เปรียบเทียบเป้าการอิ่มตัวออกซิเจนต่อการตายและพิการในทารกคลอดก่อนกำหนด

เปรียบเทียบเป้าการอิ่มตัวออกซิเจนต่อการตายและพิการในทารกคลอดก่อนกำหนด
JAMA. 2013;309(20):2111-2120.

บทความวิจัยเรื่อง Effects of Targeting Higher vs Lower Arterial Oxygen Saturations on Death or Disability in Extremely Preterm Infants: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า เป้าหมายของการให้ออกซิเจนบำบัดอยู่ที่การช่วยให้เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ลดการเกิดพิษจากออกซิเจนและภาวะเครียดออกซิเดชัน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อสรุปว่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดที่ระดับใดจึงจะสามารถรักษาสมดุลดังกล่าวในทารกคลอดก่อนกำหนด

            นักวิจัยได้ศึกษาผลของเป้าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดในระดับต่ำและระดับสูงต่ออัตราตายหรือพิการในทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก นักวิจัยศึกษาแบบ randomized, double-blind trial จากโรงพยาบาล 25 แห่งในแคนาดา สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา ฟินแลนด์ เยอรมนี และอิสราเอล โดยรวบรวมทารก 1,201 ราย ซึ่งมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 23 สัปดาห์ 0 วัน ถึง 27 สัปดาห์ 6 วัน ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 2006 และสิงหาคม ค.ศ. 2010 การติดตามประเมินผลเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2008 และสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012

            นักวิจัยติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยกระทั่ง postmenstrual age ได้ 36-40 สัปดาห์ ด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วที่แสดงความอิ่มตัวของออกซิเจนสูงหรือต่ำกว่าค่าจริง 3% ผู้ดูแลได้ปรับความเข้มข้นของออกซิเจนเพื่อให้ความอิ่มตัวออกซิเจนอยู่ระหว่าง 88% และ 92% ซึ่งทำให้แยกทารกออกเป็นสองกลุ่ม โดยมีเป้าความอิ่มตัวจริงที่ 85-89% (n = 602) หรือ 91-95% (n = 599) และได้ตั้งสัญญาณเตือนเมื่อความอิ่มตัวลดลงเหลือ 86% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 94% ด้าน primary outcome ประกอบด้วยการตาย ปัญหาการประสานงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญาหรือภาษาที่ล่าช้า สูญเสียการได้ยินอย่างรุนแรง หรือตาบอดทั้งสองข้างเมื่ออายุ 18 เดือน และ secondary outcome ประกอบด้วยจอประสาทตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนดและการบาดเจ็บของสมอง

            จากทารก 578 ราย ซึ่งมีข้อมูล primary outcome และได้รับออกซิเจนที่ระดับต่ำกว่าพบว่า 298 ราย (51.6%) ตายหรือรอดชีวิตโดยมีความพิการเทียบกับ 283 รายจาก 569 ราย (49.7%) ที่ได้ออกซิเจนในระดับสูงกว่า (odds ratio ปรับตามโรงพยาบาลเท่ากับ 1.08; 95% CI, 0.85-1.37; p = 0.52) อัตราตายเท่ากับ 16.6% สำหรับกลุ่มที่ได้ออกซิเจน 85-89% และ 15.3% สำหรับกลุ่มที่ได้ออกซิเจน 91-95% (odds ratio ที่ปรับแล้วเท่ากับ 1.11; 95% CI, 0.80-1.54; p = 0.54) การตั้งเป้าความอิ่มตัวที่ต่ำกว่าลด postmenstrual age ที่การให้ออกซิเจนบำบัดครั้งสุดท้าย (mean difference ที่ปรับแล้วเท่ากับ -0.8 สัปดาห์; 95% CI, -1.5 ถึง -0.1; p = 0.03) แต่ไม่เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ด้านอื่น

            การกำหนดเป้าความอิ่มตัวออกซิเจนที่ระดับ 85-89% เทียบกับ 91-95% ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากไม่มีผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญต่ออัตราตายหรือพิการที่ 18 เดือน ซึ่งข้อมูลนี้อาจช่วยในการพิจารณาปรับระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนที่เหมาะสม