เปรียบเทียบระยะการเจาะคอต่อการรอดชีวิตในผู้ป่วยช่วยหายใจ
JAMA. 2013;309(20):2121-2129.
บทความวิจัยเรื่อง Effect of Early vs Late Tracheostomy Placement on Survival in Patients Receiving Mechanical Ventilation: The TracMan Randomized Trial รายงานว่า การเจาะคอเป็นวิธีการแทรกแซงที่มักใช้ในผู้ป่วยวิกฤต แต่เนื่องจากข้อมูลที่จะเป็นแนวทางสำหรับกำหนดระยะการทำหัตถการยังคงมีจำกัด นักวิจัยจึงศึกษาว่าการเจาะคอโดยเร็วและภายหลังสัมพันธ์กับการตายที่ต่ำลงในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจระหว่างการรักษาในหน่วยวิกฤตหรือไม่
การศึกษาเป็นแบบ open multicentered randomized clinical trial มีขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 2004 และ 2011 โดยศึกษาจากผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยวิกฤตหัวใจและทรวงอกจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทย์ 13 แห่ง และโรงพยาบาลอื่น 59 แห่งในสหราชอาณาจักร รวมผู้ป่วย 1,032 ราย ซึ่ง 909 รายใช้เครื่องช่วยหายใจมาแล้วไม่เกิน 4 วัน และแพทย์ผู้รักษาคาดว่าจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจต่ออีกอย่างน้อย 7 วัน
การแทรกแซงทำโดยสุ่มให้ผู้ป่วยเจาะคอเร็ว (ภายใน 4 วัน) หรือเจาะคอภายหลัง (หลัง 10 วันหากมีข้อบ่งชี้) นักวิจัยกำหนดให้การตาย 30 วันเป็นมาตรวัดผลลัพธ์หลัก และการวิเคราะห์เป็นแบบ intention to treat
จากผู้ป่วย 455 รายที่สุ่มให้เจาะคอเร็วพบว่า 91.9% (95% CI, 89.0-94.1%) ได้เจาะคอ และ 454 รายที่สุ่มให้เจาะคอภายหลังพบว่า 44.9% (95% CI, 40.4-49.5%) ได้เจาะคอ อัตราตายทุกสาเหตุที่ 30 วันหลังการสุ่มเท่ากับ 30.8% (95% CI, 26.7-35.2%) ในกลุ่มเจาะคอเร็ว และ 31.5% (95% CI, 27.3-35.9%) ในกลุ่มเจาะคอภายหลัง (absolute risk reduction สำหรับการเจาะคอเร็วเทียบกับการเจาะคอภายหลังเท่ากับ 0.7%; 95% CI, -5.4% ถึง 6.7%) อัตราตายที่สองปีเท่ากับ 51.0% (95% CI, 46.4-55.6%) ในกลุ่มเจาะคอโดยเร็ว และ 53.7% (95% CI, 49.1-58.3%) ในกลุ่มเจาะคอภายหลัง (p = 0.74) มัธยฐานระยะการรักษาในหน่วยวิกฤตในผู้รอดชีวิตเท่ากับ 13.0 วันในกลุ่มเจาะคอเร็ว และ 13.1 วันในกลุ่มเจาะคอภายหลัง (p = 0.74) ภาวะแทรกซ้อนจากการเจาะคอมีรายงานใน 6.3% (95% CI, 4.6-8.5%) ของผู้ป่วย (5.5% ในกลุ่มเจาะคอเร็ว และ 7.8% ในกลุ่มเจาะคอภายหลัง)
สำหรับผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจและได้รับการรักษาในหน่วยวิกฤตของโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรนี้พบว่า การเจาะคอภายใน 4 วันหลังรับเข้าหน่วยวิกฤตไม่สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นด้านอัตราตาย 30 วันหรือ secondary outcome อื่นที่สำคัญ และแพทย์ยังคงมีข้อจำกัดในการพยากรณ์ผู้ป่วยรายที่จำเป็นต้องขยายระยะการใช้เครื่องช่วยหายใจ