แนวทางการให้น้ำหนักแห่งสาเหตุการตาย
Guideline for Physician Evaluating Cause of Death
นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*
*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เราได้ทราบมาแล้วว่าการที่แพทย์ชันสูตรพลิกศพหรือตรวจศพย่อมเป็นไปได้ที่แพทย์จะพบว่า “สาเหตุแห่งการตายมีหลายประการ” (ภาพที่ 1) ซึ่งในแต่ละประการอาจเชื่อมโยงถึงพฤติการณ์ที่แตกต่างกันไปได้ นั่นหมายถึงจะส่งผลถึง “ในทางคดีความ” ในเวลาต่อมาด้วย หากเป็นเช่นนั้นจริง แพทย์จะลงสาเหตุแห่งการตายอย่างไรเพื่อให้เกิดผลหรือเกิดความถูกต้อง “เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย” มากที่สุด เป็นการป้องกันการอ้างถึง “สาเหตุการตายที่แพทย์ระบุไว้ในเอกสาร” เป็นมูลเหตุแห่งการบิดเบือนหรือ “บิดพลิ้ว” ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องในทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่น ๆ (ภาพที่ 2)
………………การที่ตกต้นไม้ (เข้าข่ายอุบัติเหตุ) ทำให้ศีรษะได้รับการกระทบกระแทกและมีเลือดออกในโพรงกะโหลกศีรษะจนต้องนอนนานจนติดเชื้อในปอด (hypostatic pneumonia) เช่นนี้หากแพทย์เพียงให้สาเหตุการตายว่า “เกิดจากการติดเชื้อในปอด” ย่อมไม่อาจโยง/สื่อให้เห็นถึงการที่ตกต้นไม้แต่ต้นได้ แต่หากแพทย์ระบุสาเหตุการตายว่า “ติดเชื้อในปอดเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ” ย่อมโยงถึงสาเหตุอันแท้จริงได้มากขึ้น
ประเด็นแห่งสาเหตุการตายอันนำไปสู่การบิดพลิ้วการรับผิดชอบ
ในเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ 2 ประการหลัก คือ
1. กรณีที่เป็นความรับผิดทางอาญา1
หมายความถึงสาเหตุแห่งการตายมิได้สื่อถึงความผิดทางอาญาแม้แต่น้อย เช่น ปอดอักเสบ ไตวาย เป็นต้น ทำให้เกิดข้อต่อสู้ขึ้นได้ว่า “ผลแห่งการกระทำมิได้เกิดจากการกระทำความผิดของผู้กระทำผิดโดยตรง” คือสาเหตุแห่งการตาย มิใช่เกิดจากการกระทำของผู้กระทำนั่นเอง แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นผลโดยตรงหรือผลธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ (ในทางกฎหมาย)
ตัวอย่าง: การที่ผู้ป่วยถูกทำร้ายที่ศีรษะจนไม่สามารถที่จะรู้สติได้ (เช่น ทำให้มีเลือดออกในโพรงกะโหลกศีรษะและ/หรือในเนื้อสมองหรือแกนสมอง) เห็นเหตุให้ต้องนอนนิ่งอยู่นานในสภาพเหมือนผัก (vegetative stage) จนในที่สุดติดเชื้อในปอด/ปอดบวม (pneumonitis) และเป็นสาเหตุแห่งการตายในที่สุดนั้น แม้ว่าสาเหตุแห่งการตายคือ “ปอดบวม” ก็ตาม แต่เป็นผลธรรมดาที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการที่ผู้ป่วยถูกทำร้ายที่ศีรษะจนไม่สามารถช่วยตนเองได้ และเมื่อนอนอยู่นานในสภาพเสมือนผักย่อมจะเกิดการติดเชื้อในปอด (hypostatic pneumonia) ได้ จึงเท่ากับว่าการตายนั้นเกิดจากการที่ผู้ป่วย “ถูกกระทำ” นั่นเอง
2. กรณีที่เป็นการรับผิดทางแพ่ง2
2.1 กรณีที่ปฏิเสธความรับผิดจากผู้กระทำโดยตรง
ผู้กระทำปฏิเสธความรับผิดทางแพ่งเพราะเห็นว่า “สาเหตุการตายมิได้เกิดจากการกระทำของตน” เช่นกรณีตามความผิดทางอาญาข้างต้นโดยผู้กระทำอ้างว่า “สาเหตุแห่งการตายคือปอดอักเสบ (ปอดบวม) ไม่เกี่ยวกับการที่ตนเองทำร้ายเลย แม้ว่าจะต้องรับผิด (ค่าสินไหมทดแทน) ก็ตามก็ไม่สมควรถึงจำนวนที่เรียกร้อง (ทำให้ถึงแก่ความตาย) เพราะแม้จะทำร้ายจริงก็ทำที่ศีรษะและผู้ป่วยไม่ถึงแก่ความตาย แต่ผู้ป่วยถึงแก่ความตายโดยโรคเองคือ “ปอดอักเสบ”
แพทย์ต้องเข้าใจว่า ความรับผิดทางแพ่ง3 สามารถแยกเป็น 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ
ก. ค่าเสียหายที่เป็นตัวเงิน อันประกอบด้วย
- ค่าเสียหายที่ต้องจ่ายในการรักษาพยาบาล
- ค่าเสียหายที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมจากการรักษาพยาบาลแต่มีความจำเป็น (เช่น ต้องอยู่ห้องแยก ต้องใช้พยาบาลพิเศษในการดูแล)
- ค่าเสียการงานในปัจจุบัน (รายได้ที่ขาดไปอันเนื่องจากการเจ็บป่วย)
- ค่าเสียการงานในอนาคต (รายได้ในอนาคตที่ไม่สามารถทำงานในตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ได้อีกอันเนื่องจากการเจ็บป่วย)
ข. ค่าเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงิน
- ค่าทนทุกข์เวทนา
- ค่าขาดความสุขสำราญ
ในกรณีนี้ผู้กระทำกล่าวอ้างว่า “เมื่อการทำร้ายที่ผู้กระทำทำไปจริงแต่ไม่ถึงแก่ความตาย ค่าเสียหายจึงไม่น่าจะสูงถึงที่เรียกร้อง (ทำให้ตาย)” ผู้ตายตายจากเหตุธรรมชาติต่างหาก
ดังนั้น หากสาเหตุแห่งการตายแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยง/สื่อไปถึงการกระทำย่อมทำให้ง่ายต่อการให้เหตุผลถึงความรับผิดทางแพ่งด้วย
2.2 กรณีที่ปฏิเสธความรับผิดจากบริษัทประกัน
เป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุดและเป็นปัญหาอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทประกันจะอ้างเหตุแห่งการตายว่า “เป็นเหตุธรรมชาติ” เพื่อที่จะรับผิดชอบในความรับผิดน้อยที่สุด (น้อยกว่าอุบัติเหตุ)
ตัวอย่าง: การที่ตกต้นไม้ (เข้าข่ายอุบัติเหตุ) ทำให้ศีรษะได้รับการกระทบกระแทกและมีเลือดออกในโพรงกะโหลกจนต้องนอนนานจนติดเชื้อในปอด (hypostatic pneumonia) เช่นนี้หากแพทย์เพียงให้สาเหตุการตายว่า “เกิดจากการติดเชื้อในปอด” ย่อมไม่อาจโยง/สื่อให้เห็นถึงการที่ตกต้นไม้แต่ต้นได้ แต่หากแพทย์ระบุสาเหตุการตายว่า “ติดเชื้อในปอดเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ” ย่อมโยงถึงสาเหตุอันแท้จริงได้มากขึ้น
ตัวอย่าง: การถูกรถชนมีเลือดออกมากจนช็อกเกิดระบบไหลเวียนล้มเหลว แพทย์ช่วยไว้ทันไม่เสียชีวิตแต่เกิดภาวะไตวายตามมา และคงมีสภาวะไตวายอยู่ตลอด จำต้องมาทำการล้างไตอย่างต่อเนื่อง และต่อมาเกิดเสียชีวิตจากไตวาย เช่นนี้อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าสาเหตุที่ตายคือ “ไตวาย” อันเป็นเหตุตายตามธรรมชาติและถูกปฏิเสธว่ามิใช่เกิดจากการถูกรถชน มิใช่อุบัติเหตุ เป็นต้น แต่หากแพทย์ได้ระบุสาเหตุการตายโดยมีการโยงเหตุนำ เช่น “ไตวายจากการช็อกเพราะการบาดเจ็บเสียเลือด” จะทำให้เห็นภาพพจน์ได้ดีกว่า
หมายเหตุ:
1. การกรอกแบบฟอร์มในสาเหตุการตาย4 ไม่ว่าจะเป็น ทร.4/1 (ภาพที่ 3) หรือ ทร.4 ตอนหน้า (ภาพที่ 4) หากแพทย์ให้ความสำคัญของสิ่งที่กรอกโดยทำการกรอกเพื่อโยงไปถึงสิ่งที่เป็นต้นเหตุ (due to) แม้ว่าจะมิได้บ่งชี้ถึง “พฤติการณ์แห่งการตาย” โดยตรงก็ย่อมถือว่าแพทย์ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว
2. แพทย์ยังคงไม่สมควรระบุถึงพฤติการณ์แห่งการตายโดยตรง5 ทั้งนี้เพราะพฤติการณ์แห่งการตายเสมือนหนึ่งเป็น “คำวินิจฉัย” และมีผลในทางคดีอย่างมาก
การบอกสาเหตุการตายในรูปแบบต่าง ๆ
สาเหตุการตายนั้นจำเป็นต้อง “สื่อ” ถึงสิ่งอื่นนอกจากสาเหตุอันเป็น “พยาธิสภาพแห่งการตายโดยตรง” ด้วย ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดใน “สาเหตุแห่งการตาย” ซึ่งหลักโดยทั่วไปแล้ว แพทย์สมควรลงความเห็นในสาเหตุแห่งการตายอันสามารถสื่อให้เห็นถึงพฤติการณ์แห่งการตายไปในคราวเดียวกันด้วย
1. บอกสาเหตุที่มาก่อนหน้าสาเหตุแห่งการตายไปในข้อความด้วย
หากมีความจำเป็นที่จะต้องระบุสาเหตุการตายที่มากกว่าพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นตามที่เป็น “สาเหตุแห่งการตายสุดท้าย” แล้ว แพทย์อาจจำต้องบอกถึงความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวเนื่องจากเหตุที่เป็นมาก่อนหน้านั้นด้วย เช่น
*ปอดอักเสบจากการนอนนานเนื่องจากศีรษะได้รับบาดเจ็บ
2. ไม่จำต้องบอกพฤติการณ์แห่งการตายไปในสาเหตุแห่งการตายเพราะสามารถสื่อได้เองอยู่แล้ว
ในบางครั้งการที่มิได้บอกว่าเกิดจากเหตุภายนอกอันเป็นพฤติการณ์แห่งการตายก็อาจสื่อ (ทำให้เห็นภาพพจน์ว่า) “เกิดจากเหตุภายนอก” หรือพฤติการณ์แห่งการตายที่มิใช่ “เกิดจากโรคธรรมชาติ” เช่น
*เลือดออกจำนวนมากจากปอดและตับฉีกขาด ย่อมสื่อได้ว่ามิใช่เกิดจากเหตุธรรมชาติ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในตัวของมันเองได้ กล่าวคือ
1. สภาพการฉีกขาดหรือการบาดเจ็บจะไม่เข้าข่ายการตายตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดอยู่แล้ว การบอกถึงการฉีกขาดย่อมเป็นการบอกถึงการได้รับบาดเจ็บ “trauma” นั่นเอง
2. หากแม้จะเป็นการเกิดโดยธรรมชาติได้แต่ย่อมไม่อาจเกิดได้ถึง 2 ตำแหน่งได้พร้อม ๆ กัน เช่น เกิดจากโรคมะเร็งที่ลุกลามในเนื้อเยื่อย่อมเป็นเหตุให้เกิดเลือดออกได้ แต่จะเป็นเพียงตำแหน่งเดียวในขณะหนึ่งเท่านั้น
3. อาจบอกพฤติการณ์แห่งการตายโดยตรงไปในสาเหตุแห่งการตายได้
แม้ว่าการบาดเจ็บจะมิได้บอกถึง “พฤติการณ์แห่งการตาย”5 ก็ตาม แต่จาก “ประวัติ” หรือจาก “สิ่งที่ปรากฏในเอกสารของเจ้าพนักงาน (พนักงานสอบสวน) และอื่น ๆ ย่อมสอดรับกับการที่ญาติผู้ตายกล่าวอ้างถึงการตายผิดธรรมชาติประเภท “ถูกกระทำ” ไม่ใช่ “เหตุตามธรรมชาติ” และสามารถประมวลได้หากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับ “การจราจร” ย่อมต้องเป็นได้เพียง “อุบัติเหตุจราจร” เท่านั้น เช่น
*ติดเชื้อจากแผลกดทับที่หลังและก้นเนื่องจากนอนนานจากอุบัติเหตุจราจรทำให้เป็นอัมพาตของแขนและขา ในกรณีนี้แพทย์อาจระบุถึงอุบัติเหตุจราจรร่วมด้วยได้ ทั้งนี้จากการอ้างตามเอกสารของพนักงานสอบสวน (ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร) นั่นเอง
น้ำหนักของสาเหตุแห่งการตายจากพฤติการณ์ที่ทำให้ถึงแก่ความตาย
หาก “สาเหตุแห่งการตาย” จาก “พฤติการณ์ที่ทำให้ถึงแก่ความตาย”5 มีน้ำหนักต่างกันหรือเหมือนกันจะทำการพิจารณาอย่างใดกับการให้สาเหตุแห่งการตาย (มิใช่พฤติการณ์แห่งการตาย) ในเรื่องนี้แพทย์จำเป็นจะต้องยึดในเรื่อง “หลักแห่งความยุติธรรม” เป็นเกณฑ์ ซึ่งอาจพิจารณาได้คือ
ข้อที่ 1: มีน้ำหนักต่างกัน
โดยหลักแล้วให้ยึด “สาเหตุหลัก” ที่ทำให้ถึงแก่ความตาย “เป็นสำคัญ” และอาจไม่ต้องกล่าวถึง “สาเหตุรอง” เลยก็ได้ เช่น ปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ฝีในตับ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาจมีการระบุพฤติการณ์แห่งการตายร่วมในสาเหตุแห่งการตายได้ หากมีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ เช่น มีเอกสารนำส่งที่พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) นำส่งให้แก่แพทย์ระบุไว้อย่างชัดเจน (ภาพที่ 5) แต่อย่างไรก็ตาม อาจจำต้องพิจารณาสิ่งดังกล่าวต่อไปนี้ประกอบด้วย
1. ระหว่างสาเหตุการตายเป็นเหตุธรรมชาติกับเหตุธรรมชาติ
มักไม่มีปัญหาเพราะ “ไม่เกี่ยวข้องกับทางคดี” การให้สาเหตุการตายจึงเป็นการให้สาเหตุอันเนื่องจากการตายตามธรรมชาติได้เลย
2. ระหว่างสาเหตุการตายจากเหตุผิดธรรมชาติกับเหตุผิดธรรมชาติ (ทำตนเอง ถูกผู้อื่นทำ อุบัติเหตุ)
แพทย์ยังคงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะเหตุผิดธรรมชาติที่จำแนกตามพฤติการณ์แห่งการตายแล้ว คิดตามน้ำหนักแห่งความสำคัญคือ ถูกผู้อื่นกระทำ จากอุบัติเหตุ และกระทำตนเอง อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นจากพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดขึ้น (คิดในใจ) ที่เด่นกว่าย่อมให้เป็นสาเหตุแห่งการตาย
ก. ถูกผู้อื่นกระทำ (homicide)
ข. อุบัติเหตุ (accident)
ค. กระทำตนเอง (suicide)
สาเหตุการตายประการใดก็ไม่ต่างกันในทางคดีความ แต่อาจต่างเฉพาะในเรื่อง “การเรียกร้องสิทธิทางประกัน” เท่านั้น หรือไม่ก็อาจโยงใยถึงสภาพแห่งชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ตายและทายาทเท่านั้น (ตระกูล)
หมายเหตุ:
แพทย์ต้องระลึกไว้เสมอว่า “การคิดถึงเรื่องพฤติการณ์แห่งการตายนั้นเป็นเรื่องที่แพทย์คิดในใจเท่านั้น” เพราะพฤติการณ์แห่งเหตุหรือพฤติการณ์แห่งการตายนั้น แพทย์ไม่สมควร/ไม่ระบุไว้ในเอกสารใด ๆ เลยก็จะดี เพราะแพทย์มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุจึงไม่อาจทราบได้
3. ระหว่างเหตุการตายตามธรรมชาติกับเหตุผิดธรรมชาติ (ทำตนเอง ถูกผู้อื่นทำ อุบัติเหตุ)
ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีอย่างแน่นอน หากเป็นสาเหตุการตายตามธรรมชาติที่เกิดต่อเนื่องจากเหตุผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะเข้าข่ายกรณีมาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายอาญา1 แม้ว่าสาเหตุผิดธรรมชาติจะเป็นสาเหตุรองแล้วก็ตามในขณะที่ถึงแก่ความตาย
ก. เหตุธรรมชาติเด่นกว่า
แพทย์จำต้องให้ความสำคัญและระลึกถึงกรณี “ผลธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ตามมาตรา 63 ไว้เสมอ”1 เช่น ถูกแทงเข้าที่หน้าท้องต่อมาทำให้เกิดติดเชื้อในช่องท้องและเสียชีวิตจากการติดเชื้อ (peritonitis)
*ติดเชื้อให้ช่องท้อง (อาจไม่เห็นภาพพจน์)
*ติดเชื้อในช่องท้องจากบาดแผลแทงทะลุเข้าสู่ช่องท้อง (เห็นภาพพจน์ดีกว่า)
ข. เหตุผิดธรรมชาติเด่นกว่า
แพทย์ระบุเหตุนั้นเป็น “สาเหตุแห่งการตาย” ได้เลย เพราะเกี่ยวพันกับการตายผิดธรรมชาตินั้น ๆ ประกอบแล้ว
*บาดแผลแทงทะลุผ่านปอดและหัวใจ (กรณีนี้ผู้ป่วยมีโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นประเด็นในสาเหตุการตาย)
ข้อที่ 2: มีน้ำหนักเท่า ๆ กัน
1. ระหว่างเหตุธรรมชาติกับเหตุธรรมชาติ
ในกรณีนี้ไม่เป็นประเด็น “ทางคดี” หรือไม่เป็น “การตายผิดธรรมชาติ” การให้สาเหตุการตายจึงระบุแต่เพียงโรคหรือสภาวะที่เกิดขึ้นกับศพอันเป็นสาเหตุแห่งการตายเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
*ไตวายเรื้อรัง
*ตับวาย
*ระบบไหลเวียนล้มเหลวจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ
2. ระหว่างเหตุธรรมชาติกับเหตุผิดธรรมชาติ (ทำตนเอง ถูกผู้อื่นทำ อุบัติเหตุ)
ในกรณีนี้อาจเกิดการโต้แย้งได้ง่ายและเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น กรณีที่บริษัทประกันไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการตกจากบันได โดยการตรวจศพพบว่าผู้ตายมีหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบอย่างชัดเจนและมีกล้ามเนื้อหัวใจตายอันน่าเชื่อได้ว่าเป็นสาเหตุแห่งการที่ทำให้ผู้ตายตกลงมาจากบันได สาเหตุการตายจาก 2 ประการนี้จึงต่างกัน (เอกสารทางการแพทย์จึงมีความสำคัญยิ่ง)
*กะโหลกศีรษะแตกแล้วเลือดออกในโพรงสมอง
*ระบบไหลเวียนล้มเหลวจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ
3. ระหว่างเหตุผิดธรรมชาติกับเหตุผิดธรรมชาติ
ก. ทำตนเองกับทำตนเอง (suicide by multiple methods)
*ปริมาณยานอนหลับเกินขนาด
*เสียเลือดจากบาดแผลฉีกขาดที่ข้อมือ
ข. ทำตนเองกับถูกผู้อื่นกระทำ
ค. ทำตนเองกับอุบัติเหตุ
ง. ถูกผู้อื่นกระทำกับถูกผู้อื่นกระทำ
จ. ถูกผู้อื่นกระทำกับอุบัติเหตุ
ฉ. อุบัติเหตุกับอุบัติเหตุ
หมายเหตุ:
สาเหตุข้อ ข. ถึง ฉ. คือเหตุผิดธรรมชาติทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นประการหนึ่งประการใดก็ตามในสาเหตุการตายทางนิติเวชศาสตร์ (ดูหัวข้อ: สาเหตุแห่งการตายหลักในทางนิติเวชศาสตร์)
แนวทางการให้สาเหตุแห่งการตายเพียงแต่สื่อให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่ตายเท่านั้น
แพทย์ต้องจำไว้ว่าแม้ว่าจะมีระบุไว้ใน International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems หรือ ICD-10 ให้แพทย์ต้องออกสาเหตุแห่งการตายเป็นไปตามแนวทางสากล6 ที่โยงโดยมีคำว่า “due to” (เนื่องจาก) ไปจนถึงสุดท้ายซึ่งจะเป็น “พฤติการณ์แห่งการตาย” นั้น แต่โดยหลักในทางนิติเวชศาสตร์หรือเกี่ยวข้องกับนิติเวชศาสตร์แล้ว แพทย์ “ไม่สมควรที่จะระบุถึงพฤติการณ์แห่งการตายโดยเด็ดขาด”5 ทั้งนี้เพราะอาจเกี่ยวข้องกับ “คดีความ” ได้ และเท่ากับเป็นการวินิจฉัยคดีความที่เกิดขึ้นและอาจผูกมัดต่อเจ้าพนักงานหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าพนักงาน (พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)7 ในการทำสำนวนคดี
สาเหตุการตายที่แพทย์สมควรออกให้กับการตาย
การออกสาเหตุการตายโดยแพทย์ไม่ว่าจะโดยเอกสารใด เช่น หนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1), ใบรับแจ้งการตายหรือข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายโดยแพทย์ (ทร.4 ตอนหน้า ในหน้าหลัง), บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ, รายงานการตรวจศพ หรือเอกสารอื่นที่แสดงถึงสาเหตุการตาย
1. แพทย์สมควรออกสาเหตุแห่งการตายไปในเชิง “สาเหตุทางพยาธิหรือทางการแพทย์” เป็นหลัก
2. การให้สาเหตุแห่งการตายหลักในทางนิติเวชศาสตร์นั้นจะประกอบด้วย
- ตายจากบาดแผล (wound)
- ตายจากขาดอากาศ (asphyxia)
- ตายจากขาดอาหาร (starvation)
- ตายจากสารพิษ (intoxication)
- ตายจากแรงกายภาพ (physical agents)
- ตายจากการไม่สมดุลของกรดด่างเกลือแร่ (electrolyte imbalance)
หมายเหตุ:
แพทย์จะมิให้สาเหตุแห่งการตายเข้าข่าย “พฤติการณ์แห่งการตาย”5 อันประกอบด้วย “ฆ่าตัวตาย” “ถูกผู้อื่นกระทำให้ตาย” และ “อุบัติเหตุ” เพราะการระบุถึงพฤติการณ์ที่ตายหากกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานในทางคดีอยู่นั้น และแพทย์กลับสรุป (ฟันธง) ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ตายอันขัดต่อพยานหลักฐานย่อมทำให้แพทย์ผู้นั้นอาจเข้าข่ายความผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมโดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐาน8,9,10
ตัวอย่าง: แพทย์ระบุว่าการตายเกิดจากการถูกผู้อื่นกระทำเป็นกรณีที่แพทย์ชันสูตรพลิกศพรายที่มีบาดแผลกระสุนปืนจำนวนมากตามร่างกาย แต่ในที่สุดจากพยานหลักฐานและประจักษ์พยานแล้วพบว่า เป็นการตายอันเนื่องจากการยิงตัวตาย
ตัวอย่าง: แพทย์ระบุว่าถูกผู้อื่นยิงตายในที่รโหฐาน แต่ต่อมาจากพยานหลักฐานไม่ปรากฏเช่นนั้น เข้าได้กับการยิงตัวเองตาย
ท้ายที่สุดแพทย์ท่านที่ลงความเห็นนั้นถูกองค์กรวิชาชีพลงโทษตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549
สรุป
การให้สาเหตุการตายโดยแพทย์แท้ที่จริงแล้วมิได้มีบัญญัติหรือระบุไว้อย่างชัดเจนทั้งใน “เกณฑ์มาตรฐาน” หรือ “เกณฑ์ความรู้ความสามารถฯ” ที่แพทยสภากำหนด แพทย์จึงมีดุลพินิจอย่างมากในการให้สาเหตุการตาย แต่หากแพทย์คิดว่าตนต้องการให้ความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ตาย และ/หรือทายาทของผู้ตายแล้ว แพทย์สมควรที่จะให้สาเหตุแห่งการตายที่สื่อไปถึง “พฤติการณ์แห่งการตายด้วย” จะทำให้ไม่เกิดการใช้สาเหตุแห่งการตายอันเป็น “พยาธิสภาพล้วน ๆ” ไปในทางมิชอบ เช่น การบิดพลิ้วความรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญา
เอกสารอ้างอิง
1. ประมวลกฎหมายอาญา. http://legal-informatics.org/file/3.pdf
2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. http://www.led.go.th/datacenter/pdf/1_5.pdf
3. ภัทรศักดิ์ วรรณแสง. ย่อหลักกฎหมายละเมิด. กรุงเทพมหานคร: บริษัท พิมพ์ดี จำกัด, 2538: 143-9.
4. วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์. หนังสือรับรองการตาย. สารศิริราช 2542;51:130-40.
5. วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์. พฤติการณ์แห่งเหตุการณ์ในเอกสารของแพทย์: ความเสี่ยงที่แพทย์พึงระวัง. สารศิริราช 2546;55:557-68.
6. International form of medical certificate of cause of death. In ICD-10, International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems. Tenth Revision, Volume 2. World Health Organization, 1994: 31.
7. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf
8. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.
9. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.
10. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.