ตัวอ่อนโตช้าตั้งครรภ์สามเดือนแรกเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในเด็กวัยเรียน

ตัวอ่อนโตช้าตั้งครรภ์สามเดือนแรกเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในเด็กวัยเรียน

BMJ 2014;348:g14

บทความเรื่อง First Trimester Fetal Growth Restriction and Cardiovascular Risk Factors in School Age Children: Population Based Cohort Study รายงานผลลัพธ์จากงานวิจัย population based prospective cohort study ซึ่งประเมินผลลัพธ์จากปัญหาการโตช้าของตัวอ่อนในสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ต่อผลลัพธ์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดในวัยเด็ก

นักวิจัยศึกษาจากเด็ก 1,184 ราย ซึ่งมีข้อมูลความยาวทารก และแม่มีข้อมูลวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายและมีรอบเดือนเป็นปกติ มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ ดัชนีมวลกาย การกระจายตัวของไขมันโดยรวมและช่องท้อง ความดันเลือด รวมถึงระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ อินซูลิน และซีเปปไทด์ในเลือดที่มัธยฐานอายุ 6.0 ปี (90% range 5.7-6.8) การรวมกลุ่มปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดประเมินจากมีปัจจัยเสี่ยง 3 ตัวหรือมากกว่า ได้แก่ มีมวลไขมันที่ส่วนล่างของร่างกายในปริมาณมาก มีความดันเลือดซิสโตลิคและไดแอสโตลิคสูง มีคอเลสเตอรอล high density lipoprotein ต่ำ หรือมีไตรกลีเซอไรด์สูง และมีระดับอินซูลินสูง

คะแนนส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความยาวตัวอ่อนในช่วงตั้งครรภ์สามเดือนแรกที่เพิ่มขึ้นหนึ่งคะแนนสัมพันธ์กับการลดลงของมวลไขมันร่างกาย (-0.30%, 95% confidence interval -0.57 ถึง -0.03%), มวลไขมันส่วนล่าง (-0.07%, -0.12 ถึง -0.02%), อัตราส่วนมวลไขมันส่วนล่าง/หน้าท้อง (-0.53, -0.89 ถึง -0.17), ความดันเลือดไดแอสโตลิค (-0.43, -0.84 ถึง -0.01 mmHg), คอเลสเตอรอลรวม (-0.05, -0.10 ถึง 0 mmol/L), คอเลสเตอรอลชนิด low density lipoprotein (-0.04, -0.09 ถึง 0 mmol/L) และความเสี่ยงการรวมกลุ่มของปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (relative risk 0.81, 0.66-1.00) ในวัยเด็กโดยที่การปรับตามอายุครรภ์และน้ำหนักแรกคลอดทำให้ค่าประมาณเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อย ดัชนีมวลกายในวัยเด็กแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของความยาวทารกในการตั้งครรภ์สามเดือนแรกและมวลไขมันร่างกายในวัยเด็ก แต่การเติบโตในช่วงสามเดือนแรกไม่สัมพันธ์กับผลลัพธ์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น การวิเคราะห์การเติบโตระยะยาวชี้ว่า เด็กที่มีการรวมกลุ่มปัจจัยเสี่ยงมีความยาวในช่วงสามเดือนแรกต่ำกว่า และมีน้ำหนักประมาณในช่วงสามเดือนกลางและสามเดือนปลายต่ำกว่า ขณะที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าหลังอายุ 6 เดือนเมื่อเทียบกับเด็กวัยเรียนที่ไม่มีการรวมกลุ่มของปัจจัยเสี่ยง

ปัญหาการเติบโตของตัวอ่อนในช่วงตั้งครรภ์สามเดือนแรกสัมพันธ์กับความเสี่ยงผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ด้านหัวใจและหลอดเลือดในเด็กวัยเรียน ซึ่งช่วงชีวิตของตัวอ่อนในขณะเริ่มตั้งครรภ์อาจถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดในภายหลัง