Chlorhexidine Gluconate สำหรับผู้ป่วยช่วยหายใจ

Chlorhexidine Gluconate สำหรับผู้ป่วยช่วยหายใจ

JAMA Intern Med. Published online March 24, 2014.

บทความเรื่อง Reappraisal of Routine Oral Care with Chlorhexidine Gluconate for Patients Receiving Mechanical Ventilation: Systematic Review and Meta-Analysis รายงานว่า การทำความสะอาดช่องปากด้วย chlorhexidine gluconate เป็นมาตรฐานการดูแลสำหรับผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ แม้มาตรการนี้เป็นผลจากข้อมูล meta-analyses ที่เสนอว่ามีความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ข้อมูลดังกล่าวก็อาจผิดพลาดเนื่องจากปัญหาการจำแนกระหว่าง cardiac surgery study และ non-cardiac surgery study การผสมปนเประหว่างการศึกษาแบบ open-label และ double-blind รวมถึงขาดความสนใจในผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย เช่น ระยะการใช้เครื่องช่วยหายใจ ระยะการนอนโรงพยาบาล และอัตราตาย

นักวิจัยประเมินผลของการดูแลช่องปากด้วย chlorhexidine ต่อผลลัพธ์ด้านผู้ป่วยในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยสืบค้นข้อมูลงานวิจัย chlorhexidine เปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ใหญ่ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจจากฐานข้อมูล PubMed, Embase, CINAHL และ Web of Science from inception นับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 รวมงานวิจัยที่สอดคล้องกับเกณฑ์การศึกษา 16 การศึกษา รวมผู้ป่วย 3,630 ราย ทั้งนี้ได้จำแนกงานวิจัยเป็น cardiac surgery study และ non-cardiac surgery study และงานวิจัยที่ศึกษาแบบ open-label และ double-blind และนำมาวิเคราะห์ด้วย random-effects meta-analysis ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราตาย ระยะการใช้เครื่องช่วยหายใจ ระยะการพักรักษาในหน่วยวิกฤติและโรงพยาบาล และการจ่ายยาปฏิชีวนะ

ข้อมูลจากการศึกษาพบการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างต่ำกว่าในผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจที่ได้ chlorhexidine (relative risk [RR] 0.56 [95% CI 0.41-0.77]) แต่ไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านความเสี่ยงปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจใน double-blind study จากผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าตัดหัวใจ (RR 0.88 [95% CI 0.66-1.16]) และไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านอัตราตายระหว่าง chlorhexidine และยาหลอกจากงานวิจัยที่ศึกษาในการผ่าตัดหัวใจ (RR 0.88 [95% CI 0.25-2.14]) ขณะที่พบอัตราตายสูงขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญใน non-cardiac surgery study (RR 1.13 [95% CI 0.99-1.29]) และไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านมัธยฐานระยะการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือการรักษาในหน่วยวิกฤติ อย่างไรก็ดี ในการศึกษานี้มีข้อจำกัดด้านข้อมูลระยะการพักรักษาในโรงพยาบาลและการจ่ายยาปฏิชีวนะ

การดูแลช่องปากด้วย chlorhexidine ป้องกันปอดอักเสบในโรงพยาบาลในผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจแต่อาจไม่ลดความเสี่ยงปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าตัดหัวใจ และการใช้ chlorhexidine ไม่ส่งผลต่อผลลัพธ์ด้านผู้ป่วยในทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งจากผลลัพธ์นี้ควรที่จะมีการทบทวนมาตรการดูแลความสะอาดช่องปากด้วย chlorhexidine ในผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าตัดหัวใจ