‘การแพทย์แผนไทยประยุกต์’ ภูมิปัญญาไทยสู่สากล
ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยทางด้านสาธารณสุขเรื่องของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยทั้งเรื่องการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย เพื่อใช้แก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยและบำรุงส่งเสริมให้มีสุขภาพดีคาดว่าจะมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น จึงจำเป็นต้องวางแผนรองรับในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทย การพัฒนาศักยภาพสมุนไพรหรือยาไทย การพัฒนาบริการการแพทย์แผนไทย รวมถึงสถานที่ที่พร้อมให้บริการ เพื่อให้มีศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาชาติ
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 7 อาคารปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลศิริราช ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับประชาชนที่หันมานิยมดูแลสุขภาพและรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยได้เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การรักษาด้วยยาสมุนไพรและหัตถการ ไม่ว่าจะเป็นการนวดไทยแบบราชสำนัก การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร การดูแลหญิงหลังคลอด ฯลฯ รวมทั้งการผสมผสานศาสตร์การแพทย์แผนไทยกับกิจกรรมสร้างเสริมคุณภาพเพื่อป้องกันโรคให้กับผู้รับบริการได้มีความรู้ในการดูแลตนเองให้ห่างไกลโรค
รศ.นพ.ทวี เลาหพันธุ์ หัวหน้าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีจุดเริ่มต้นมาจาก ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ปูชนียบุคคลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเห็นความสำคัญของการแพทย์แผนไทย อาจารย์ได้อุทิศตนด้วยความมุ่งมั่นและเสียสละเพื่ออนุรักษ์การแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาของชาติให้ยั่งยืน โดยมีแนวคิดว่าการแพทย์แผนไทยจะบูรณาการอยู่ในระบบสุขภาพของประเทศได้อย่างยั่งยืน บุคลากรทางการแพทย์แผนไทยต้องมีศักยภาพในการพัฒนา และศักยภาพนั้นเกิดจากการที่แพทย์แผนไทยมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย โดยอาจารย์ได้เปิดโรงเรียนสอนการแพทย์แผนไทยตามปรัชญาใหม่นี้เมื่อปี พ.ศ. 2525 ต่อมาเรียกปรัชญาในการศึกษานี้ว่า ‘การแพทย์แผนไทยประยุกต์’ เพื่อให้แตกต่างจากการแพทย์แผนไทยแบบดั้งเดิม อาจารย์ได้เปิดคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์เพื่อเป็นสถานที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยและเป็นแหล่งศึกษาฝึกปฏิบัติของนักศึกษา นอกจากนี้ยังจัดให้มีการผลิตยาสมุนไพรตามตำรับของโรงเรียนเพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยอีกด้วย
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2546 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับโอนโรงเรียนรวมทั้งคลินิกให้บริการและหน่วยผลิตยา และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เข้ามาเป็นหน่วยงานในสังกัดคณะ และจัดตั้งหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา คือสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทำหน้าที่รับผิดชอบและกำกับดูแลการดำเนินกิจการของโรงเรียนที่รับโอนมา โดยให้วางหลักการและแนวทางในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้มีความยั่งยืน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในระบบสุขภาพของประเทศอย่างกว้างขวาง ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามใหม่ให้โรงเรียนว่า “โรงเรียนอายุรเวทธำรง” งานที่เร่งพัฒนาในช่วงแรกและทำไปพร้อม ๆ กันสองด้านคือ พัฒนาจัดการศึกษาให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ ความสามารถในการทำเวชปฏิบัติในการทำการแพทย์แผนไทย พัฒนาการให้บริการทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งรวมถึงการผลิตยาจากสมุนไพรให้มีคุณภาพน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และเป็นที่นิยมของประชาชน และการวิจัยพัฒนาศาสตร์ทางด้านการแพทย์แผนไทยให้มีความชัดเจนเป็นที่ประจักษ์
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้พัฒนาคลินิกให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีคุณภาพและมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ และที่สำคัญคือ เป็นแหล่งศึกษาและฝึกปฏิบัติสำหรับนักศึกษา อีกทั้งได้ให้บริการแก่ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลศิริราช เช่น หอผู้ป่วยของภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู และร่วมให้บริการที่งานบริการสุขภาพปฐมภูมิศิริราชอีกด้วย โดยงานบริการการแพทย์แผนไทยประยุกต์แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. คลินิกอายุรเวท แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรืออโรคยาสถาน เป็นงานบริการตรวจ วินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วย ตลอดจนการให้คำแนะนำต่าง ๆ ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งล้วนเป็นรูปแบบการรักษาที่มีความชัดเจน มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่น่าเชื่อถือ มีความเป็นเอกลักษณ์ และเป็นการธำรงภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้คงอยู่ ซึ่งประกอบด้วยการใช้ยาสมุนไพรในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ยาลูกกลอน ยาตอกเม็ด ยาแคปซูล และยาต้มดื่ม การนวดไทยแบบราชสำนัก การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร รวมถึงการดูแลมารดาหลังคลอด โดยทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทยประยุกต์ผู้มีใบประกอบวิชาชีพ
2. ศิริราชสัปปายสถาน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ หรือสัปปายสถาน เป็นงานบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพสำหรับผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยการบริการที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์รวม ให้ความสำคัญกับทั้งกาย จิต และพฤติกรรม สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพและกระแสโลกาภิวัตน์ที่เน้นหลักการสร้างสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพ อาทิเช่น การให้คำปรึกษาและแนวทางการดูแลสุขภาพตามหลักธาตุเจ้าเรือน การขัดพอกผิวกายด้วยสมุนไพร การนวดไทยแบบราชสำนัก การบริการร่างกายแบบฤาษีดัดตน เป็นต้น
รศ.นพ.ทวี กล่าวอีกว่า การจะทำให้งานการแพทย์แผนไทยจะยั่งยืนอยู่ได้ จำเป็นต้องเร่งพัฒนางานหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน ทั้งการผลิตบุคลากรทางการแพทย์แผนไทยให้มีความรู้ความสามารถในการทำเวชปฏิบัติ มีระบบบริการตรวจรักษาโรคตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย และการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิผล มีการรวบรวมองค์ความรู้แพทย์แผนไทยให้เป็นปึกแผ่น มีการวิจัยพัฒนาเพื่อให้มีความชัดเจน ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน งานเหล่านี้จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ บุคลากรทางการแพทย์แผนไทยที่มีความรู้ความสามารถจะเป็นรากฐานสำคัญของระบบบริการ และวิจัยพัฒนา ส่วนการวิจัยพัฒนาก็จะช่วยทำให้การจัดการศึกษาและการบริการมีคุณภาพมากขึ้น
โดยในด้านการผลิตบุคลากรทางการแพทย์แผนไทยนั้น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะเรียนรู้รายวิชาต่าง ๆ เช่นเดียวกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ ชั้นปีที่ 2 และ 3 จะศึกษารายวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประเด็นสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้แพทย์แผนปัจจุบันในวงกว้างซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลระบบสุขภาพของประเทศในขณะนี้เห็นคุณค่าและเข้าใจหลักการสำคัญของการแพทย์แผนไทย จะได้ช่วยผลักดันการพัฒนาการแพทย์แผนไทย แต่ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือ งานการแพทย์แผนไทยเองจะต้องเร่งพัฒนาให้เป็นระบบ มีคุณภาพมาตรฐานที่ชัดเจน รวมทั้งเร่งตรวจสอบและพัฒนาให้องค์ความรู้มีความชัดเจนและนำมาใช้ประโยชน์ หากสามารถทำงานทั้งสองด้านไปพร้อม ๆ กัน เชื่อว่าการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาติจะยั่งยืนอยู่ในระบบสุขภาพได้
ด้านงานการบริการตรวจรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ได้ให้ความสำคัญกับงานเวชกรรมแผนไทยเนื่องจากเห็นว่าเป็นแกนหลักเวชปฏิบัติของการแพทย์แผนไทย เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยโรคมีหลักการ มีความชัดเจน ตรวจสอบได้ แพทย์แผนไทยผู้รักษาจะต้องกำหนดหลักการรักษาว่าจะใช้ยาสมุนไพรอะไร เพราะเหตุใด จำเป็นจะต้องใช้หัตถการร่วมด้วยหรือไม่ เท่าที่ผ่านมาคนทั่วไปจะรู้จักหรือเข้าใจว่าการนวดไทยคือการแพทย์แผนไทย เนื่องจากมีการส่งเสริมการเรียนและการให้บริการนวดไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งการผลักดันให้นำการนวดไทยมาใช้สร้างเสริมสุขภาพ ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงมักไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจวินิจฉัยโรค ละเลยการติดตามผลการรักษา รวมทั้งผู้ป่วยมักจะไม่พอใจที่จะต้องมีการตรวจวินิจฉัย เห็นว่าเป็นการเสียเวลา ทั้งที่กระบวนการเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของการแพทย์แผนไทย
ด้านการผลิตยาสมุนไพร ขณะนี้ศิริราชมีโรงงานผลิตยาสมุนไพรที่ทันสมัยได้รับเกียรติบัตรรับรองมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดี การผลิตยาจากสมุนไพร หรือ GMP มีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนของวัตถุดิบจนเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตยา รวมทั้งมุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยซึ่งเป็นส่วนของการพัฒนางานพื้นฐาน เช่น วิจัยและพัฒนาตำรับยาแผนไทย ซึ่งมีสมุนไพรเป็นองค์ประกอบหลายตัวให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ และมีการวิจัยลงลึกไปถึงสารประกอบ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพร ฯลฯ การดำเนินการทั้งหมด เพื่อเป็นตัวอย่างให้สังคมมั่นใจในคุณภาพของยาสมุนไพร นอกจากนี้ยังสนับสนุนการปรุงยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะราย ซึ่งเป็นองค์ความรู้แบบดั้งเดิมด้วย
ด้านการพัฒนานวัตกรรม ได้มีการสร้างนวัตกรรมจากการทำงานประจำให้มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่น ในการสอบภาคปฏิบัติการนวดไทยแบบราชสำนักนั้น ปัญหาที่พบคือ การฝึกแต่งรสมือของนักศึกษา บางคนอาจกดนวดด้วยแรงมากจนเกิดการระบมภายหลัง หรือกดนวดด้วยแรงไม่มากพอก็ไม่สามารถบรรเทาอาการได้ สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์จึงร่วมกับสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ พัฒนาหุ่นนวดไทยขึ้น โดยหุ่นมีลักษณะเหมือนจริง ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ไว้เพื่อรับแรงกด แล้วแสดงผลลัพธ์เป็นกราฟที่หน้าจอ นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่ากดนวดถูกตำแหน่งหรือไม่ น้ำหนักและลักษณะของแรงที่กดนวดเป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ หรือการสอนให้รู้จักสมุนไพร มักพบปัญหาว่าตัวอย่างสมุนไพรที่จัดเตรียมไว้เสียหาย ได้ศึกษาเฉพาะนักศึกษาคนแรก ๆ เท่านั้น สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์จึงพัฒนาตัวอย่างสมุนไพรในเรซิ่น ซึ่งทำให้นักศึกษาใช้เรียนรู้ได้สะดวกขึ้น ไม่เกิดความเสียหาย แม้จะดูซ้ำหลาย ๆ ครั้ง หรือการจ่ายยาสมุนไพรให้ผู้ป่วยนำกลับไปต้มที่บ้าน โดยนิยมใส่วัตถุดิบสมุนไพรในภาชนะขนาดใหญ่ เช่น ขวดโหล หรือกระป๋อง เมื่อต้องการใช้ก็หยิบด้วยมือแล้วห่อให้ผู้ป่วย สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้พัฒนาให้บรรจุภัณฑ์วัตถุดิบสมุนไพรใหม่ เมื่อทำความสะอาดและอบแห้งแล้ว บรรจุในถุงพลาสติกแบบสุญญากาศ ทำให้หยิบได้สะดวก สะอาด ไม่ชื้น และไม่ปนเปื้อน โดยนวัตกรรมทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
ทั้งนี้ในการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์จึงได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยให้การฝึกอบรมบุคลากรฝ่ายต้อนรับ และแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้พูดภาษาอังกฤษ เพื่อให้บริการและสื่อสารให้ชาวต่างชาติที่มาใช้บริการได้รู้จักศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของการนวดเพียงเท่านั้น เพราะโดยส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะรู้จักเรื่องของนวดไทยอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้รู้จักเรื่องทฤษฎี เรื่องของหลักการด้วยเช่นกัน โดยพยายามชูเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะหลักของแพทย์แผนไทยจะมุ่งเน้นการดูแลแบบองค์รวมเป็นสำคัญ
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันยังผสานความร่วมมือระหว่างแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยขณะนี้แพทย์แผนปัจจุบันรู้จักแพทย์แผนไทยมากขึ้น เพราะฉะนั้นความร่วมมือกันในการศึกษาวิจัยจึงมีมากขึ้น ทุกโครงการจะมีการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ได้ทำเดี่ยว ๆ เพราะนำเอาความรู้ที่มีทั้งหมดมาตอบคำถามร่วมกัน
“แพทย์แผนไทยจะต้องอยู่อย่างมั่นคง ความมั่นคงที่ว่านี้คือความมั่นคงทางวิชาการ โดยแพทย์แผนไทยจะต้องอยู่บนพื้นฐานวิชาการ ไม่เช่นนั้นความรู้ก็จะตายไป ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ แต่จะพัฒนาต่อไปอย่างไรนั้น จากนี้คงเป็นเรื่องของอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ น้อง ๆ รุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถที่เราได้สร้างขึ้น ที่ต้องช่วยกันพัฒนาต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้การแพทย์แผนไทยประยุกต์เติบโตอย่างยั่งยืน” รศ.นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้าย