30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ (ต่อ)

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ (ต่อ)

สิ่งที่ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้เกี่ยวกับการดำเนินงานตามระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้แก่ การขาดคุณภาพมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข

การขาดคุณภาพมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขนี้มีสาเหตุสำคัญมาจาก “การขาดแคลนทรัพยากรในการให้บริการสาธารณสุข”

ประชาชนทั่วไปทั้งผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับการประกันสุขภาพในระบบ 30 บาท หรือประชาชนกลุ่มอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิ์จากระบบ 30 บาท ต่างก็ไม่ทราบความจริงว่า การดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน (หรือเรียกตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า “การบริการสาธารณสุข”) ในระบบ 30 บาท หรือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เป็นการดูแลรักษาความเจ็บป่วยที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานทางการแพทย์ที่ดีที่สุดที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะสามารถที่จะดำเนินการให้ “บริการ” แก่ผู้ป่วยได้ ทั้งนี้เนื่องจากโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือที่รวมเรียกว่า “สถานบริการสาธารณสุข” ที่ให้บริการแก่ประชาชนในระบบ 30 บาทนั้น ไม่สามารถที่จะให้บริการที่มีมาตรฐานที่ดีที่น่าพึงพอใจได้ ทั้งนี้เนื่องจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่รับผิดชอบในหน้าที่ให้บริการแก่ประชาชนนั้น ส่วนใหญ่คือสถานพยาบาลในสังกัดราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความขาดแคลนทรัพยากรในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนดังกล่าวมาแล้ว

ทรัพยากรในการให้บริการสาธารณสุขนั้น หมายความรวมถึงทรัพยากรทุกชนิดที่ต้องมีให้เพียงพอทั้งจำนวน และคุณภาพมาตรฐาน เพื่อที่จะสามารถจัดให้มีบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปลอดภัยตามมาตรฐานที่ทันสมัย ทัดเทียมกับมาตรฐานทางการแพทย์ของนานาอารยประเทศ ที่ประเทศไทยเคยมีชื่อเสียงมาก่อนว่า มาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขไทยนั้นมีคุณภาพมาตรฐานที่ดีมากที่สามารถเปรียบเทียบกับต่างประเทศได้ ทั้งนี้การพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขไทยได้ก้าวไกลมาจนเทียมบ่าเทียมไหล่กับต่างประเทศนี้ บังเกิดขึ้นได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ได้ทรงสนับสนุนส่งเสริมในการพัฒนาวิชาการแพทย์และสาธารณสุขไทยให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงบัดนี้

แต่ในปัจจุบันนี้ การให้บริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนพลเมืองไทยกำลังเสี่ยงต่อการขาดแคลนคุณภาพมาตรฐานที่ดี ๆ แบบเดิม และมีความเสี่ยงที่จะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากเกิดความขาดแคลนทรัพยากรในการให้บริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไป กล่าวคือบริการสาธารณสุขภาครัฐตกต่ำลงเพราะความขาดแคลนทรัพยากร แต่การบริการสาธารณสุขของเอกชนเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพราะมีประชาชนไปใช้บริการมากขึ้น โรงพยาบาลมีรายได้สูงขึ้น สามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานได้ต่อเนื่อง เพราะไม่มีความขาดแคลนด้านทรัพยากรใด ๆ

ทรัพยากรที่จำเป็นในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน ได้แก่

1. ทรัพยากรบุคคล

2. เงินงบประมาณในการดำเนินการ

3. สิ่งของที่จำเป็นในการให้บริการสาธารณสุข

ซึ่งจะขอกล่าวถึงรายละเอียดโดยย่อพอเข้าใจในเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรทั้ง 3 ประเภทในโรงพยาบาลหรือสถานบริการของรัฐบาลไทย ดังนี้คือ

1. การขาดแคลนทรัพยากรบุคคล เริ่มตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดในการดูแลรักษาผู้ป่วย ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ และบุคลากรที่จำเป็นในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งมีอยู่อีกหลายสิบสาขา ซึ่งบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เหล่านี้ต่างก็ล้วนมีความสำคัญต่อการจัดบริการสาธารณสุขทั้งสิ้น โดยบุคลากรในแต่ละสาขาวิชาชีพเหล่านั้น นอกจากจะเป็นบุคลากรทั่วไปแล้ว ยังต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละสาขาย่อย แต่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจงอย่างลึกซึ้งเฉพาะแต่ละสาขา เริ่มตั้งแต่การวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้ถูกต้อง ก็อาจจะต้องอาศัยนักวิทยาศาสตร์หรือนักเทคนิคการแพทย์ในการช่วยทำการค้นคว้าทางห้องทดลอง เช่น การตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ หรือนักเทคนิครังสีวิทยาช่วยทำการเอกซเรย์ผู้ป่วย หรือในสาขาวิชาชีพแพทย์นั้น นอกจากมีแพทย์ทั่วไปแล้ว ยังมีแพทย์เฉพาะทาง เช่น แพทย์ที่รักษาโรคทั่วไปก็อาจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะไว้เพื่อให้การปรึกษาในการรักษาอาการป่วยที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น อายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ หรือศัลยแพทย์เชี่ยวชาญในการผ่าตัด แต่ศัลยแพทย์จะทำผ่าตัดได้ก็ต้องมีบุคลากรในสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ร่วมทำงานใน “ทีมงาน” ที่เชี่ยวชาญในห้องผ่าตัด ตัวอย่างเช่น วิสัญญีแพทย์ พยาบาลที่เชี่ยวชาญในการช่วยผ่าตัด รวมทั้งผู้ช่วยเหลือในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในขณะผ่าตัดด้วย รวมทั้งบุคลากรอื่น ๆ อีกมากมายในโรงพยาบาล

การให้บริการสาธารณสุขจึงจำเป็นที่จะต้องมีทรัพยากรบุคคลที่รวมกันเป็นทีมงานในการทำงานที่รวมเรียกว่า “สหสาขาวิชาชีพ” ในทางการแพทย์ และยังต้องมี “ผู้ร่วมงาน” ที่ไม่ใช่ผู้มีวิชาชีพทางการแพทย์ร่วมด้วยอีกมากมาย ตั้งแต่พนักงานทำความสะอาด พนักงานบันทึกสถิติเวชระเบียนและประวัติผู้ป่วย พนักงานบัญชีและการเงิน พนักงานรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน นักกฎหมาย นักจัดการอาหาร พนักงานซักฟอกเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอน ฯลฯ

และสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งล้วนขาดแคลนบุคลากรแทบทุกประเภททั้งหมดทั้งสิ้นแทบทุกแห่ง

ความขาดแคลนทรัพยากรบุคคลในการ “ให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน” นี้เอง เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการบริการที่มี “คุณภาพมาตรฐาน” ที่ดีที่สุด หรือได้รับการรักษาพยาบาลที่ต่ำกว่ามาตรฐานทางวิชาการทางการแพทย์

ผลกระทบต่อการที่ประชาชนไม่ได้รับการบริการสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐานที่ดีที่สุดนั้น จะนำไปสู่การที่ประชาชนมีสุขภาพ “ไม่ดีขึ้นเท่าที่การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในยุคปัจจุบันที่สามารถทำได้” กล่าวคือ รักษาไม่หาย ดื้อยา กลายเป็นโรคเรื้อรัง มีอาการแทรกซ้อน อาการทรุดหนักลง หรือถึงแก่ความตายโดยยังไม่สมควรตาย

ซึ่งสถานะสุขภาพประชาชนดังกล่าวนั้น ประชาชนที่ยากจนหรือด้อยโอกาสในชนบทนั้นก็คงไม่ทราบความจริงว่า ถ้าไม่มีความขาดแคลนทรัพยากรในการให้บริการสาธารณสุขแล้ว ตัวผู้ป่วยเอง หรือญาติพี่น้องของเขา ก็คงจะฟื้นไข้ หายจากการเจ็บป่วย ไม่เป็นการเจ็บป่วยเรื้อรังเพราะได้รับยาที่ไม่เหมาะสมกับอาการป่วย ไม่มีอาการแทรกซ้อนหรืออาการอันไม่พึงประสงค์ ไม่พิการหรือตายโดยยังไม่สมควรตาย และได้รับการดูแลรักษาเอาใจใส่อย่างดีจากบุคลากรที่เชี่ยวชาญในจำนวนที่เหมาะสม ไม่ต้องเสียเวลารอคอยนาน จนทำให้อาการเจ็บป่วยกำเริบหนัก หรือเสียเวลาในการทำมาหาเลี้ยงชีพประจำวัน เนื่องจากต้องไปเสียเวลาในการไปรอรับการรักษาที่โรงพยาบาลทั้งวัน หรือต้องรอคิวในการผ่าตัดเป็นเวลานาน ๆ แต่ประชาชนในอำเภอต่าง ๆ จะได้ประสบปัญหาไม่มีเตียงนอนในโรงพยาบาล ต้องหอบเสื่อไปปูนอนตามระเบียง ตามหน้าบันได หน้าลิฟต์ มองเห็นความขาดแคลนทางกายภาพที่เป็นประจักษ์พยานเท่านั้น ยังไม่ตระหนักถึงคุณภาพการรักษาที่เป็นนามธรรมเท่าใดนัก

ซึ่งแตกต่างจากประชาชนที่มีการศึกษาดี มีความรู้ในเรื่องอาการเจ็บป่วยหรือการดูแลรักษาสุขภาพอยู่บ้าง เมื่อไปรับบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล แล้วได้รับผลการรักษาที่ไม่ดีขึ้นตามที่คาดหวังเอาไว้ (ไม่ว่าจะตั้งความหวังไว้ดีเกินจริง หรือตั้งความหวังไว้ตามความเข้าใจที่ตรงกับความเป็นจริงของอาการเจ็บป่วยของตน) แล้ว บุคคลเหล่านี้เมื่อพบกับความผิดหวังจากการไปรับการรักษาก็จะ “กล่าวหา” หรือฟ้องร้องแพทย์/โรงพยาบาลที่ให้การรักษาแก่ตนหรือญาติในกรณีที่ผลการรักษาที่ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้

ทั้งนี้หลังจากที่รัฐบาลได้จัดการให้มีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเริ่มดำเนินการตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคแล้ว ได้มีปรากฏการณ์ใหม่ในวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยเกิดขึ้นตามมาแทบจะทันทีทันใด กล่าวคือประชาชนฟ้องร้องแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น นอกจากการฟ้องร้องไปยังองค์กรวิชาชีพ เช่น แพทยสภาแล้ว ประชาชนยังนำเรื่องไปฟ้องศาล ฟ้องตำรวจ ฟ้องสื่อสารมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งมีการกล่าวหาในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ “สังคมออนไลน์” มากขึ้นหลายร้อยหลายพันเท่า มากกว่าในขณะที่ยังไม่มีโครงการ 30 บาท

การฟ้องศาลในคดีหนึ่งที่กล่าวขวัญกันมากก็คือ ในคดีผ่าตัดไส้ติ่งที่เกิดภาวะแทรกซ้อนในการให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลังจนเป็นผลให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย และศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกแพทย์ผู้ให้ยาระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วยรายนี้เป็นเวลาถึง 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าเรามาพิจารณารายละเอียดในกรณีนี้ ทั้งฝ่ายผู้ป่วยและแพทย์ผู้ให้การรักษาแล้ว เราก็จะพบว่า ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยที่สมควรจะต้องได้รับการผ่าตัด บ้านของผู้ป่วยอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลชุมชน แต่โรงพยาบาลชุมชนนั้นไม่มีวิสัญญีแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง แต่แพทย์ที่อยู่ประจำในขณะนั้นมีความตั้งใจดีที่จะทำการให้ยาระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดไส้ติ่งได้ แต่เมื่อแพทย์ให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลังผู้ป่วยไปแล้ว เกิดอาการแทรกซ้อนในการให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง (ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้แม้อยู่ในมือของวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเอง) และแพทย์ได้ช่วยแก้ไขจนผู้ป่วยมีอาการทรงตัวแล้ว แพทย์ได้นำผู้ป่วยไปส่งในโรงพยาบาลใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพดีและเหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยอาการหนัก แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยฟื้นคืนชีพได้ และทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมในที่สุด

ทางผู้ป่วยและญาติเองได้รับความสูญเสียอย่างร้ายแรงถึงกับเสียชีวิต และในส่วนของแพทย์เองก็ได้รับความสูญเสียอย่างรุนแรงถึงกับต้องถูกตัดสินให้ถูกจำคุกถึง 4 ปี ทั้ง ๆ ที่แพทย์เองมีความตั้งใจดีที่จะรักษาอาการเจ็บป่วยทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวดของผู้ป่วย

กรณีที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นกรณีที่ร้ายแรงและสะเทือนขวัญแพทย์ไทยทั่วประเทศ จนสภาวิชาชีพคือแพทยสภาได้ออกคำเตือนแก่แพทย์ทั่วประเทศว่า ถ้าโรงพยาบาลแห่งใดไม่มีวิสัญญีแพทย์ประจำโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ไม่ควรทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งคำเตือนของแพทยสภานี้เองก่อให้เกิดผลกระทบแก่โรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอในประเทศไทยที่หยุดทำการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยทุกชนิดที่ต้องการให้การระงับความรู้สึกทั่วไป (General Anesthesia) จะทำผ่าตัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถให้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่ (Local Anesthesia) เท่านั้น

ผลกระทบต่อจากกรณีผ่าตัดไส้ติ่งในผู้ป่วยคนนี้จึงทำให้ผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการผ่าตัดมีความปลอดภัยจากอาการแทรกซ้อนจากการที่แพทย์ให้การระงับความรู้สึก แต่ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ป่วยต้องเดินทางไกลไปยังโรงพยาบาลจังหวัดที่ห่างไกลบ้าน และผู้ป่วยต้องเสียเวลารอคอยคิวผ่าตัดนานขึ้น รอคอยที่จะมีเตียงในโรงพยาบาลเพื่อให้ไปนอนพักรักษาตัว ซึ่งการที่ผู้ป่วยต้องเสียเวลารอคอยนานเกินไปนี้เอง อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการโรคกำเริบจนไม่สามารถที่จะรักษาให้หายดีดังเดิม หรืออาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้เช่นกัน

ฉะนั้น ความสูญเสียของผู้ป่วยและแพทย์ในกรณีผ่าตัดไส้ติ่งรายนี้ เกิดจากการขาดทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ กล่าวคือขาดแคลนแพทย์ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิสัญญีแพทย์ ทำให้แพทย์ทั่วไป (General Practitioner) คนหนึ่งต้องถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 4 ปี และผู้ป่วยคนหนึ่งที่ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบได้รับความเสียหายรุนแรงถึงกับเสียชีวิต เนื่องจากมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการได้รับยาในการระงับความรู้สึกจากการให้ยาทางไขสันหลัง ซึ่งในความเป็นจริงทางการแพทย์แล้ว อาการแทรกซ้อนรุนแรงนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกจากวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเองก็ตาม

ผลกระทบที่ร้ายแรงอีกอย่างหนึ่งจากการสูญเสียของผู้ป่วยคนนี้เองได้เกิดกระแส “การไม่อยากเรียน (เป็น) แพทย์” ของเยาวชนและพ่อแม่ผู้ปกครองของเยาวชนในสังคมไทย เพราะต่างก็มองว่าการเป็นแพทย์นั้นมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องและเสี่ยงต่อการที่จะถูกศาลตัดสินให้จำคุกจากการทำงานประจำวันตามหน้าที่ในวิชาชีพแพทย์อีกด้วย การที่ประชาชนไม่นิยมส่งเสริมให้เยาวชนตัดสินใจเลือกเข้าสู่วิชาชีพแพทย์นี้เองอาจจะทำให้วิชาชีพทางการแพทย์ไทยไม่เจริญรุ่งเรืองและพัฒนาได้เท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ และเกิดการถดถอยทรุดโทรมต่อไป