30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ? (ตอนจบ)

30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ? (ตอนจบ)

11. ประชาชน (บางกลุ่ม) ไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง เนื่องจากระบบ 30 บาททำให้ประชาชนไม่พึ่งตนเองในการดูแลรักษาสุขภาพ ดังที่กล่าวแล้วว่า นโยบาย 30 บาทได้โฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อเรียกความนิยมจากประชาชนตลอดเวลา ทำให้ประชาชนไม่สนใจที่จะระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพ หรือปล่อยปละละเลยในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แม้เริ่มเจ็บป่วยเล็กน้อยก็ไม่รีบดูแลรักษาเอง แต่ผลักภาระไปให้โรงพยาบาลดูแลรักษามากขึ้น จึงทำให้ประชาชนไม่มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น แต่มีการเจ็บป่วยที่ต้องไปพึ่งพาโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น

12. ทำให้กระทรวงสาธารณสุขขาดทรัพยากรและขาดเอกภาพในการบริหารงาน ขาดงบประมาณ ขาดบุลากร ขาดการพัฒนาอาคารสถานที่ เทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะอธิบายดังนี้

ตามปกติแล้ว กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ อนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนและราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ซึ่งในการที่จะทำงานใด ๆ ในอำนาจหน้าที่นั้น กระทรวงสาธารณสุขจะต้องได้รับงบประมาณ บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และอาคารสถานที่ในการทำงานในความรับผิดชอบ ซึ่งก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงจากสำนักงบประมาณแผ่นดินในการจ่ายเงินเดือนให้แก่บุคลากรที่ทำงานในสังกัดกระทรวง และได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง พัฒนา ปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารสถานที่ รวมทั้งวัสดุครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และทุกสิ่งที่จำเป็นในการทำงานในอำนาจหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.นี้

แต่ภายหลังที่ได้มีการออก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว งบประมาณต่าง ๆ ที่กระทรวงจะได้รับนั้น กลับถูกส่งผ่านไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกือบทั้งหมด แม้แต่เงินเดือนของบุคลากรก็รวมอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัวในการรักษาสุขภาพประชาชนในระบบบัตรทอง เงินงบประมาณในการสร้าง ซ่อมแซม และพัฒนาอาคารสถานที่ เครื่องมือ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ต้องแบ่งเอามาจากเงินเหมาจ่ายรายหัวที่สำนักงบประมาณส่งให้แก่ สปสช. ตามแต่ที่ สปสช. จะกำหนด

ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่กระทรวงสาธารณสุขจะขาดแคลนการพัฒนา ซ่อมแซม ปรับปรุงหรือก่อสร้างอาคารสถานที่ แม้เครื่องมือแพทย์หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้รับมาโดยตรง ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทรุดโทรม เก่าคร่ำคร่า ขาดแคลนเครื่องมือเครื่องใช้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตลอดหลังจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทำให้อาคารสถานที่ของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็ทรุดโทรมและแออัดยัดเยียด ไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มีมากขึ้น ดังที่ได้กล่าวแล้ว

จนมาในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณไทยเข้มแข็ง เป็นงบประมาณที่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขได้รับโดยตรงในการพัฒนาอาคารสถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้ และเทคโนโลยีใหม่ หลังจากที่ไม่ได้รับงบประมาณแบบนี้มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการออกมากล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน พี่ใหญ่ของชมรมแพทย์ชนบทจนถึงกับได้ท้าทายให้รัฐบาลตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้แต่งตั้ง นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานกรรมการสอบสวน และตั้ง นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้กล่าวหา เป็นเลขานุการคณะกรรมการสอบสวนในโครงการนี้ จนทำให้นายวิทยา แก้วภราดัย ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่หลังจากนั้นก็ไม่สามารถสอบสวนว่ามีการทุจริตจริง ทำให้การพัฒนาอาคารสถานที่และเทคโนโลยีดังกล่าวต้องชะงักไปชั่วคราว

จึงเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งของกระทรวงสาธารณสุขกำลังมีการก่อสร้างปรับปรุงอยู่หลายแห่ง

ส่วนการขาดแคลนบุคลากรนั้น ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถที่จะขยายอัตรากำลังในการบรรจุบุคลากรให้เพียงพอเหมาะสมกับภาระงาน เนื่องจากสำนักงาน ก.พ. ยึดติดอยู่กับมติคณะรัฐมนตรีที่จะแช่แข็งตำแหน่งข้าราชการ โดยไม่มีการพิจารณาถึงภาระงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยนั้น กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงในการทำงานเหล่านี้ โรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องไปขอรับเงินจาก สปสช. ที่จ่ายเงินให้โรงพยาบาลไม่เท่ากับที่โรงพยาบาลต้องใช้จริง

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานี้จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขขาดเอกภาพในการทำงานตามภาระหน้าที่ และทำให้เกิดความถดถอยในการบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข

13. ระบบการประกันสุขภาพเกิดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน นโยบาย 30 บาททำให้เกิดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทั้ง 65 ล้านคนดังที่กล่าวมาแล้ว กล่าวคือ ประชาชน 48 ล้านคน ทั้งคนจนและไม่จนได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าตนเอง โดยรัฐบาลจ่ายเงินจากภาษีของคนไทยทุกคนแทนประชาชนกลุ่มนี้ ในขณะที่ประชาชนในกลุ่มประกันสังคมต้องจ่ายเงินตนเองสมทบจึงจะได้รับการรักษาพยาบาล และข้าราชการต่างก็ต้องเสียสละทำงานรับใช้ประชาชนโดยได้รับเงินเดือนน้อยจึงจะได้รับการรักษาสุขภาพ

14. โรงพยาบาลภาครัฐขาดการพัฒนา นโยบาย 30 บาททำให้โรงพยาบาลภาครัฐเสื่อมโทรม ขาดแคลน ทั้งคน เงิน ของ ดังกล่าวแล้ว แต่โรงพยาบาลเอกชนรุ่งเรืองเฟื่องฟู และมีการพัฒนาดีมากกว่าเดิม สามารถจูงใจบุคลากรทางการแพทย์ออกมาจากภาครัฐได้มาก และสามารถให้การบริการที่ดีมีมาตรฐาน ทำให้ประชาชนที่มีเงินพอได้ออกมาใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลมีรายได้มากขึ้น สามารถทำกำไรได้มากขึ้นทุก ๆ ปี และโรงพยาบาลเอกชนยังมีเตียง มีห้อง และสถานที่ที่จะรองรับผู้ป่วย (ที่มีเงินพอจ่าย) ได้อีกมาก ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐบาลก็มีไม่พอที่จะรองรับผู้ป่วย (ทั้งจนและไม่จน) ได้เพียงพอดังกล่าวมาแล้ว

จึงปรากฏว่าโรงพยาบาลรัฐบาลมีไว้สำหรับบริการฟรี คนจนจึงยิ่งจนเพราะต้องเสียเวลาทำมาหากินเป็นวัน ๆ ในการไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ และยังได้รับการรักษาที่อาจจะไม่ได้มาตรฐานที่ดีที่สุดอีกด้วย

15. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีเงินใช้จ่ายฟุ่มเฟือย บุคลากรและกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนสูงลิ่ว ทั้ง ๆ ที่มีหน้าที่เป็นเพียงหน่วยงานที่จ่ายเงิน “ค่าบริการสาธารณสุขให้แก่สถานพยาบาล” (ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545) เท่านั้น ในขณะที่ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันจากหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบคือ ก.พ.ร. แต่ สปสช. กลับไปจ้างองค์กรเอกชนให้มาประเมินการทำงานว่าดีเลิศทุกปี แม้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะชี้ว่ามีความผิดถึง 7 ประเด็น แต่ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็มิได้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดแต่อย่างใด

โดยสรุป นโยบายประชานิยม 30 บาทนี้ เป็นนโยบายที่มีแนวคิดดีในการที่จะช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

แต่มีผลเสียหายเกิดขึ้นจากระบบ 30 บาทมากมายดังกล่าวมาแล้ว เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ย แล้วไม่บอกให้ประชาชนทราบว่าไม่ได้ให้การรักษาตามมาตรฐานที่ทันสมัยที่สุด ทำให้ประชาชนพลาดโอกาสที่จะหายจากโรค

แต่ทั้ง ๆ ที่งบประมาณที่จัดสรรมานั้นไม่เพียงพอต่อการจัดบริการที่ได้มาตรฐานแล้ว แต่รัฐบาลก็ต้องเพิ่มงบประมาณมากขึ้นถึง 3 เท่าภายในระยะ 12 ปีที่ผ่านมา แต่งบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นนี้ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้การรักษาได้มาตรฐานอยู่ดี

และการไม่ได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัว ทำให้ประชาชนไม่สนใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันอุบัติเหตุ และป้องกันโรค เพราะความประมาทว่าถึงเจ็บป่วยก็ไม่ต้องเตรียมทรัพย์สินไว้สำหรับการรักษาตัว เพราะมีระบบ 30 บาทคอยรองรับ เท่ากับเป็นการผลักภาระให้ภาครัฐรับภาระมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จึงทำให้ประชาชนเหล่านี้ มีสุขภาพไม่แข็งแรงเท่าที่ควร และทำให้อัตราการเจ็บป่วยของประชาชนไทยไม่ลดน้อยลงเลย

ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงว่า แล้วจะปฏิรูประบบ 30 บาทที่เป็นประชานิยมอย่างไรจึงจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ในระบบ 30 บาท รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพและการสาธารณสุข