การตัดเต้านมข้างที่เหลือและการรอดชีพในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มี BRCA1 และ BRCA2 Mutations
BMJ 2014;348:g226.
บทความเรื่อง Contralateral Mastectomy and Survival after Breast Cancer in Carriers of BRCA1 and BRCA2 Mutations: Retrospective Analysis รายงานข้อมูลจากการศึกษาแบบ retrospective analysis เพื่อเปรียบเทียบอัตราการรอดชีพในผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมซึ่งสัมพันธ์กับยีน BRCA ระหว่างกลุ่มที่ตัดเต้านมข้างที่เหลือและกลุ่มที่ไม่ได้ตัดเต้านม
นักวิจัยศึกษาจากผู้หญิง 390 รายซึ่งมีประวัติมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 หรือ 2 และมีการกลายพันธ์ุของยีน BRCA1 และ BRCA2 ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับการรักษาด้วยการตัดเต้านมข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และผู้หญิง 181 รายได้ตัดเต้านมข้างที่เหลือ การติดตามผู้ป่วยมีระยะเวลา 20 ปีนับจากตรวจพบ โดยมาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ การตายเนื่องจากโรคมะเร็งเต้านม
มีผู้หญิง 79 รายเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในช่วงการติดตาม (18 รายในกลุ่มตัดเต้านมทั้งสองข้าง และ 61 รายในกลุ่มตัดเต้านมข้างเดียว) มัธยฐานการติดตามเท่ากับ 14.3 ปี (range 0.1-20.0 years) ที่ 20 ปีพบว่า อัตราการรอดชีพสำหรับผู้หญิงที่ตัดเต้านมข้างที่เหลือเท่ากับ 88% (95% confidence interval 83-93%) และผู้หญิงที่ไม่ได้ตัดเต้านมข้างที่เหลือเท่ากับ 66% (59-73%) จากการวิเคราะห์พหุตัวแปรซึ่งควบคุมอายุที่ตรวจพบ ปีที่ตรวจพบ การรักษา และปัจจัยพยากรณ์อื่นพบว่า การตัดเต้านมข้างที่เหลือสัมพันธ์กับการลดลง 48% ของการตายเนื่องจากมะเร็งเต้านม (hazard ratio 0.52, 95% CI 0.29-0.93; p = 0.03) จากการวิเคราะห์ปรับคะแนนความโน้มเอียงใน 79 คู่พบว่า ความสัมพันธ์ไม่มีนัยสำคัญ (0.60, 0.34-1.06; p = 0.08) ซึ่งจากผลลัพธ์นี้นักวิจัยทำนายว่า จากผู้หญิง 100 รายที่ตัดเต้านมข้างที่เหลือจะมีผู้หญิง 87 รายที่ยังคงมีชีวิตอยู่ที่ 20 ปี เทียบกับ 66 รายจาก 100 รายที่ตัดเต้านมออกข้างเดียว
ข้อมูลจากการศึกษานี้เสนอแนะว่าผู้หญิงที่มีการกลายพันธ์ุของยีน BRCA และได้รับการรักษามะเร็งเต้านมระยะที่ 1 หรือ 2 ด้วยการตัดเต้านมทั้งสองข้างมีแนวโน้มการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมต่ำกว่าผู้หญิงที่ตัดเต้านมข้างเดียว อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อยืนยันผลลัพธ์ เนื่องจากมีการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่น้อย