามีการตายเกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ในเวชปฏิบัติก็คือ แพทย์จะต้องระลึกถึง “ประเภทของการตายเป็นอันดับแรก” ในที่นี้คือ “เป็นการตายตามธรรมชาติหรือการตายผิดธรรมชาติ” เพราะการจัดการเกี่ยวกับศพทั้ง 2 ประเภทนี้ไม่เหมือนกัน กล่าวโดยย่อคือ
1. การตายตามธรรมชาติ แพทย์สามารถออกหนังสือรับรองการตายให้กับญาติของผู้ตายหรือผู้มีอำนาจเพื่อดำเนินการทำมรณบัตร พร้อมทั้งมอบศพให้แก่ญาติหรือผู้มีอำนาจดังกล่าวได้ทันที อีกทั้งหากจะมีการดำเนินการประการหนึ่งประการใดกับศพแล้ว เช่น การขอตรวจหรือผ่าศพตรวจ แพทย์จำต้องขออนุญาตจากทายาทหรือผู้มีอำนาจนั้น ๆ เสียก่อนเสมอ
2. การตายผิดธรรมชาติ แพทย์จำเป็นจะต้อง “รีบแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจรับผิดชอบในเขตสถานพยาบาลดังกล่าวตั้งอยู่” เพื่อจัดให้มีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป (มาตรา 148 และมาตรา 150)2 คือการชันสูตรพลิกศพ
ประการที่ 2: การตายจากบาดแผลกระสุนปืน
การตายจากบาดแผลกระสุนปืนทุกกรณีแพทย์จะต้องถือว่า “เป็นการตายผิดธรรมชาติทั้งหมด” หมายถึงจำเป็นต้องทำการชันสูตรพลิกศพ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 148 นั่นเอง2
“มาตรา 148 เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย
การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ
(๑) ฆ่าตัวตาย
(๒) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
(๓) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
(๔) ตายโดยอุบัติเหตุ
(๕) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ”
ประการที่ 3: แพทย์ไม่อาจลงความเห็นถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตายได้
จากอุทาหรณ์ดังกล่าวข้างต้น นับว่าเป็นความ “เฉลียวฉลาดของแพทย์ที่เข้าร่วมทำการชันสูตรพลิกศพ” เป็นอย่างมาก ที่ให้รายละเอียดกับพนักงานสอบสวนในการชันสูตรพลิกศพว่า “ไม่สามารถออกรายงานสาเหตุการเสียชีวิตของนาย …….. ได้ ขอส่งศพมาทำการตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตาย” จึงนับว่าแพทย์ดังกล่าวมีความรอบรู้ถึง “การประกอบวิชาชีพเวชกรรมทางด้านนิติเวชศาสตร์” อย่างมาก ทั้งนี้เพราะ
1. การที่แพทย์ได้ออกไปร่วมชันสูตรพลิกศพ ได้พบเห็นสภาพศพ ตำแหน่ง ลักษณะการนอนของศพ อาวุธ ร่องรอยอื่น ๆ รวมถึงสภาพแวดล้อม ฯลฯ แล้ว จึงได้ทำการชันสูตรพลิกศพ และแน่นอนที่สุดได้ทำ “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” พร้อมกับพนักงานสอบสวนแล้ว
2. แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพได้แจ้งกับพนักงานสอบสวนว่า “ยังไม่สามารถหาสาเหตุการตายได้” จำเป็นต้องนำศพมารับการตรวจต่อ (มาตรา 151 และ 152)2 (ภาพที่ 1 และภาพที่ 2)
3. ณ ที่ชันสูตรพลิกศพ ขณะที่แพทย์ท่านนี้ได้ทำการชันสูตรพลิกศพย่อมต้องเผชิญกับ
ก. พนักงานสอบสวน
ข. ญาติของผู้ตาย
ค. ผู้อื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าชุมชน นายก อบต. ฯลฯ
โดยบุคคลเหล่านั้น (อาจ) มีการบอก (เสนอแนะ) กับแพทย์ (รุมล้อม แจ้ง คะยั้นคะยอ บีบบังคับ ฯลฯ) เพื่อให้แพทย์ได้ออกหนังสือรับรองการตายหรือใบรับแจ้งการตาย {ทร.4/1 หรือ ทร.4 ตอนหน้า “หน้าหลัง” (ข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายโดยแพทย์)} ให้แก่พนักงานสอบสวน เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินการให้กับญาติเพื่อทำมรณบัตร (ทร.4)3 ต่อไป โดยสถานการณ์ของแพทย์ ณ ที่นั้นนับว่าแพทย์ท่านนี้มี “วิจารณญาณ” หรือ “ความสามารถ” ซึ่งน่าจะเป็นความรอบรู้หรือประสบการณ์ในการชันสูตรพลิกศพ “บาดแผลจากอาวุธปืน” มาบ้างแล้ว และเล็งเห็นหรือเข้าใจถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการชันสูตรพลิกศพในรายที่ถูกบาดแผลอาวุธปืนดังกล่าว (น่าชื่นชมแพทย์) จึงทำให้แจ้งกับพนักงานสอบสวนให้ “นำส่งศพมาเพื่อทำการตรวจศพต่ออย่างละเอียด” ต่อไป และพนักงานสอบสวนได้ทำการส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อที่โรงพยาบาลศิริราช (ภาพที่ 1 และภาพที่ 2)
ประการที่ 4: ข้อสันนิษฐานหรือวิจารณญาณของแพทย์มีมูล
จากวิจารณญาณหรืออาจเป็นประสบการณ์ในการชันสูตรพลิกศพ หรืออาจเป็น “ลางสังหรณ์” ของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพประการใดก็ตามให้เห็นถึงความจำเป็นในการต้อง “ส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ” และอาจถือได้ว่า “เป็นความจริง” หรือ “เกิดประโยชน์ต่อแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ” อย่างแท้จริงด้วย ทั้งนี้เพราะเมื่อทำการตรวจศพดูแล้ว
1. การตรวจสภาพศพภายนอก (ภาพที่ 3 และภาพที่ 4)
1.1 เห็นเช่นเดียวกับแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ แต่แพทย์ผู้ทำการผ่าศพตรวจ (มาตรา 152) จะมีพยานหลักฐานประกอบน้อยกว่าแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมาก โดยเฉพาะในประการที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของศพ เช่น ตำแหน่งของปืน การกระเด็น (กระเซ็นซ่าน) ของเลือดหรือเนื้อเยื่อ สภาพของสิ่งของและการกระจายของสิ่งของต่าง ๆ อันอาจแสดงถึงการต่อสู้ อาหารและน้ำดื่มที่อาจเป็นที่น่าสงสัย
1.2 ต้องเป็นบาดแผลจากกระสุนปืนลูกโดดเท่านั้น จากสภาพแห่งรูที่เข้า และบาดแผลที่หนังศีรษะที่อยู่รอบ ๆ รูที่เข้า
2. การตรวจสภาพศพภายใน
2.1 เมื่อได้ทำการตรวจศพอย่างละเอียด เห็นได้ชัดว่า
ก.บาดแผลทางเข้าย่อมต้องเป็นที่ขมับขวา ทั้งนี้จากสภาพของบาดแผลที่กะโหลกด้านขวามีลักษณะกลม และแตกเข้าหรือ “แบะเข้า” (bevealing inwards) (ภาพที่ 5 และภาพที่ 6)
ข. ต้องเป็นบาดแผลใกล้ (near, close) มิใช่ประชิดหรือติด (contact) ค. บาดแผลที่ขมับขวาต้องเป็นบาดแผลทางออกของกระสุนปืนอย่างแน่นอน ตามหลักการแตกออก หรือ “แบะออก” (bevealing outwards) (ภาพที่ 7 และภาพที่ 8)
2.2 ทิศทางของบาดแผลกระสุนปืนจะต้องมีทิศทางจากขมับขวา ผ่านในโพรงกะโหลก (เนื้อสมอง) มาออกทางด้านขมับซ้าย
2.3 ด้วยแรงดันของกระสุนปืน (temporary cavity)4 ทำให้เกิดแรงอัดต่อโพรงกะโหลกศีรษะ เป็นเหตุให้เกิดการแตกของกะโหลกศีรษะ (ภาพที่ 9)
หมายเหตุ:
ก. บาดแผลกระสุนปืนที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะไม่พบว่ามีบาดแผลอย่างประชิดเป็นรูปดาว (star-shaped wound) ก็ตาม แต่อาจเกิดเนื่องจากการที่ผ่านตัวกลางได้ เช่น หมอนหรือผ้ารอง
ประการที่ 5: ประเด็นวิเคราะห์บาดแผลฟกช้ำที่ใต้หนังศีรษะด้านขวาเกิดจากอะไร (ภาพที่ 9)
เมื่อประมวลสภาพแห่งการตรวจพบจากศพแล้วจะพบว่ามีบาดแผลดังนี้
1. บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบรูปค่อนกลมที่ขมับขวา (ภาพที่ 3) และเมื่อดูลึกต่อไปถึงกระดูกพบว่ามีกะโหลกศีรษะด้านขวาแตกเป็นรูปกลม (เกือบกลมอย่างสมบูรณ์) (ภาพที่ 5) เมื่อตรวจต่อจากรูรูปกลมดังกล่าวพบว่ามีการแตกแบะเข้า (bevealing inwards) อย่างชัดเจน แสดงถึงเป็นบาดแผลทางเข้าของกระสุนปืนแน่นอน
2. บาดแผลฉีกขาดที่ขมับซ้ายมีลักษณะฉีกขาดขอบไม่เรียบและมีเนื้อเยื่อปลิ้นออกมา (ภาพที่ 6 และ 7) อีกทั้งเมื่อตรวจลึกลงถึงกะโหลกศีรษะพบว่า มีการแตกปลิ้นออก (bevealing outwards) อย่างชัดเจน แสดงว่าต้องเป็นแผลทางออก
ประเด็นที่เกิดปัญหา คือ มีรอยช้ำที่หนังศีรษะบริเวณกระหม่อมและหนังศีรษะส่วนบนด้านขวาเป็นบริเวณกว้างประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร เป็นลักษณะของบาดแผลเกิดก่อนตายอย่างชัดเจนนี้ “เกิดขึ้นได้อย่างไร”
ก. เกิดจากการที่ศีรษะกระแทกกับของแข็งหลังถูกกระสุนปืน
วิเคราะห์: เมื่อยิงตัวตายแล้วล้มลงทำให้ศีรษะบริเวณดังกล่าวฟาดกับพื้นในขณะที่ยังไม่ตายอย่างสมบูรณ์จึงเกิดปฏิกิริยา (anti-mortem wound) ได้
ข. เป็นแผลที่เกิดก่อนตาย (anti-mortem wound)
วิเคราะห์: เกิดจากมีแรงมากระทำที่ศีรษะ เช่น การที่ถูกตีที่ศีรษะก่อนแล้วบาดแผลกระสุนปืนเกิดขึ้นตามมา (ต่อมา)
วิเคราะห์ (ต่อ): หากเป็นเช่นนี้จริงแสดงว่าผู้ตายรายนี้ “ถูกฆาตกรรม” กรณีเช่นเดียวกับในคดีนักการเมืองชื่อดัง (ห้างทอง) ซึ่งในระยะแรกที่มีหลักฐานว่ามีบาดแผลช้ำที่ศีรษะส่วนบนและกะโหลกส่วนบนแตกจากถูกกระทำ (ทำร้าย) ก่อนที่จะเกิดบาดแผลกระสุนปืนที่ขมับขวา ลักษณะอาจคล้ายกับผู้ตายรายนี้
ค. เกิดจากแรงอัดหรือแรงดันของแก๊สส่วนนำหัวกระสุนปืน (temporary cavity)
วิเคราะห์: หากเป็นเช่นนี้จริง แผลดังกล่าวน่าจะมีรอยช้ำต่อเนื่องจากบาดแผลกระสุนปืน เพราะแรงดันดังกล่าวเป็นแรงดันที่เกิดจากปากกระบอกปืนจึงต้องต่อเนื่องจากบาดแผลทางเข้าของกระสุนปืนที่ขมับขวา แต่ในกรณีตามอุทาหรณ์กลับไม่พบถึงความต่อเนื่องของรอยช้ำหรือเลือดออก (discontinuation) จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดจากการยิงจากบาดแผลกระสุนปืนโดยตรง หากจะเป็นไปได้อาจเกิดจากการที่แรงดันภายในดันออกมาแล้วทำให้เกิดสภาพแห่งเลือดออกดังกล่าว
หมายเหตุ:
ประเด็นน่าสงสัยเกิดขึ้นคล้ายกับในคดีดัง “คดีห้างทอง” อย่างแท้จริง ในคดีดังตามที่กล่าว คือ “คดีห้างทอง” เกิดกรณีแห่งความสงสัยขึ้นว่า เป็นการตายที่เกิดขึ้นจาก “การฆ่าตัวตายหรือถูกผู้อื่นฆ่าตาย” ทั้งนี้พิจารณาจาก 1. พยานแวดล้อม ณ ที่เกิดเหตุ 2. พยานหลักฐานในที่นี้คือ “พยานวัตถุ” เท่านั้น เพราะไม่อาจพึ่งพยานบุคคลและพยานเอกสารได้ และพยานวัตถุในความหมายของคำว่า “พยานหลักฐาน” ที่สำคัญ (ในที่นี้คือ พยานหลักฐานที่เป็นวัตถุพยานเฉพาะที่ได้จากศพเท่านั้น) ก็คือ “บาดแผลที่พบบนตัวศพ” และวัตถุพยานข้างตัวศพหรือที่ติดมากับศพ ว่าน่าจะเป็น ก. ทางเข้าของกระสุนปืน ข. ทางออกของกระสุนปืน ค. รอยช้ำที่หนังศีรษะ (บริเวณ vertex) ง. รอยช้ำที่ต้นขาส่วนหลังทั้งสองข้าง จ. รอยแตกแนวหน้าหลังของกะโหลกศีรษะส่วนบน (parietal bone) ฉ. รอยแตกร้าวของกะโหลกจากขมับขวา (เชื่อว่าจากกระสุนปืน) วิ่งไปชนกะโหลกที่แตกอยู่แล้วที่ส่วนบน (stoped sign หรือ mirror sign phenomenon)
ประการที่ 6: การตระหนักของแพทย์ในเรื่องการตายกับบาดแผลกระสุนปืน
เมื่อแพทย์ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับเจ้าพนักงานอื่น (2 หรือ 4 ฝ่ายแล้วแต่กรณี) แพทย์ย่อมต้องตระหนักถึงบาดแผลจากอาวุธปืนไว้อย่างมาก และจำต้องคิดอยู่ในใจเสมอว่า การตายนั้นอาจ :-
1. มิใช่ตายจากบาดแผลกระสุนปืน คืออาจถูกทำให้ตายก่อนแล้วมายิงเป็นการจัดฉากว่าเป็นการตายจากบาดแผลกระสุนปืน เช่น ถูกวางยาให้ตายแล้วมายิงซ้ำหรือถูกวางยาไม่ตายแล้วมายิงซ้ำ (จับมือผู้ตายยิง)
2. เป็นการตายจากบาดแผลกระสุนปืน แต่
ก. อาจเป็นการยิงตัวเอง
ข. อาจเป็นการถูกผู้อื่นยิง ซึ่งการถูกผู้อื่นยิงอาจแบ่งได้เป็น
1) ถูกผู้อื่นยิงโดยตรง
2) ถูกผู้อื่นจับมือผู้ตายให้เหนี่ยวไกโดยผู้ตายไม่อาจขัดขืนได้ เพราะความเป็นผู้อ่อนแอ อ่อนเยาว์ หรืออยู่ในสภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้ (เช่น ถูกวางยานอนหลับ)
ประการที่ 7: การตายจากบาดแผลอาวุธปืนทุกกรณีต้องส่งศพมารับการตรวจต่อ
แพทย์จำต้องระลึกไว้เสมอว่า “การตายเนื่องจากบาดแผลอาวุธปืนอาจเป็นการตายจากพฤติการณ์ที่ตายได้ทั้ง “ฆ่าตัวตาย” “ถูกผู้อื่นฆ่าตาย” หรือ “อุบัติเหตุ” ดังนั้น เมื่อแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพจึงต้องตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวและ “จำเป็นต้อง” ดำเนินการ (ตามมาตรฐานทางนิติเวชศาสตร์)5,6,7 โดยปฏิบัติดังนี้
1. ส่งศพมาเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด
2. การตรวจศพ “ต้อง” ส่งตรวจเลือด ปัสสาวะ (อาจมีน้ำหลั่ง) และของเหลวในกระเพาะอาหาร
3. จำเป็นต้องตรวจหาเขม่าที่
ก. มือทั้งสองข้าง โดยอย่างน้อยต้องแยกเป็น หลังมือและอุ้งมือทั้งด้านซ้ายและขวา (รวม 4 ตำแหน่ง หรือมากกว่า)
ข. ที่ตำแหน่งบาดแผล (รอบ ๆ) ทั้งที่สงสัยว่าจะเป็นทางเข้าหรือทางออก และ/หรือบาดแผลที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนนั้น
4. ก่อนการผ่าศพ (หากทำได้) แพทย์ต้องส่งตรวจทางรังสี (X Rays) ที่ตำแหน่งบาดแผลและทิศทางที่คาดว่าจะเป็นทิศทางที่บาดแผลกระสุนปืนผ่าน หากไม่ทราบอาจจำเป็นต้องทำการตรวจทั้งร่างกาย
5. หากพบวัตถุแปลกปลอม เช่น โลหะ จำต้องเก็บ ทำการระบุ (labels) และอาจถ่ายภาพไว้ เพื่อส่งเป็นวัตถุพยานให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดำเนินการต่อไป
หมายเหตุ:
การที่แพทย์จะให้มีการส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อนั้น แพทย์เองไม่มีอำนาจอย่างแท้จริงในการ “สั่ง” ให้มีการจัดส่ง ทั้งนี้เพราะ “แพทย์เป็นเพียงเจ้าพนักงานผู้ร่วมในการชันสูตรพลิกศพ” เท่านั้น มิใช่หัวหน้าคณะในการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย แพทย์จึงจำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ที่มีอำนาจในการชันสูตรพลิกศพอย่างแท้จริงซึ่งก็คือ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ (แล้วแต่กรณี) ให้ส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่ออย่างละเอียดตามกฎหมายด้วย
สรุป
การที่แพทย์ต้องมีส่วนร่วมในการชันสูตรพลิกศพในฐานะ “เจ้าพนักงาน” ตามกฎหมายนั้น หากเป็นการชันสูตรพลิกศพที่แจ้งว่าเป็นการตายจาก “บาดแผลอาวุธปืน ระเบิด หรือวัตถุสงคราม” หรือแพทย์เห็นเองหรือสงสัยว่าจะเป็นการตายจากบาดแผลกระสุนปืน แพทย์จำต้องตระหนักถึง “ความละเอียดอ่อน” ในเรื่องการตายไว้อย่างมาก และสิ่งที่แพทย์ “จะต้องทำ” (ยึดเป็นหลัก) ก็คือ ภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพแล้ว แพทย์จำเป็นอย่างยิ่งต้องแจ้งให้พนักงานผู้มีอำนาจโดยตรงอย่างเต็มที่ (พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี) ส่งศพมาทำการตรวจต่ออย่างละเอียด (ทุกราย) ดังจะเห็นได้จากอุทาหรณ์ที่กล่าวถึง แม้จะมีการตรวจศพอย่างละเอียดโดยแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ที่ถือว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจศพแล้วก็ยังเกิดกรณีสงสัยถึงพฤติการณ์ที่ตายได้
เอกสารอ้างอิง
1. ประมวลกฎหมายอาญา. http://legal-informatics.org/file/3.pdf
2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf
3. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108/ตอนที่ 203/ฉบับพิเศษ หน้า 97/22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534.
4. Vincent J. M. Di Maio. Gunshot Wounds: How a high-speed bullet damages an organ. CRC Press, Boca Raton, FL, 1985.
5. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.
6. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.
7. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.