เบาหวานวัยกลางคนและปัญหาคุมน้ำตาลในฐานะปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาการรับรู้ในวัยชรา

เบาหวานวัยกลางคนและปัญหาคุมน้ำตาลในฐานะปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาการรับรู้ในวัยชรา

Lancet Diabetes Endocrinol. 2014;2(3):228-235.

บทความเรื่อง Midlife Type 2 Diabetes and Poor Glycaemic Control as Risk Factors for Cognitive Decline in Early Old Age: A Post-Hoc Analysis of The Whitehall II Cohort Study รายงานว่า โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มความเสี่ยงต่อสมองเสื่อม แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงผลกระทบต่อการรับรู้ก่อนวัยชรา

นักวิจัยศึกษาว่าระยะของโรคเบาหวานในช่วงปลายวัยกลางคนและปัญหาการควบคุมน้ำตาลในเลือดสัมพันธ์กับการรับรู้ที่เสื่อมลงเร็วขึ้นหรือไม่ โดยได้จำแนกผู้เข้าร่วมวิจัย 5,653 รายในงานวิจัย Whitehall II (มัธยฐานอายุ 54.4 ปี [IQR 50.3-60.3] ที่การประเมินการรับรู้ครั้งแรก) เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มระดับน้ำตาลปกติ กลุ่มภาวะก่อนเบาหวาน กลุ่มเพิ่งตรวจพบเบาหวาน และกลุ่มมีประวัติเบาหวาน การทดสอบความจำ การใช้เหตุผล ความคล่องด้านการออกเสียงและภาษาพูด และคะแนนรวมจากการทดสอบทั้งหมดมีการประเมินรวม 3 ครั้งในช่วงระยะเวลา 10 ปี (1997-1999, 2002-2004 และ 2007-2009) นักวิจัยใช้ค่ามัธยฐาน HbA1c ประเมินการควบคุมน้ำตาลระหว่างการติดตาม และการวิเคราะห์ปรับตามลักษณะด้านสังคมประชากร พฤติกรรมด้านสุขภาพ และโรคเรื้อรัง

เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับน้ำตาลปกติพบว่า กลุ่มที่มีประวัติโรคเบาหวานมีความจำเสื่อมเร็วขึ้น 45% (10 year difference in decline -0.13 SD, 95% CI -0.26 ถึง -0.00; p = 0.046), การใช้เหตุผลเสื่อมเร็วขึ้น 29% (-0.10 SD, -0.19 ถึง -0.01; p = 0.026) และคะแนนการรับรู้โดยรวมที่เสื่อมลงเร็วขึ้น 24% (-0.11 SD, -0.21 ถึง -0.02; p = 0.014) โดยผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีภาวะก่อนเบาหวานหรือเพิ่งตรวจพบเบาหวานมีอัตราการเสื่อมลงใกล้เคียงกับกลุ่มที่มีระดับน้ำตาลเป็นปกติ ปัญหาการควบคุมน้ำตาลในผู้ที่มีประวัติเบาหวานสัมพันธ์กับการเสื่อมลงที่เร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญของความจำ (-0.12 [-0.22 ถึง -0.01]; p = 0.034) และการใช้เหตุผล (-0.07 [-0.15 ถึง 0.00]; p = 0.052)

ข้อมูลจากการศึกษานี้ชี้ว่า ความเสี่ยงต่อการเสื่อมลงเร็วขึ้นของการรับรู้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 วัยกลางคนขึ้นอยู่กับระยะการเป็นโรคเบาหวานและการควบคุมน้ำตาลในเลือด