ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉียบพลันหลังเป็นม่าย

ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉียบพลันหลังเป็นม่าย

JAMA Intern Med. Published online February 24, 2014.

บทความเรื่อง Increased Risk of Acute Cardiovascular Events after Partner Bereavement: A Matched Cohort Study อ้างถึงข้อมูลจากการศึกษาก่อนหน้านี้ที่รายงานว่า ช่วงเวลาภายหลังจากเพิ่งเป็นม่ายเป็นช่วงที่ความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการศึกษาระดับความเสี่ยงไว้อย่างชัดเจน ขณะที่งานวิจัยขนาดใหญ่ที่ศึกษาการตายของคู่ชีวิตก็มีไม่มากนัก

นักวิจัยเปรียบเทียบอัตราการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดระหว่างผู้สูงอายุที่คู่ชีวิตเสียชีวิตกับกลุ่มควบคุมที่คู่ชีวิตยังคงมีชีวิตอยู่ โดยศึกษาจากฐานข้อมูลบริการปฐมภูมิของสหราชอาณาจักรครอบคลุมข้อมูลจากเวชปฏิบัติทั่วไป 401 แห่งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 ถึงกันยายน ค.ศ. 2012 และเปรียบเทียบระหว่างผู้เข้าร่วมวิจัยอายุ 60-89 ปี จำนวน 30,447 ราย ซึ่งคู่ชีวิตเสียชีวิตระหว่างการติดตามกับกลุ่มควบคุมที่คู่ชีวิตยังมีชีวิตอยู่ (n = 83,588)

ผลลัพธ์ปฐมภูมิ ได้แก่ การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ถึงแก่ชีวิตหรือไม่ถึงแก่ชีวิต หรือสโตรคภายใน 30 วันหลังการตายของคู่ชีวิต และผลลัพธ์รอง ได้แก่ หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ไม่ใช่กล้ามเนื้อหัวใจตาย และลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด นักวิจัยเปรียบเทียบผลลัพธ์ทั้งหมดระหว่างช่วงเวลาหลังการเสียชีวิตของคู่ชีวิต (30, 90 และ 365 วัน) โดยปรับค่า incidence rate ratios (IRRs) จากตัวแบบ conditional Poisson model ตามอายุ การสูบบุหรี่ อดนอน และประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด

ภายใน 30 วันหลังการเสียชีวิตของคู่ชีวิตพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัย 50 รายในกลุ่มที่เป็นม่าย (0.16%) เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเทียบกับ 67 รายในกลุ่มควบคุม (0.08%) ในช่วงเดียวกัน (IRR 2.20 [95% CI 1.52-3.15]) ความเสี่ยงที่สูงขึ้นพบในทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่คู่ชีวิตเสียชีวิต และอ่อนลงหลัง 30 วัน โดยมี IRR ของกล้ามเนื้อหัวใจตายเท่ากับ 2.14 (95% CI 1.20-3.81) และสโตรคเท่ากับ 2.40 (1.22-4.71) และยังพบความเสี่ยงสูงขึ้นต่อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ไม่ใช่กล้ามเนื้อหัวใจตาย (IRR 2.20 [95% CI 1.12-4.29]) และลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (2.37 [1.18-4.75]) ในช่วง 90 วันแรกหลังการตาย

ข้อมูลจากการศึกษานี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่ชี้ว่าการตายของคู่ชีวิตสัมพันธ์กับเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงในระยะสั้นหลังเป็นม่าย ซึ่งการศึกษาปัจจัยด้านจิตสังคมที่สัมพันธ์กับอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดอาจส่งผลดีต่อการป้องกันและปรับปรุงการดูแลรักษา