30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ (ต่อ)

30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ (ต่อ)

ตอนที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวว่าการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการขาดคุณภาพมาตรฐานที่ดี และความเสี่ยงนี้จะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากความขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนบุคลากรในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน

ในตอนนี้จะได้กล่าวถึงความเสี่ยงต่อการขาดมาตรฐานทางการแพทย์ในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ที่เกิดจากระบบ 30 บาท เนื่องจากการขาดงบประมาณที่เหมาะสมและเพียงพอในการดำเนินงาน

2. ระบบ 30 บาทมีการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เพียงพอในการให้บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้ไปรับบริการ

เนื่องจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นสถานที่ให้การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนไทยเป็นจำนวนมากที่สุด เนื่องจากเป็นภารกิจ/หน้าที่โดยตรงของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องดำเนินการในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนทั่วไปจึงจะกล่าวถึงโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่

ก่อนที่จะมีการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการดำเนินการมาจาก 3 ทางคือ

1. งบประมาณแผ่นดิน (จากภาษีของประชาชน)

2. จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลจากประชาชน (โดยตั้งราคาค่าตรวจรักษาและค่ายาในราคาถูก ๆ เพราะถือว่าเป็นสวัสดิการสำหรับประชาชนทั่วไป)

3.จากเงินบริจาคของประชาชนและมูลนิธิต่าง ๆ

งบประมาณทั้งหมดดังกล่าวแล้ว จะครอบคลุมในการก่อสร้างและซ่อมแซมปรับปรุงอาคารสถานที่ การจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ วัสดุ ครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการดำเนินงานของโรงพยาบาลในการให้บริการสาธารณสุขอย่างครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจร่างกาย ตรวจวินิจฉัยโรค การดูแลรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย โดยไม่รวมถึงเงินเดือนบุคลากร เนื่องจากข้าราชการและลูกจ้างประจำจะได้รับเงินเดือนตามพระราชบัญญัติเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำ ที่ได้จัดสรรมาต่างหากตามตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเหมือนในกระทรวง ทบวง กรม อื่น ๆ

อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลยังสามารถเก็บเงินค่าบริการตรวจรักษาผู้ป่วยรวมทั้งค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าเครื่องมือแพทย์ และค่าผ่าตัดรักษาต่าง ๆ ในราคาถูก (ไม่แสวงหากำไรเกินควร) ถือเป็นสวัสดิการแก่ประชาชนทั่วไป

เงินที่เก็บได้จากการให้บริการประชาชนนี้เรียกว่า “เงินบำรุงโรงพยาบาล” ซึ่งมีระเบียบในการให้ผู้อำนวยการและกรรมการบริหารโรงพยาบาลนำเงินจำนวนนี้ไปใช้จ่ายในการดำเนินงานของโรงพยาบาลได้ตามระเบียบการใช้เงินบำรุงของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการจ้างบุคลากรเป็นลูกจ้างชั่วคราวเพื่อมาช่วยทำงานในกรณีที่โรงพยาบาลมีภาระงานมากเกินกว่าที่ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่มีอยู่จะสามารถรองรับภาระงานให้มีคุณภาพได้

ส่วนประชาชนที่ยากจนและไม่มีเงินจ่ายค่ายา ค่าตรวจรักษาต่าง ๆ รัฐบาลยังได้จัดให้มีงบประมาณสำหรับช่วยเหลือให้ได้รับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เรียกว่า “งบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย”

และโรงพยาบาลหลายแห่งยังมีการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อจะได้มีเงินจากมูลนิธิมาให้การช่วยเหลือในการให้การรักษาประชาชนที่ยากจน รวมทั้งช่วยเหลือค่ารถเดินทางกลับบ้านอีกด้วย

 

ภายหลังจากระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค

เมื่อเริ่มระบบ 30 บาท รัฐบาลได้จ่ายงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวสำหรับการบริการสาธารณสุขสำหรับประชาชน 47 ล้านคนเศษ คนละ 1,200 บาท โดยจ่ายเงินให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นสำนักงานที่จะจ่ายเงิน “ค่าบริการตรวจรักษาประชาชน” ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องรับรักษาผู้ป่วย (จ่ายค่าบริการแทนประชาชน) โดยกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายใด ๆ จากสำนักงบประมาณอีก แม้แต่เงินเดือนของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขก็รวมอยู่ในเงินเหมาจ่ายรายหัวนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รู้อยู่แก่ใจว่า เงินรายหัวที่ให้แก่โรงพยาบาลนั้นไม่พอใช้ในการทำงานแน่นอน แต่เขารู้ว่าในขณะนั้นโรงพยาบาลต่าง ๆ ยังมีเงิน “บำรุง” เหลืออยู่หลายพันล้านบาท เขาตั้งใจที่จะให้โรงพยาบาลเอาเงินเหล่านั้นมาใช้จ่ายในการให้บริการประชาชนแทนเงินเหมาจ่ายรายหัวที่ไม่เพียงพอนี้

อย่างไรก็ตาม ขอสรุปโดยย่อว่า งบประมาณในระบบ 30 บาทนี้ ทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ในกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนในการดำเนินงานให้บริการรักษาประชาชนอย่างถ้วนหน้า และโรงพยาบาลต่าง ๆ ยิ่งขาดเงินในการทำงานรักษาประชาชนมากขึ้น เนื่องจากในปี พ.ศ. 2549 ในยุครัฐบาลปฏิวัติที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเลิกเก็บเงินค่ารักษาครั้งละ 30 บาทจากผู้ป่วย โดยอ้างว่ารายได้ของโรงพยาบาลที่เรียกเก็บจากผู้ป่วยครั้งละ 30 บาทนี้ไม่สำคัญอะไร และทำให้ทางโรงพยาบาลเสียเวลาลงบัญชี

แต่การเลิกเก็บเงินครั้งละ 30 บาทในการมารักษาที่โรงพยาบาลนี้ ได้ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยมารับการตรวจรักษามากขึ้น และโรงพยาบาลต้องจ่ายยามากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลต่างก็คาดหวังหรือเรียกร้องให้แพทย์จ่ายยาให้สำหรับการเจ็บป่วยของตน เมื่อได้ยาไปแล้วก็กินบ้าง ไม่กินบ้าง เหลือทิ้งโดยไม่ได้ใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ในยุคของนายวิทยา บุรณศิริ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีโครงการให้ประชาชนเอายาที่เหลือจากการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และกินหรือใช้ไม่หมด เอามาคืนให้แก่โรงพยาบาล และตั้งรางวัลให้ด้วย เรียกว่าโครงการยามาแลกไข่สด เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเอายามาคืนโรงพยาบาล ปรากฏว่ามีประชาชนเอายามาคืนโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นจำนวนหลายล้านเม็ด ยาที่ประชาชนเอามาคืนโรงพยาบาลโดยไม่ได้กินเลยจนหมดอายุ บางทีก็ยังไม่ได้แกะยาออกจากแผงยาเลย ที่มากที่สุดเรียงตามลำดับ 5 ชนิดคือ 1. ยารักษาเบาหวาน 7,615,789 เม็ด 2. ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง 7,038,068 เม็ด 3. วิตามิน 3,207,215 เม็ด 4. ยาลดไขมันในเลือด 2,901,603 เม็ด และ 5. ยารักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 1,521,030 เม็ด

นอกจากนั้นเป็นยาปฏิชีวนะ แคลเซียม พาราเซตามอล อย่างละกว่า 1 ล้านเม็ด และยาอื่น ๆ อีก 11 ล้านเม็ด

และคงจะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้เอายามาแลกไข่ จึงยังคงไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า ยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยนั้นไม่ได้เอาไปใช้จริงอีกกี่ล้านเม็ด

จึงเห็นได้ว่าการให้ยาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทไปฟรี ๆ นี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยไม่เห็นคุณค่าของยา เพราะไม่ได้จ่ายเงินจากกระเป๋าของตัวเอง ทำให้ใช้ยาอย่างทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เป็นการสูญเสียงบประมาณในการซื้อยาโดยเปล่าประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่โรงพยาบาลก็มีงบประมาณจำกัดในการจัดซื้อยามาเพื่อรักษาผู้ป่วย

เนื่องจากรัฐบาลให้เงินงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยแบบจำกัดดังกล่าวแล้ว และทางโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยตามการเรียกร้องต้องการของผู้ป่วยที่จะร้องขอยาในปริมาณมาก เพราะไม่มีภาระการจ่ายเงิน ทำให้โรงพยาบาลประสบปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์อื่น ๆ มาไว้รักษาผู้ป่วย แต่ไม่สามารถจะของบประมาณเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมได้

รัฐบาลจึงได้หาวิธีการ “จำกัด” รายการยาให้มีจำนวนน้อย ๆ รายการ เพื่อประหยัดเงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยให้พอใช้ โดยการตั้งคณะกรรมการยาแห่งชาติขึ้นมา เพื่อพิจารณาว่าจะนำยาไหนบ้างไปเข้าอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และกำหนดให้แพทย์สั่งยารักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทได้เฉพาะยาที่กำหนดไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น เพื่อ “ประหยัดเงิน” ในการรักษาผู้ป่วย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนเงินทุนและงบประมาณของโรงพยาบาล

การ “จำกัดรายการยา” ที่จะใช้ในการรักษาผู้ป่วยนี้เองเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับยาที่มีมาตรฐานที่ดีที่สุดสำหรับรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยของตน

ประชาชนบางคนก็รู้ว่าการรักษาในระบบ 30 บาท เป็นการรักษาด้วยยา “พารา” แทบทุกโรค ไม่ว่าจะมีอาการเจ็บป่วยอย่างไร แต่ถ้าเป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรง เช่น มะเร็ง แพทย์ก็ไม่สามารถจะสั่งยานอกบัญชียาหลักให้แก่ผู้ป่วย ทำให้เชื้อมะเร็งดื้อยา รักษาไม่หาย หรือผู้ป่วยตายโดยยังไม่สมควรตาย

แต่ยังมีประชาชนอีกมากมายหลายล้านคนที่อาจจะยังไม่ทราบว่า เมื่อเจ็บป่วยและไปใช้บริการในระบบ 30 บาท อาจจะไม่ได้รับยาที่ “เหมาะสมที่สุด” สำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยของตน เนื่องจากยาเหล่านั้นเป็นยาที่ต้องห้ามไม่ให้จ่าย เนื่องจากคณะกรรมการยาแห่งชาติไม่ยอมบรรจุยานั้นเข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

ฉะนั้นประชาชนอีกหลายล้านคนจึงไม่ทราบเลยว่า ตนเองไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดีที่สุดสำหรับอาการป่วยของตน เนื่องจากไม่ทราบว่ามีข้อจำกัดในการใช้ยาดังกล่าวข้างต้น