ต้องไม่เป็นโรคมะเร็งที่ป้องกันได้
โรคมะเร็งที่พบบ่อยทั่วโลกคือ มะเร็งปอด เต้านม ลำไส้ใหญ่ และปากมดลูก และโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดตามลำดับ คือ มะเร็งปอด ตับ กระเพาะอาหาร ปากมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่ (ยกเว้นกระเพาะอาหาร)สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้ เช่น มะเร็งปอด เพียงงดสูบบุหรี่ รวมทั้งไม่ไปอยู่ใกล้ ๆ ผู้อื่นที่สูบบุหรี่ด้วย ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของปอด (และโรคอื่น ๆ) จะลดลงไปมาก ส่วนมะเร็งของเต้านม ลำไส้ใหญ่ ตับ มีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน ฉะนั้นจึงสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการทำตัวไม่ให้อ้วน รวมทั้งไม่รับประทานเนื้อสัตว์โดยเฉพาะมันสัตว์มาก ด้วยการรับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลตนเองไม่ให้อ้วนด้วยการออกกำลังกายและคุมอาหารที่ถูกต้องเพื่อให้ดัชนีมวลกาย หรือ body mass index (BMI) อยู่ต่ำกว่า 23 (BMI คือ น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง) และพุงชายหญิงเล็กกว่า 90 และ 80 ซม. ตามลำดับ การออกกำลังกายที่ถูกต้องคือ การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เต้นแอโรบิก ฯลฯ ทุกวัน วันละ 30 นาที หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมคือ การรับประทานอาหารหนักไปทางพืช ผัก ผลไม้ ปลา เป็นหลัก พยายามหลีกเลี่ยงมันสัตว์ หนังสัตว์ เครื่องใน ของทอด น้ำหวาน ของหวาน ข้าว แป้ง ฯลฯ ส่วนมะเร็งตับยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป (ไม่ควรดื่มมากกว่า 3 และ 2 หน่วยต่อวันสำหรับผู้ชาย และผู้หญิง ตามลำดับ โดย 1 หน่วยคือ 30 ซีซีของวิสกี้ หรือเบียร์ 1 กระป๋อง หรือ 85 ซีซีของไวน์) จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี (ทำให้เกิดมะเร็งของเนื้อตับ) และจากการรับประทานปลาร้าที่ดิบ (เนื่องจากปลาร้าที่ดิบจะมีพยาธิใบไม้ของตับที่จะทำให้เกิดมะเร็งของท่อน้ำดีในตับได้) หลักการของการติดต่อไวรัสตับอักเสบบีและซีคือ จากเลือด และผลิตภัณฑ์เลือด (คือน้ำคัดหลั่ง เช่น น้ำในช่องคลอด) ส่วนวิธีการติดต่อคือ ตอนเด็กเกิดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสบีหรือซี ซึ่งปัจจุบันนี้รัฐบาลฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสบีให้แล้วตอนแรกเกิด ส่วนเชื้อไวรัสซียังไม่มีวัคซีน แต่โชคดีที่โรคนี้แม่ส่งเชื้อมาให้ลูกได้ไม่มากคือ ไม่เกิน 8% ฉะนั้นโดยสรุป ถ้าไม่มีเชื้อไวรัสบีและซีจากแม่ตอนเกิด เราจะติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือการใช้เข็มฉีดยาที่สกปรกที่มีเชื้อ เช่น ในกลุ่มผู้ฉีดยาเสพติดที่ใช้เข็มสกปรกร่วมกัน ฉะนั้นการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแล้วจึงสามารถป้องกันได้ ถ้ามีความรู้ และมีวินัย
นอกจากพฤติกรรมที่กล่าวแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำอีกว่าผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมตนเองทุกเดือนและโดยแพทย์ทุกปี สำหรับลำไส้ใหญ่ทุก ๆ คนควรไปตรวจคัดกรองหาว่าที่มะเร็งหรือมะเร็งในระยะเริ่มแรกเมื่อมีอายุ 50 ปี หรือถ้ามีญาติเป็นโรคนี้ควรไปปรึกษาแพทย์ทันทีที่ทราบ เพราะว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้อยู่ดี ๆ เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา แต่ตอนเริ่มแรกจะมีติ่งเนื้อธรรมดา ๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง หลังจากนั้น 10-20 ปีจึงจะกลายเป็นมะเร็ง การตรวจคัดกรองถ้าเห็นติ่งแล้วตัดออกก็จะหายขาด
ส่วนมะเร็งปากมดลูกนั้นป้องกันได้มากอยู่แล้วด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน 2 เข็มตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ เช่น ตั้งแต่อายุ 11-12 ปี แต่ถึงแม้ฉีด (หรือไม่ได้ฉีด) เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้ไปตรวจภายในทุกปี เพราะมะเร็งชนิดนี้เป็น “ว่าที่” มะเร็งอยู่นานก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งถ้าตรวจพบ “ว่าที่” มะเร็ง ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยง่าย
ส่วนมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคเดียวที่ป้องกันได้น้อยมาก เพียงแต่ว่าถ้ามีแผลในกระเพาะอาหาร ควรตรวจหาเชื้อโรค Helicobacter pylori ซึ่งทราบตั้งแต่ ค.ศ. 1982 ว่าทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผล เป็นมะเร็งได้ ฉะนั้นผู้ที่มีแผลควรตรวจหาเชื้อโรค Helicobacter pylori และกำจัดเสียถ้ามี รวมทั้งรับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ ลดการรับประทานเค็ม ของหมักดอง ฯลฯ
จึงอยากย้ำว่าท่านผู้อ่านสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้หลายชนิด ถึงแม้ยังมีมะเร็งอีกหลายชนิดที่เรายังไม่สามารถป้องกันได้ แต่ปรัชญาของผมคือ ต้องป้องกันโรคที่ป้องกันได้