การเสริมวิตามินดีต่อผลลัพธ์ด้านกระดูก หลอดเลือด และมะเร็ง
The Lancet Diabetes & Endocrinology, Early Online Publication, 24 January 2014.
บทความเรื่อง The Effect of Vitamin D Supplementation on Skeletal, Vascular, or Cancer Outcomes: A Trial Sequential Meta-Analysis รายงานว่า ภาวะพร่องวิตามินดีเป็นสาเหตุของความผิดปกติหลายประการ และเป็นที่มาของเสียงเรียกร้องให้มีมาตรการเสริมวิตามินดีอย่างทั่วถึง ขณะที่นักวิจัยบางส่วนเห็นว่าจำเป็นจะต้องศึกษาประสิทธิภาพของการเสริมวิตามินดีต่อความผิดปกติต่าง ๆ
นักวิจัยดำเนินการศึกษาแบบ trial sequential meta-analysis จากงานวิจัยเปรียบเทียบผลลัพธ์การเสริมวิตามินดีอย่างเดียว หรือเสริมวิตามินดีร่วมกับแคลเซียมเพื่อศึกษาค่าอิทธิพลของการศึกษาในอนาคตด้วยองค์ความรู้ในปัจจุบัน นอกจากนี้นักวิจัยได้ประมาณผลของการเสริมวิตามินดีต่อกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจขาดเลือด สโตรคหรือโรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง กระดูกหักทั้งหมด กระดูกสะโพกหัก และอัตราตายจากการวิเคราะห์ซึ่งใช้ risk reduction threshold ที่ 5% สำหรับอัตราตาย และ 15% สำหรับ endpoint อื่น
การประมาณค่าอิทธิพลของการเสริมวิตามินดีอย่างเดียวหรือเสริมวิตามินดีร่วมกับแคลเซียมสำหรับกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจขาดเลือด (9 การศึกษา รวมผู้ป่วย 48,647 ราย), สโตรคหรือโรคหลอดเลือดสมอง (8 การศึกษา รวมผู้ป่วย 46,431 ราย), มะเร็ง (7 การศึกษา รวมผู้ป่วย 48,167 ราย) และกระดูกหักทั้งหมด (22 การศึกษา รวมผู้ป่วย 76,497 ราย) อยู่ในขอบเขตของการไม่มีประโยชน์ตามที่พบว่า การเสริมวิตามินดีไม่มีผลทำให้ relative risk ของ endpoint แต่ละด้านเปลี่ยนไป 15% หรือมากกว่า การเสริมวิตามินดีอย่างเดียวไม่ทำให้กระดูกสะโพกหักลดลง 15% หรือมากกว่า (12 การศึกษา รวมผู้ป่วย 27,834 ราย) การเสริมวิตามินดีร่วมกับแคลเซียมลดสะโพกหักในผู้ป่วยที่รับเข้ารักษาในโรงพยาบาล (2 การศึกษา รวมผู้ป่วย 3,853 ราย) แต่ไม่ลด relative risk ของสะโพกหักลง 15% หรือมากกว่าในผู้ป่วยที่อาศัยในชุมชน (7 การศึกษา รวมผู้ป่วย 46,237 ราย) แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าการเสริมวิตามินดีอย่างเดียว หรือวิตามินดีร่วมกับแคลเซียมลดความเสี่ยงการตายหรือไม่ (38 การศึกษา รวมผู้ป่วย 81,173 ราย)
ข้อมูลจากการศึกษานี้ชี้ว่า การเสริมวิตามินดีอย่างเดียวหรือเสริมวิตามินดีร่วมกับแคลเซียมไม่ได้ลดผลลัพธ์ด้านโครงกระดูกหรือผลลัพธ์อื่นได้มาก 15% ในผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในชุมชน โดยคาดว่างานวิจัยในอนาคตที่มีรูปแบบเดียวกันก็น่าจะได้ข้อสรุปสอดคล้องกัน