ดร.นพ.ฉัตรชัย สวัสดิไชย : คุณหมอผู้บุกเบิกด้านการแพทย์แผนไทยมาสู่งานวิจัยที่พิสูจน์ได้จริง
การแพทย์แผนไทย วิถีการดูแลสุขภาพสมัยดั้งเดิมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีวิถีการปฏิบัติของคนไทย เพื่อการดูแลสุขภาพ การบำบัดรักษาโรค หรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นโดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกายเข้ามาอธิบาย วิถีทางการแพทย์แผนไทยถือเป็นภูมิปัญญาแห่งชาติ ภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้สืบต่อกันมายาวนานกว่าหลายพันปี เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งอาจจะมีการกระจัดกระจายหรือสูญหายไป แต่ทว่าในปัจจุบันได้มีการสนับสนุนฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยกันอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากการที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนให้นำการแพทย์แผนไทยมาเปิดรักษาในโรงพยาบาลจนเป็นที่ยอมรับ โดยหนึ่งในโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักในมาตรฐานการรักษาด้วยวิถีทางการแพทย์แผนไทย ได้แก่ คลินิกแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ซึ่ง ดร.นพ.ฉัตรชัย สวัสดิไชย นายแพทย์เชี่ยวชาญ คลินิกแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เจ้าของรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ประจำปี พ.ศ. 2556 คุณหมอผู้ซึ่งบุกเบิกคลินิกการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเปิดคลินิกให้ฟังว่า
สมัยที่ผมดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานผู้ป่วยนอกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2548 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนเปิดให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกบูรณาการเสริมไปกับสถานบริการแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงทางโรงพยาบาลได้จัดตั้งคลินิกเวชปฏิบัติทั่วไปดูแลในส่วนของ primary care เพื่อลดภาระงานของแผนกอายุรกรรม ทำให้เราต้องเสาะแสวงหาองค์ความรู้เกี่ยวกับแพทย์แผนไทยว่ามีอะไรบ้าง และจากการที่เราได้ไปศึกษาดูงานจากการจัดงานมหกรรมสมุนไพรในขณะนั้น เราได้พบกับแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบประกอบโรคศิลปะเปิดคลินิกในจังหวัดจันทบุรี จึงชักชวนให้อาจารย์มาเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยเราทำหน้าที่ในการดูแลติดตามประเมินผลการรักษา พบว่ามีหลาย ๆ โรคที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยสมุนไพรได้ผลดี โดยในผู้ป่วยบางรายเราอาจใช้บูรณาการทางการแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามาร่วมด้วยตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคน
“จากการติดตามผลการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยของคลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลพระปกเกล้า พบว่าได้ผลน่าพอใจ ประชาชนมีแนวโน้มใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับแข็งและโรคสะเก็ดเงิน ผลการศึกษาวิจัยการใช้ยาหม้อตำรับ “พัทธะปิตตะ” ซึ่งมีสมุนไพร 8 ชนิด รักษาโรคตับแข็ง และการใช้ยาหม้อตำรับ “วรรณฉวี-เทพรังษี” รักษาโรคสะเก็ดเงิน ระหว่างการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันพบว่าได้ผลดี เป็นข้อพิสูจน์ยืนยันถึงประสิทธิภาพของยาสมุนไพรไทยในการรักษาโรคเรื้อรัง”
ดร.นพ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคตับแข็งเป็นโรคเรื้อรัง เกิดจากเนื้อตับมีการอักเสบ เกิดเนื้อเยื่อพังผืดรัดแข็ง มีคนไทยเสียชีวิตประมาณ 21,833 รายต่อปี มักพบในเพศชายและอยู่ในวัยแรงงาน ส่วนใหญ่มักมีประวัติเกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา มักมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต แน่นท้อง ขาบวม กินไม่ได้ จากการศึกษาใช้ยาสมุนไพรตำรับ “พัทธะปิตตะ” รักษาโรคนี้ ซึ่งมีสมุนไพร 8 ชนิดเป็นหลัก เช่น หัวเต่ารั้ง หัวเต่าเกียด กำแพง 7 ชั้น หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ เป็นต้น แต่อาจเปลี่ยนสมุนไพรบางตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยบางคน โดยต้มยา 1 ห่อ ต่อ 1 สัปดาห์ กินติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลการรักษาปรากฏว่าท้องและขายุบบวม ผลตรวจเลือดพบการทำงานของตับดีขึ้น และดีขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติในเดือนที่ 5 และต้องกินยาสมุนไพรต่อเนื่องจนครบ 8 เดือนจึงหยุดยาต้ม และยังคงให้รับประทานยาบำรุงตับต่อ ซึ่งเป็นยาสมุนไพรตำรับต่อไป ในปี พ.ศ. 2555 มีผู้ป่วยโรคตับแข็งมารับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลพระปกเกล้าจำนวน 3,171 ราย รับการรักษาที่คลินิกแพทย์แผนไทย 456 ราย หรือร้อยละ 14 จากการติดตามผลการรักษาเกือบทั้งหมดอาการดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาตามหลักการแพทย์แผนไทยจำนวน 12 ครั้ง ครั้งละ 1,424 บาท ตลอดการรักษารายละประมาณ 17,088 บาท หากรักษาโดยใช้ยาแผนปัจจุบันจะตกประมาณ 24,000 บาท สำหรับโรคสะเก็ดเงินซึ่งเป็นโรคเรื้อรังเช่นกัน เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอัดแน่นและหนา ตกสะเก็ดเร็วประมาณ 3-4 วัน โรคนี้รักษาไม่หายขาด แต่ช่วยให้อาการดีขึ้นทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย หากผู้ป่วยมีอาการเครียด ดื่มสุราเป็นประจำ หรือรับประทานของดอง ของคาว ก็อาจทำให้โรคกำเริบขึ้นได้ ในปี พ.ศ. 2555 มีผู้ป่วยที่รักษากับแพทย์แผนปัจจุบันประมาณ 3,000 ราย มีผู้ป่วยรักษาที่คลินิกแพทย์แผนไทยจำนวน 422 ราย โดยใช้ยาสมุนไพรตำรับชื่อว่า “วรรณฉวี-เทพรังษี” ซึ่งมีสมุนไพร 7-14 ชนิด เช่น โกฐหัวบัว โกฐกระดูก เทียนดำ เทียนข้าวเปลือก หัวตะเพียด หัวหนอนตายหยาก หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ เป็นต้น ผลการรักษาส่วนใหญ่ร้อยละ 72 อาการดีขึ้น และอาการดีมาก รอยโรคสะเก็ดที่ผิวหนังทั่วตัวหายไปทั้งหมดประมาณร้อยละ 20 สร้างความพึงพอใจให้ผู้ป่วยมาก ค่ารักษาตกรายละประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ใช้เวลา 6-8 เดือน หากใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาจะตกรายละ 10,000-16,800 บาทต่อปี
ดร.นพ.ฉัตรชัย ยังกล่าวถึงจุดเด่นของการรักษาด้วยวิถีทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกว่า ลักษณะเด่นของการรักษาแบบแพทย์แผนไทยคือ การรักษาแบบองค์รวม กาย จิตวิญญาณ ครอบครัว ชุมชน ดูในภาพรวมทั้งหมด โดยดูว่าเขาจะมีปัญหาอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เราต้องจับให้หมด และหาทางในการที่จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขาทั้งหมดให้คลี่คลาย โดยเราจะให้เวลาในการดูแลรักษาผู้ป่วยค่อนข้างนาน และให้ความสำคัญในเรื่องของอาหาร สภาพแวดล้อม รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยอย่างละเอียดทำให้การรักษาของแพทย์แผนไทยมีความใกล้ชิด ผู้ป่วยไว้วางใจ นอกจากนี้เราก็มีการให้กำลังใจ สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วย โดยการหาต้นแบบผู้ป่วยที่เคยรักษาแล้วดีขึ้นเพื่อมาเป็นโมเดลให้แก่ผู้ป่วยคนอื่น ๆ เพื่อที่เขาจะได้มีกำลังใจในการรักษา ซึ่งผลตอบรับจากคนไข้ตั้งแต่เริ่มต้น เราไม่เคยโฆษณา แต่คนไข้ที่มารักษาจะมาด้วยการบอกปากต่อปาก
สำหรับภาพรวมของแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในปัจจุบัน ดร.นพ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้พยายามที่จะค้นหาแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านที่มีความสามารถจริง ๆ มายกย่องเชิดชู รวมทั้งอนุรักษ์องค์ความรู้และเก็บองค์ความรู้นั้นเพื่อนำมาใช้และถ่ายทอดให้กับเยาวชนรุ่นหลัง โดยเรามีการกระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ให้ช่วยกันค้นหา ประเมินผลติดตามการรักษาพยาบาลเพื่อนำมาขึ้นทะเบียนรับใบประกอบโรคศิลปะเพื่อให้แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานเดียวกัน และจากการที่ผมได้มีโอกาสไปจัดทำการสนทนากลุ่มแพทย์แผนไทยที่ผ่านการประเมินประมาณ 20 คน โดยใช้โรคสะเก็ดเงินเป็นเกณฑ์ พบว่าแพทย์แต่ละคนที่มาจากแต่ละภูมิภาคมียาสมุนไพรตำรับที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินหลากหลายมาก เฉพาะในที่ประชุมกลุ่มวันนั้นได้ยารักษาโรคสะเก็ดเงินประมาณ 22 ตำรับ แต่ทุกตำรับก็เป็นกลุ่มยาประเภทเดียวกัน ใช้การวินิจฉัยในแนวทางเดียวกัน ซึ่งทุกตำรับที่เสนอมาล้วนถูกต้องตามตำรา สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ ทางการแพทย์แผนไทยเป็นองค์ความรู้ที่มาจากต้นตอเดียวกัน แต่ได้กระจายออกไปตามภูมิภาคต่าง ๆ และมีการปรับใช้ยาตามที่มีอยู่ในภูมิภาคของตนเองโดยมีการรวบรวม บันทึก และจารึกไว้จริง และมีผู้เล่าเรียนสืบต่อกันมาจนแพร่หลายไป แต่ทั้งที่จริงแล้วก็มาจากต้นตอเดียวกัน
นอกจากนี้ ดร.นพ.ฉัตรชัย ยังกล่าวถึงจุดอ่อนของแพทย์แผนไทยด้วยว่า จุดอ่อนของการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกคือ องค์ความรู้ทางแพทย์แผนไทยยังขาดการบันทึกผลการรักษาในทำนองของการเก็บข้อมูลแล้วรวบรวมเป็นผลงานวิจัย เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจจะเข้าไปช่วยอนุรักษ์ความรู้ทางแพทย์แผนไทยจะต้องติดตามหาข้อมูลและรวบรวมจดบันทึกเอง ซึ่งขณะนี้สิ่งที่ผมทำได้คือพยายามเก็บรวบรวมองค์ความรู้ที่ยังขาดโดยรวบรวมจากที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า เขียนเป็นรูปแบบของงานวิจัย และนำไปเผยแพร่ตามที่ต่าง ๆ ทุกทาง โดยเฉพาะการวิจัยเรื่องโรคสะเก็ดเงินซึ่งเป็นงานวิจัยที่ใช้รูปแบบการวิจัยแบบแผนปัจจุบัน เพื่อให้งานวิจัยออกมาได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ผู้อื่นที่สนใจสามารถใช้เป็นเอกสารอ้างอิงได้
สุดท้ายนี้ ดร.นพ.ฉัตรชัย ได้กล่าวถึงเป้าหมายที่ตั้งใจให้ฟังว่า เป้าหมายสูงสุดที่ผมตั้งความหวังไว้คือ ผมอยากให้แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเป็นแพทย์ที่ให้บริการด้านสุขภาพเคียงคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันทุกระดับ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมทุ่มเททำงานทางด้านนี้มากว่า 8 ปี ผมเห็นว่าแพทย์แผนไทยเป็นองค์ความรู้ที่ได้ถ่ายทอดกันมายาวนานและปลอดภัย มีสรรพคุณที่ดีจริง ๆ และสามารถใช้ในหลาย ๆ โรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ จึงอยากขอให้ทุกคนเชื่อมั่น ช่วยกันประคับประคองและเป็นกำลังใจ เห็นในความดีงามของศาสตร์แผนนี้ และช่วยให้ศาสตร์แผนนี้เจริญควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นสมบัติของประเทศชาติสืบต่อไป