30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ ? (ตอนที่ 1)

30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ ? (ตอนที่ 1)

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

            นโยบายประชานิยม คือนโยบายแบบไหน คำตอบก็คือ เป็นนโยบายที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินสร้างความพึงพอใจและนิยมชมชอบให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเพื่อผลตอบแทนทางการเมือง ให้ประชาชนเลือกพรรคนั้น ๆ เข้ามาเป็น ส.ส. และเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ถ้าประชาชนกลุ่มเป้าหมายไม่พอใจแล้วก็คงไม่เรียกว่าเป็นนโยบายประชานิยม

            แต่จะมุ่งหวังเพียงความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องไปถามถึงประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย เช่น นโยบายจำนำข้าว ชาวนาซึ่งเป็นกลุ่มได้รับผลประโยชน์ก็คงจะมีความพึงพอใจ โรงสีและพ่อค้าข้าวก็ได้กำไรทั้งทางตรง (สุจริต) และทางอ้อม (ทุจริต) อย่างที่เป็นข่าวให้เห็นกันอยู่ แต่ในส่วนของผู้บริโภคอาจจะได้รับผลกระทบในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ต้องซื้อข้าวกินในราคาแพงเกินราคาที่แท้จริง (หรือแพงกว่าราคาข้าวของเพื่อนบ้าน) เนื่องจากโรงสีถือโอกาสใช้ราคาจำนำ (หรือที่จริงคือราคารับซื้อ) ของรัฐบาลมากำหนดราคาขายข้าวอีกด้วย

            แถมผู้ซื้อข้าวมาบริโภคอาจจะขาดความมั่นใจว่าข้าวสารที่ซื้อมานั้นจะเป็นข้าวเน่า ข้าวปนเปื้อนเชื้อราและยากำจัดมอดแมลงหรือไม่

            รวมทั้งการฉ้อฉลและการตั้งราคารับจำนำแพงเกินจริง ทำให้รัฐบาลขายข้าวไม่ได้ และรัฐบาลมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติเสียหาย จนในระยะหลังของโครงการชาวนาไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวภายในเวลาอันสมควร ต้องผัดวันประกันพรุ่งว่าจะจ่ายเงินให้ชาวนาในวันนั้นวันนี้ แต่พอถึงวันที่กำหนดก็ต้องเลื่อนการจ่ายเงินออกไปอีก จนทำให้ชาวนาต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลรีบจ่ายเงิน ในขณะที่เขียนบทความนี้เลยกำหนดที่รัฐบาลสัญญาว่าจะจ่ายเงินไปแล้ว แต่ก็ต้องเลื่อนกำหนดวันที่จะจ่ายเงินออกไปอีก

            ฉะนั้นแทนที่รัฐบาลจะได้รับความนิยมชมชอบ กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลถูกตำหนิติเตียน ทั้งจากชาวนาเอง จากชาวบ้านผู้ต้องซื้อข้าวกิน และจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมการทำงานของรัฐบาลและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่เข้าใจว่าโครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดภาระหนี้สินแก่รัฐบาลที่ประชาชนต้องร่วมแบกรับภาระหนี้ไปด้วย เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถขายข้าวที่รับจำนำไว้ได้ และข้าวก็เสียหายจากการเก็บไว้นานเกินไป เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้เนื่องจากราคาแพงเกินไปจนทำให้ประเทศไทยสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกให้แก่ประเทศเวียดนามไปแล้ว

            นับได้ว่ารัฐบาลได้ทำลายระบบค้าข้าวของไทยไปจากโครงการประชานิยมนี้เป็นอย่างมาก จนถึงกับมีผู้ไปฟ้องร้อง ป.ป.ช. ให้มาสอบสวนหรือตรวจสอบการทุจริตในโครงการจำนำข้าว ซึ่งในขณะที่เขียนบทความนี้ ไม่ทราบว่า ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดของรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการจำนำข้าว หรือชี้มูลความผิดไปถึงนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่

 

นโยบายประชา(ยอด)นิยม คือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค

            ยังมีนโยบายประชานิยมที่เป็นที่กล่าวถึง ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงมากว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีที่สุดที่หลายคนเสนอว่าไม่ควรยกเลิกนโยบายนี้ ได้แก่ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งบางคนชอบเรียกนโยบายนี้เป็น “นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “universal (healthcare) coverage” หรือ “uc”  ซึ่งไม่ใช่การให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจริง เพราะว่าถ้าให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ทั่วถึงทุกคน)จริง ประชาชนไทยทั้งหมด 63 ล้านคน ย่อมต้องได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้แน่นอน

            แต่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทนี้ ให้ผลประโยชน์แก่ประชาชนเพียง 48 ล้านคนเท่านั้น โดยประชาชนจำนวนนี้จะได้รับสิทธิในการไปรักษาความเจ็บป่วยโดยจ่ายเงินค่าตรวจรักษา ค่ายาทั้งหมดทั้งปวงในราคาครั้งละ 30 บาท และต่อมาได้มีการแก้ไขให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเลยในการไปตรวจรักษาผ่าตัด และค่ายาทุกชนิด (แต่ก็ยังเรียกกันว่า 30 บาทอยู่เหมือนเดิม)

            ส่วนประชาชนที่เหลืออีก 15 ล้านคนนั้น 10 ล้านคนต้องจ่ายเงินตนเองสมทบทุกเดือน จึงจะได้รับสิทธิไปรักษาในระบบประกันสังคม และประชาชนอีก 5 ล้านคนได้รับสิทธิรักษาจากระบบสวัสดิการข้าราชการ

            นโยบาย 30 บาทนี้เป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนมาก ทำให้พรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นเจ้าของนโยบายนี้ ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้พรรคไทยรักไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกเป็นสมัยที่ 2 แต่รัฐบาลชุดนี้ก็อยู่ได้ไม่นานเนื่องจากประชาชนได้มองเห็นการทุจริตคอร์รัปชันและเผด็จการเสียงข้างมากในรัฐสภา ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างยืดเยื้อยาวนาน จนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

            แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต่อ ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการปฏิวัติ หรือรัฐบาลพลเรือนทุกรัฐบาลหลังจากการปฏิวัติครั้งนี้ ก็ไม่กล้าที่จะล้มเลิกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะเกรงกลัวว่าการเลิกนโยบายที่เป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนนี้จะทำให้รัฐบาลนั้นเองไม่ได้รับความนิยม หรือเสื่อมความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว จึงมีผลให้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นสำนักงานบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังสามารถยืนยงคงกระพันในการบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีเงินงบประมาณแผ่นดินในโครงการนี้จากเริ่มต้น 1,200 บาทต่อประชาชน 1 คน มาเป็น 2,895.09 บาทต่อคน มาได้เป็นปีที่ 13 แล้ว โดยที่ไม่มีการตรวจสอบเรื่องความสุจริต โปร่งใสใด ๆ ในการบริหารงานของสำนักงานแห่งนี้แต่อย่างใด

            แม้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะได้ตรวจสอบและรายงานการบริหารจัดการของ สปสช. ว่าไม่เหมาะสม/ถูกต้องถึง 7 อย่าง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น คือนายวิทยา บุรณศิริ ก็ไม่ได้ทำการสอบสวน และลงโทษแต่อย่างใด แต่กลับปกปิดการตรวจสอบอีกครั้งจากอัยการที่ตนตั้งขึ้นมา เพื่อให้ผ่านพ้นการตัดสินใจในการเลือกตั้งเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนทำให้เลขาธิการคนเดิมที่ สตง. ชี้ประเด็นความผิดแล้วได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งกลับมาเป็นเลขาธิการอีกเป็นสมัยที่ 2

ประชาชนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ 30 บาท

            ประชาชนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็คือประชาชน 48 ล้านคนที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน (ในระบบประกันสังคม) และไม่ใช่กลุ่มข้าราชการและครอบครัว

            สปสช. จะรายงานทุก ๆ ปีว่า โครงการ 30 บาทฯ เป็นโครงการที่ประชาชนชื่นชอบหรือนิยมมากกว่า 90% ทุกปี ทั้งนี้เพราะว่าประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินจากประเป๋าของตัวเองเลยในการมารับการรักษาที่โรงพยาบาล จ่ายเฉพาะค่าเดินทางเท่านั้น และถ้าอาการหนักจนถึงกับต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ผ่าตัด ทำคลอด ใส่เฝือก และทำการรักษาทุกชนิด ผู้ป่วยก็ได้รับการรักษา มีเตียงนอน มีอาหารฟรี 3 มื้อ และการรักษาพยาบาล (เช็ดตัว ทำแผล ฉีดยา ฯลฯ) ได้ทุกชนิด จนจะฟื้นไข้หรือหายจากการเจ็บป่วย เพียงจ่ายเงินจากกระเป๋าตัวเองแค่ 30 บาทเท่านั้น

            ในยุคแรกมีประชาชนที่ยากจนประมาณ 20 ล้านคน ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่ายเงิน 30 บาท มีประชาชนเพียง 27 ล้านคนเศษที่ต้องจ่ายเงินครั้งละ30 บาท

            ภายหลังจากการไปรับการรักษาแล้ว ถ้าผู้ป่วยหรือญาติไม่พอใจผลการรักษาใด ๆ ก็ตาม ก็ยังอาจจะไปฟ้องร้องเพื่อขอเงินช่วยเหลือ (ตามมาตรา 41) ได้อีกด้วย และถ้าพบว่ามีความผิดพลาดในกระบวนการรักษา หลังจาก สปสช. จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว ยังสามารถไป “ไล่เบี้ย” เอาเงินคืนจากผู้กระทำผิดได้อีกตามมาตรา 42

            บทบัญญัติในสองมาตรานี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยร้องเรียนแพทย์ (ผู้เป็นหัวหน้าทีมงานรักษา) และโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีทนายไปคอยอยู่ใต้ถุนโรงพยาบาล เพื่อชักจูงให้ญาติผู้ป่วยที่ตายหรือไม่พอใจผลการรักษายื่นฟ้องหมอต่อศาลทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอีกมากมาย