ความเสี่ยงไตวายระยะสุดท้ายหลังบริจาคไต
JAMA. 2014;311(6):579-586.
บทความเรื่อง Risk of End-Stage Renal Disease Following Live Kidney Donation รายงานว่า การศึกษาความเสี่ยงไตวายระยะสุดท้ายในผู้บริจาคไตที่ผ่านมาใช้วิธีเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในกลุ่มประชากรทั่วไปอันเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองและเป็นตัวเปรียบเทียบที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งการเปรียบเทียบกับผู้บริจาคที่มีสุขภาพแข็งแรงและได้รับการตรวจคัดกรองน่าจะประมาณผลกระทบจากการบริจาคไตได้ดีกว่า นักวิจัยจึงเปรียบเทียบความเสี่ยงไตวายระยะสุดท้ายในผู้บริจาคไตกับความเสี่ยงในผู้ไม่ได้บริจาคซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงและมีความเสี่ยงต่ำต่อโรคไตและไม่มีข้อห้ามบริจาคไต โดยจำแนกผลการเปรียบเทียบตามข้อมูลด้านประชากรของผู้ป่วย
นักวิจัยเชื่อมโยงข้อมูลจากกลุ่มผู้บริจาคไต 96,217 รายในสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. 1994 ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011 และกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัย 20,024 รายในการศึกษา Third National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES III) กับข้อมูลของ Centers for Medicare & Medicaid Services เพื่อติดตามการเกิดไตวายระยะสุดท้ายประเมินจากการฟอกไต มีรายชื่อเป็นผู้รับบริจาคไต หรือได้รับการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว การติดตามมีระยะเวลาสูงสุด 15 ปี โดยมัธยฐานการติดตามเท่ากับ 7.6 ปี (interquartile range [IQR] 3.9-11.5 years) สำหรับผู้บริจาคไตและ 15.0 ปี (IQR 13.7-15.0 years) สำหรับผู้ที่ไม่ได้บริจาคไต และผลลัพธ์หลัก ได้แก่ อุบัติการณ์สะสมและความเสี่ยงตลอดชีวิตของไตวายระยะสุดท้าย
ข้อมูลจากผู้บริจาคไตซึ่งมีมัธยฐานการติดตาม 7.6 ปี (สูงสุด 15.0 ปี) พบการเกิดไตวายระยะสุดท้ายใน 99 รายโดยเฉลี่ย (SD) 8.6 (3.6) ปีหลังการบริจาค ในผู้ไม่ได้บริจาคไตที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งมีมัธยฐานการติดตาม 15.0 ปี (สูงสุด 15.0 ปี) พบไตวายระยะสุดท้ายใน 36 รายใน 10.7 (3.2) ปี โดยมีเหตุการณ์ของไตวายระยะสุดท้าย 17 เหตุการณ์ในกลุ่มผู้ไม่ได้บริจาคที่ไม่ได้จับคู่จำนวน 9,364 ราย ความเสี่ยงต่อไตวายระยะสุดท้ายที่ 15 ปีหลังการบริจาคเท่ากับ 30.8 ต่อ 10,000 (95% CI 24.3-38.5) ในผู้บริจาคไต และ 3.9 ต่อ 10,000 (95% CI 0.8-8.9) ในผู้ที่ไม่ได้บริจาค (p < 0.001) ความแตกต่างด้านความเสี่ยงพบทั้งในผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกันและยุโรป โดยมีค่าความเสี่ยงเท่ากับ 74.7 ต่อ 10,000 ในผู้บริจาคที่มีเชื้อสายแอฟริกัน (95% CI 47.8-105.8) vs 23.9 ต่อ 10,000 ในผู้ที่ไม่ได้บริจาคซึ่งมีเชื้อสายแอฟริกัน (95% CI 1.6-62.4; p < 0.001) และ 22.7 ต่อ 10,000 ในผู้บริจาคที่มีเชื้อสายยุโรป (95% CI 15.6-30.1) vs 0.0 ในผู้ที่ไม่ได้บริจาคซึ่งมีเชื้อสายยุโรป (p < 0.001) ความเสี่ยงตลอดชีวิตของไตวายเรื้อรังเท่ากับ 90 ต่อ 10,000 ในผู้บริจาค, 326 ต่อ 10,000 ในผู้ไม่ได้บริจาคและไม่ได้คัดกรอง (กลุ่มประชากรทั่วไป) และ 14 ต่อ 10,000 ในผู้ไม่ได้บริจาคซึ่งมีสุขภาพแข็งแรง
ข้อมูลจากการเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้บริจาคไตและมีสุขภาพแข็งแรงชี้ว่า ผู้ที่บริจาคไตมีความเสี่ยงต่อไตวายระยะสุดท้ายสูงขึ้นระหว่างมัธยฐาน 7.6 ปี แต่ความเสี่ยงสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ข้อมูลนี้จึงน่าจะส่งผลดีต่อการปรึกษาหารือกับผู้ที่กำลังพิจารณาการบริจาคไต