ผลติดตามอุบัติการณ์และการตายจากมะเร็งเต้านมระยะยาว
ในการศึกษา Canadian National Breast Screening Study
BMJ 2014;348:g366.
บทความเรื่อง Twenty Five Year Follow-Up for Breast Cancer Incidence and Mortality of the Canadian National Breast Screening Study: Randomised Screening Trial รายงานข้อมูลการติดตามเพื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์และอัตราตายจากโรคมะเร็งเต้านมในระยะเวลา 25 ปีในผู้หญิงอายุระหว่าง 40-59 ปี ซึ่งได้รับการตรวจเอกซเรย์เต้านมและไม่ได้รับการตรวจ โดยการตรวจคัดกรองมีขึ้นที่ศูนย์ตรวจมะเร็งเต้านม 15 แห่งในแคนาดาระหว่างปี ค.ศ. 1980-1985 และผู้เข้าร่วมวิจัยประกอบด้วยผู้หญิง 89,835 ราย ซึ่งสุ่มเป็นกลุ่มที่ตรวจเอกซเรย์เต้านม (ตรวจประจำปีรวม 5 ครั้ง) หรือกลุ่มควบคุม (ไม่ได้ตรวจเอกซเรย์เต้านม)
การแทรกแซงทำโดยให้ผู้หญิงอายุ 40-49 ปีในกลุ่มที่ตรวจเอกซเรย์เต้านมและผู้หญิงทั้งหมดที่อายุ 50-59 ปีในทั้งสองกลุ่มได้รับการตรวจเต้านมประจำปี และผู้หญิงอายุ 40-49 ปีในกลุ่มควบคุมได้รับการตรวจหนึ่งครั้งและได้รับการดูแลตามมาตรฐาน มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ การตายจากโรคมะเร็งเต้านม
ระหว่างระยะการตรวจคัดกรอง 5 ปี มีการตรวจพบมะเร็งเต้านม 666 รายในกลุ่มที่ตรวจเอกซเรย์เต้านม (n = 44,925) และ 524 รายในกลุ่มควบคุม (n = 44,910) และจากจำนวนนี้มีผู้หญิง 180 รายในกลุ่มตรวจเอกซเรย์เต้านมและ 171 รายในกลุ่มควบคุมที่เสียชีวิตระหว่างการติดตามเป็นระยะเวลา 25 ปี ค่า hazard ratio โดยรวมสำหรับการตายเนื่องจากมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบระหว่างระยะการตรวจคัดกรองที่สัมพันธ์กับการเอกซเรย์เต้านมเท่ากับ 1.05 (95% confidence interval 0.85-1.30) โดยผลลัพธ์สำหรับผู้หญิงอายุ 40-49 ปี และ 50-59 ปีแทบไม่แตกต่างกัน ระหว่างระยะการศึกษาทั้งหมดมีผู้หญิง 3,250 รายในกลุ่มเอกซเรย์เต้านม และ 3,133 รายในกลุ่มควบคุมที่ตรวจพบมะเร็งเต้านม โดยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 500 ราย และ 505 รายในแต่ละกลุ่ม อัตราตายสะสมจากโรคมะเร็งเต้านมจึงไม่ต่างกันระหว่างผู้หญิงในกลุ่มเอกซเรย์เต้านมและกลุ่มควบคุม (hazard ratio 0.99, 95% confidence interval 0.88-1.12) ภายหลังการติดตาม 15 ปี พบมะเร็งอีก 160 รายในกลุ่มตรวจเอกซเรย์เต้านมอันเป็นผลจากการวินิจฉัยเกิน
การตรวจเอกซเรย์เต้านมประจำปีในผู้หญิงอายุ 40-59 ปี ไม่ลดอัตราตายจากโรคมะเร็งเต้านมได้มากกว่าการตรวจเต้านมหรือการดูแลมาตรฐาน โดยรวมพบว่า 22% (106/484) ของมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบเป็นการวินิจฉัยเกิน หรือมีกรณีตรวจพบมะเร็งเต้านมจากการวินิจฉัยเกินหนึ่งรายในผู้หญิงทุก 424 รายที่ตรวจเอกซเรย์เต้านมในการศึกษานี้