Antibiotics Smart Use (ASU) ร.พ.ศิริราช ส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล

Antibiotics Smart Use (ASU) ..ศิริราช ส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล

การดื้อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และเป็นปัญหาระดับโลกที่องค์การอนามัยโลกให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ปัจจัยสำคัญที่ชักนำให้เชื้อดื้อยาคือ การใช้ยาต้านจุลชีพมากเกินความจำเป็นอย่างไม่เหมาะสม ทั้งการใช้ยาต้านจุลชีพในผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน คลินิก และร้านยา

จากผลการวิจัยล่าสุดระบุว่า การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยส่งผลกระทบด้านสุขภาพ โดยในแต่ละปีพบคนไทยติดเชื้อดื้อยามากกว่า 100,000 คน เสียชีวิตเนื่องด้วยสาเหตุแห่งการดื้อยามากกว่า 30,000 คน เฉลี่ย 100 คนต่อวัน ถือเป็นวิกฤติทางสุขภาพที่ต้องเร่งควบคุมและป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลถึงร้อยละ 30-90 ไม่เพียงเท่านั้น เชื้อดื้อยายังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศต้องสูญเสียมูลค่ายาต้านจุลชีพรักษาเชื้อดื้อยามากถึง 6,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการจัดทำโครงการ Antibiotics Smart Use (ASU) โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การอนามัยโลก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีแนวคิดสำคัญ คือ “No antibiotics for non-bacterial infection” ซึ่งเน้นการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในผู้ป่วยนอก 3 โรคได้แก่ โรคหวัด อุจจาระร่วงเฉียบพลัน และแผลสดจากอุบัติเหตุ โดยดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และร้านยาในเครือข่าย

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้นำแนวคิดในการทำโครงการ ASU มาใช้ในโรงเรียนแพทย์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดย นพ.อธิรัฐ บุญญาศิริ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะ ได้ทำการวิจัย R2R เรื่อง Antibiotics Smart Use (ASU) ที่โรงพยาบาลศิริราช” เพื่อส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในโรงเรียนแพทย์

 

ระเบียบวิธีวิจัย

1. ข้อมูลการใช้ยาต้านจุลชีพของโรคหวัด อุจจาระร่วง และแผลสด เดือนมิถุนายน-ตุลาคม พ.ศ. 2554 คือร้อยละ 69-74, ร้อยละ 51-85 และร้อยละ 87 ซึ่งสูงกว่าอัตราการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลที่ควร < ร้อยละ 10

2. นำเสนอข้อมูลแก่ผู้บริหารโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งอนุมัติให้ทำโครงการ ASU

3. ประชุมผู้เกี่ยวข้อง วางแผนการดำเนินงาน และพิจารณาสื่อที่จะใช้ในการดำเนินงาน โดยความเห็นชอบสื่อของโรคหวัดและอุจาระร่วง ส่วนสื่อของโรคแผลสดต้องมีการวิจัย

4. อบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องและการรักษาโรคหวัดและอุจจาระร่วงระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2555 โดยติดตามผลการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายวันที่ 3 หลังรักษา และแจ้งผลผู้เกี่ยวข้องทุก 1 เดือน

5. วิจัยผู้ป่วยแผลสดที่โอพีดีอุบัติเหตุโดยตรวจหาเชื้อจากแผลผู้ป่วยทุกราย และติดตามผลการรักษาผู้ป่วยวันที่ 3 และ 7 หลังรักษา

ผลการศึกษา

1. โรคหวัดและอุจจาระร่วง 1.1) อัตราการได้รับยาต้านจุลชีพในผู้ป่วยโรคหวัดและอุจจาระร่วงจำนวน 1,451 คน ลดลงเหลือร้อยละ 13.0 และ 19.1 ตามลำดับ 1.2) พบเชื้อ group A streptococci ในผู้ป่วยโรคหวัดร้อยละ 3.8 และเชื้อ non-typhoidal Salmonella spp. ในผู้ป่วยอุจจาระร่วงร้อยละ 14.7 1.3) ผลการรักษาวันที่ 3 หลังจากผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาคือ อัตราการตอบสนองต่อการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านจุลชีพไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับยาต้านจุลชีพ 2. โรคแผลสด 2.1) ผู้ป่วยแผลสดจำนวน 330 ราย มีผู้ป่วย 300 ราย ได้รับยาต้านจุลชีพร้อยละ 90.9 2.2) ผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อที่อาจก่อโรคได้เพียง 23 ราย ร้อยละ 7 2.3) ผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่แผลเพียง 4 ราย ร้อยละ 12 โดยทุกรายได้รับยาต้านจุลชีพป้องกันการติดเชื้อแล้ว

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ

1. ขยายการดำเนินงานไปยังผู้ป่วยทั้งโรงพยาบาลศิริราช 2. นำผลงานไปใช้กำหนดนโยบายระดับชาติ เป็นเกณฑ์จัดสรรเงิน P4P จำนวน 47 ล้านบาท ตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ. 2555 โดยสถานการณ์ที่มีอัตราการใช้ยา < ร้อยละ 20 จะได้รับเงินเต็มจำนวน อัตราการใช้ยาร้อยละ 21-40 จะได้รับเงินบางส่วน และหาก > ร้อยละ 40 จะไม่ได้รับเงิน 3. นำผลการวิจัยแผลสดมากำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรที่หน่วยตรวจอุบัติเหตุ

บทเรียนที่ได้รับ

1. การขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลต้องอาศัย multifaceted Interventions ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ รวมทั้งระบบ reminder และ feedback ด้วย 2. หลักฐานที่ได้จากการวิจัยของหน่วยงานมีความสำคัญต่อการทำให้บุคลากรของหน่วยงานมีความมั่นใจในแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลที่จะนำมาใช้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ด้วยความโดดเด่นของงานวิจัย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำแนวทางปฏิบัติใหม่ไปใช้ในหน่วยงาน และได้กลายเป็นต้นแบบที่สำคัญในการปลูกฝังแนวคิดการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในโรงเรียนแพทย์ ทำให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่รักษาผู้ป่วยโรคหวัด อุจจาระร่วงเฉียบพลัน และแผลสดจากอุบัติเหตุ และผู้บริหาร นำผลการวิจัยไปกำหนดนโยบายสุขภาพ จึงทำให้ผลงาน Antibiotics Smart Use (ASU) ที่โรงพยาบาลศิริราช” ได้รับ รางวัลผลงาน R2R ดีเด่น ประจำปี พ.. 2556 ระดับการบริการระดับตติยภูมิ จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการนี้ อันดับแรกคือ การสนับสนุนเชิงนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรคือ คณบดีและผู้อำนวยการโรงพยาบาล อันดับที่สองคือ ต้องให้ผู้ที่มีอิทธิพล ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งทางโรงพยาบาลศิริราชได้ให้ อาจารย์วิษณุ ธรรมลิขิตกุล หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในเรื่องนี้ เพราะทุกคนจะไม่กังขาในองค์ความรู้ของอาจารย์ และถ้าหากโรงพยาบาลอื่นจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ก็สามารถให้แพทย์ที่โรงพยาบาล หรือใครก็ได้ที่ทุกคนให้การยอมรับและเชื่อถือในองค์ความรู้ทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนเรื่องข้อมูลที่ใช้ในการอ้างอิงนั้น สามารถนำข้อมูลของโรงพยาบาลศิริราชไปใช้ได้เลย” นพ.อธิรัฐ กล่าวทิ้งท้าย