โครงการให้ความรู้คุมปัจจัยเสี่ยงหลังเกิด Acute Coronary Syndrome

โครงการให้ความรู้คุมปัจจัยเสี่ยงหลังเกิด Acute Coronary Syndrome

JAMA Intern Med. 2014;174(1):40-48.

บทความเรื่อง An Education Program for Risk Factor Management after An Acute Coronary Syndrome: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหลังเกิด acute coronary syndrome สามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้แต่ก็ยังปฏิบัติได้ยาก นักวิจัยจึงศึกษาว่าการจัดโครงการให้ความรู้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยพยาบาลหรือโภชนากรให้ผลดีต่อการควบคุมปัจจัยเสี่ยงในระยะยาวภายหลังเกิด acute coronary syndrome หรือไม่

บทความนี้รายงานข้อมูลจากการศึกษา Réseau Insuffisance Cardiaque (RESICARD) PREVENTION study ซึ่งมีขึ้นยังโรงพยาบาลตติยภูมิ 6 แห่งในฝรั่งเศส โดยสุ่มให้ผู้ป่วยที่รักษาในหน่วยไอซียูโรคหัวใจหลังเกิด an acute coronary syndrome และมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 ตัว (สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย และอ้วนหรือน้ำหนักเกิน) เข้าร่วมโครงการให้ความรู้นอกโรงพยาบาล (โครงการ House of Education) หรือรักษาตามแนวทางการรักษาของแพทย์

ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ผลรวมของการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่ เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง น้ำหนักลดลงอย่างน้อย 5% และรอบเอวลดลงอย่างน้อย 4% นักวิจัยติดตามผู้ป่วยเป็นเวลา 1 ปีและวิเคราะห์ intent-to-treat analysis

มีผู้ป่วย 251 ที่เข้าโครงการ House of Education และ 251 รายที่รักษาตามแนวทางมาตรฐานระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2006 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีผลต่างที่มีนัยสำคัญที่ 12 เดือนในด้านผลลัพธ์หลัก (51.8% vs 49.8% success rate; adjusted relative risk [aRR] 1.11; 95% CI 0.90-1.37) หรือการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด (aRR 1.22; 95% CI 0.89-1.66) นอกจากนี้ยังไม่พบความแตกต่างด้านการออกกำลังกาย (aRR 1.05; 95% CI 0.92-1.21) การสูบบุหรี่ (aRR 0.99; 95% CI 0.87-1.13) และการลดน้ำหนักหรือรอบเอว (aRR 1.07; 95% CI 0.84-1.36)

การให้ความรู้ในโครงการ House of Education ไม่ได้ส่งผลให้การควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตดีขึ้นหลังเกิด acute coronary syndrome เทียบกับการรักษามาตรฐาน