30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ (ต่อ)
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
การที่โรงพยาบาลมีเงินไม่พอใช้จ่ายในการให้บริการรักษาประชาชน ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณรายหัวในการรักษาประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายทุก ๆ ปี โดยที่เงินงบประมาณก็ยังไม่พอคุ้มค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลหลายร้อยแห่งถึงกับขาดสภาพคล่อง กล่าวคือขาดเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย
เงินเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐบาลจ่ายในปีแรกคือ 1,200 บาทต่อจำนวนประชาชน 1 คน ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม พ.ศ. 2556 - กันยายน พ.ศ. 2557)(2) เงินเหมาจ่ายรายหัวคือ 2,895.09 บาท เพิ่มจากปีแรกไป 142% แต่ก็ยังนับว่าเป็นงบประมาณขาดดุล โดยมีจำนวนประชาชนทั้งสิ้นในระบบ 48 ล้านคน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 141,430.924 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีงบประมาณสำหรับการรักษาในกลุ่มการเจ็บป่วยพิเศษแยกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ได้แก่ งบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 2,946.997 ล้านบาท งบบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 5,178.804 ล้านบาท งบบริการป้องกันควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 801.240 ล้านบาท งบค่าบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยบริการ 900 ล้านบาท และงบค่าตอบแทนบุคลากรอีก 3,000 ล้านบาท
โดยสรุปก็คืองบประมาณที่จ่ายผ่าน สปสช. ให้แก่หน่วยบริการรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 154,257.965 ล้านบาท ซึ่งในปีแรกงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวมีเพียง 56,400 ล้านบาท นับว่างบประมาณในโครงการ 30 บาทเพิ่มขึ้นถึง 97,857.965 ล้านบาท เพิ่มกว่า 173.51% แต่ถึงแม้งบประมาณจะเพิ่มขึ้นมากมายเพียงใดก็ตาม โรงพยาบาลก็ได้รับงบประมาณไม่สมดุลอยู่ดี มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ และไม่สามารถจะขอจาก สปสช. เพิ่มได้
โรงพยาบาลจึงต้อง “ปรับขึ้นราคาค่ายาและค่าบริการทุกชนิด” เพื่อที่จะสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ตามต้นทุนที่เป็นจริง
ทั้งนี้เมื่อก่อนนั้น โรงพยาบาลคิดราคาค่ายาและค่าบริการราคาถูกเพราะไม่ได้คิดเอาราคาค่าตึก ค่าเตียง ค่าเงินเดือน ฯลฯ มารวมเป็นต้นทุนในการดำเนินงาน เนื่องจากโรงพยาบาลได้รับงบประมาณเหล่านั้นจากงบประมาณแผ่นดินอยู่แล้ว โรงพยาบาลจึงสามารถคิดราคาค่าบริการในราคาต่ำ ๆ ได้ แต่เมื่อเกิดระบบ 30 บาทแล้ว โรงพยาบาลไม่ได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (ขยายตึก ซื้อเตียง จ่ายเงินเดือน ฯลฯ) จากรัฐบาลเลย และค่าเหมาจ่ายรายหัวนั้นก็ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่โรงพยาบาลต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วย
เมื่อโรงพยาบาลขึ้นราคาค่าบริการตามที่เป็นจริง สปสช. ก็ไม่มีเงินจ่ายตามราคาที่เรียกเก็บ สปสช. จึงคิดราคา “กลาง” สำหรับการรักษาแต่ละโรค ซึ่งราคากลางที่ สปสช. กำหนดนี้ก็ต่ำกว่าราคาค่าใช้จ่ายจริงของโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้มีสาเหตุก็มาจากค่าเงินตกต่ำ ทำให้ราคายาและเวชภัณฑ์ทุกชนิดมีราคาสูงขึ้น
ถึงแม้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขจะคิดต้นทุนค่าบริการเพิ่มขึ้นตามราคาที่เป็นต้นทุนที่แท้จริง แต่สปสช. ก็จ่ายเงินให้โรงพยาบาลไม่เท่ากับราคากลางที่ สปสช. กำหนดไว้เสียเอง โดยอ้างว่า “ไม่มีเงิน”
นอกจาก สปสช. จะจ่ายเงินค่าบริการให้ไม่ตรงกับต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลและต่ำกว่าราคากลางที่สปสช. กำหนดเองแล้ว สปสช. ยังจ่ายเงินล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ในกรณีที่โรงพยาบาลส่งรายงานช้า ไม่ทันตามกำหนด สปสช. ก็ถือโอกาสไม่จ่ายเงินเลยก็มี
ฉะนั้น โรงพยาบาลต่าง ๆ ก็ยังประสบปัญหาการขาดทุนอยู่ต่อไป และผู้ป่วยก็ได้รับการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การที่ระบบ 30 บาทจ่ายเงินให้โรงพยาบาลไม่คุ้มทุน ทำให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หาวิธีที่จะ “ทำการบริหารจัดการการเงิน” เสียเอง โดยไม่ได้ทำตามกฎหมายของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น ไม่จ่ายเงินตามจำนวนประชาชน แต่ สปสช. เอางบประมาณมาแบ่งเป็นแต่ละโครงการ แต่ละกลุ่มโรคเสียเอง โดยไม่ได้รับฟังและแก้ปัญหาให้โรงพยาบาลแม้แต่น้อย ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาการขาดสภาพคล่องเป็นจำนวนมาก ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้บริหารสูงสุดในภาคราชการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุขเองยังมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถจะบอกกล่าวให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแก้ปัญหาการขาดเงินทุนในการดำเนินการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในระบบ 30 บาท จนในปีนี้มีข่าวว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันคือ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์(3) ว่า กลไกการบริหารเงินของ สปสช. สร้างความทุกข์ให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงาน กล่าวคือ สปสช. แยกเงินเป็นหลากหลายกองทุน จำนวนรายการของโรงพยาบาลที่ต้องจัดส่งรายงานเพื่อแลกกับเงินมีมาก และงบค่าบริการถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ฯลฯ และยังมีการจ่ายเงินผ่าน สปสช. จังหวัดแทนที่จะจ่ายให้แก่หน่วยบริการโดยตรง ซึ่งไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทักท้วงและเรียกเงินคืนงบประมาณที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
นอกจากนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบพบว่า เลขาธิการ สปสช. ได้บริหารสำนักงานและบริหารกองทุนผิดถึง 7 ประเด็น เป็นการใช้เงินโดยไม่ถูกต้อง แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะผู้กำกับการทำงานของเลขาธิการ สปสช. ก็ยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด
ในขณะที่หน่วยบริการสาธารณสุขขาดงบประมาณในการดำเนินการตลอดเวลานี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช. กลับได้รับงบประมาณในการบริหารสำนักงานอย่างฟุ่มเฟือย ขยายสำนักงานสาขาไปทั่วประเทศ ทั้ง ๆ ที่เป็นสำนักงาน “จ่ายเงิน” เหมือนกรมบัญชีกลางเท่านั้น สำนักงานและสำนักงานสาขาของสปสช. จึงต้องจ้างบุคลากรเพิ่มขึ้นมาก และบุคลากรเหล่านี้จะได้รับเงินเดือน/ค่าตอบแทนในอัตราสูงกว่าข้าราชการ โดยส่วนมากก็จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ลาออกจากการทำงานด้านบริการสาธารณสุขไปทำหน้าที่บริหารจัดการด้านกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีผลให้บุคลากรสาธารณสุขขาดแคลนอีกด้วย
นอกจากนั้นงบประมาณรายหัวที่รัฐบาลจ่ายให้ สปสช. เพื่อจ่ายเป็นค่ารักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่าง ๆ นั้น ยังรวมถึงงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งเงินค่าตอบแทนแก่บุคลากรที่ให้บริการแก่ผู้ป่วยด้วย สปสช. ยังใช้เงินเหล่านี้ตามอำเภอใจ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การแบ่งงบประมาณเป็นโครงการย่อย ๆ แล้วหักค่าบริหารจากงบประมาณของโครงการอีก ทั้ง ๆ ที่ สปสช. ก็ได้รับงบประมาณในการบริหารอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก และ สปสช. ยังมีการเอางบประมาณไปซื้อยาและเวชภัณฑ์เอง (ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของ สปสช. ตามกฎหมาย) เช่น วัคซีน น้ำยาล้างไต ฯลฯ และได้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือบางคนเรียกว่าเงินทอนหลายร้อยล้านบาท โดย สปสช. เอาเงินนี้ไปใช้จ่ายในการให้สวัสดิการเจ้าหน้าที่ของ สปสช. รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการไปท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย
ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวของ สปสช. นี้ได้ถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงว่าไม่ถูกต้องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนและลงโทษเลขาธิการ สปสช. ซึ่งรับผิดชอบในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด
papaz büyüsü aşk büyüsü bağlama büyüsü 2 player games
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ดำเนินการศึกษาเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและปัญหาเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้สรุปว่า โรงพยาบาลรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาวิกฤติทางการเงินในระดับที่ต้องดำเนินมาตรการแก้ไขโดยเร่งด่วน พร้อมได้เสนอแนวทางแก้ไขแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขใด ๆ จากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(4)
และประธานวุฒิสภาได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เพื่อขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข 3 ประการคือ(5)
1. งบประมาณของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีจำกัด ทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการประชาชน
2. อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่อัตราผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
3. อัตราการฟ้องร้องแพทย์เพิ่มมากขึ้น ทำให้แพทย์ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน การจะออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายควรให้การดูแลทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
ทั้งนี้ได้ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแก้ไขปัญหาทั้ง 3 นี้ ทั้งมีในเรื่องงบประมาณ อัตราบุคลากร และการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
แต่ดูเหมือนว่ากระทรวงสาธารณสุขเองก็ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างใดทั้งสิ้น
ปัญหาทั้ง 3 ก็ยังดำรงอยู่ต่อไป มาตรฐานการแพทย์ก็ยังตกต่ำต่อไป
นอกจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะมีปัญหาเรื่องการขาดเงินงบประมาณแล้ว โรงพยาบาลระดับสูงที่รักษาผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขก็ประสบปัญหาการขาดแคลนงบประมาณเช่นเดียวกัน
จะเห็นได้จากการโฆษณาทางทีวีของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ที่บอกกล่าวว่าการไปใช้บริการของโรงพยาบาลแห่งนี้ นอกจากผู้ป่วยจะได้รับการบริการแล้ว ผู้ป่วยเองก็จะมีส่วนเป็นผู้ให้ เพราะโรงพยาบาลนี้จะนำรายได้ไปช่วยผู้ด้อยโอกาสต่อไป
ฉะนั้น โดยสรุปก็คือ ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค จัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ร่วมกับการบริหารการเงินผิดพลาด มีการใช้เงินผิดหมวดหมู่ ผิดวัตถุประสงค์ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการเบียดบังงบประมาณไปใช้ใน สปสช. แทนที่จะใช้สำหรับหน่วยบริการ และมีการกำหนดรายการยาและการรักษาที่จำกัด ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดีที่สุด คุณภาพการรักษาตกต่ำ การแพทย์ในระบบ 30 บาทไม่มีโอกาสใช้ยาใหม่ที่มีคุณภาพดีขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานดีที่สุด
มีแพทย์บางคนบอกว่า ผู้ป่วยในระบบ 30 บาท จะได้รับการรักษาตามมาตรฐานเลวเท่าเทียมกัน
30 บาทรักษาทุกโรคจริงหรือ? คำตอบก็คือ “ไม่จริง”
ประชาชนทั่วไปจะได้ยินการโฆษณาชวนเชื่อจาก สปสช. เสมอว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” แต่ในความเป็นจริงแล้วมีหลายโรคที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช. ไม่ยอมรักษา ได้แก่ โรคจากสารพิษที่ประชาชนในจังหวัดสระบุรีมีการเจ็บป่วยจากสารพิษจากโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรม ทาง สปสช. ก็ปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่ารักษา รวมทั้งการจำกัดสิทธิผู้ป่วยไตวายเรื้อรังให้เริ่มใช้การล้างไตทางหน้าท้องก่อนทุกคน หรือการไม่จ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติบางชนิด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะหายจากอาการป่วย
และการที่ประชาชนใช้ยาอย่างทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ คงต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการที่จะให้ประชาชนตระหนักว่า ถ้าช่วยกันใช้ยาเท่าที่จำเป็น ไม่เรียกร้องขอยาไปมาก ๆ แล้ว อาจจะมีงบประมาณเหลือพอที่จะซื้อยาที่มีคุณภาพสูงและทันสมัยมาใช้รักษาประชาชนได้ดีขึ้น
ที่สำคัญก็คือ สปสช. ถูกตรวจสอบว่าใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ใช้เงินผิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เอาเงินที่ควรจะใช้ในหน่วยบริการประชาชนไปใช้ในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งน่าจะเป็นการทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ยังได้รับการประเมินจากกระทรวงการคลังว่าเป็นหน่วยงานที่บริหารกองทุนดีเด่นถึง 3 ปีซ้อน (อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้พิจารณาประกวดการบริหารกองทุนอาจจะได้ข้อมูลการบริหารที่ไม่ครบถ้วน)
ผู้เขียนจึงคิดว่า ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนและแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างแท้จริง คือได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน โรคที่ไม่สมควรตาย/พิการ ก็ไม่ต้องตาย/พิการ โรคที่ควรจะหายขาดก็จะได้หาย ไม่กลายเป็นโรคเรื้อรังเพราะดื้อยา (ไม่ตอบสนองต่อการรักษา) เนื่องจากได้รับยาที่มีคุณภาพต่ำ ทั้ง ๆ ที่ควรจะได้รับยาที่มีประสิทธิผลสูง เนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณ และการได้รับยาไปแล้วใช้ไม่หมด ซึ่งนับเป็นการสูญเปล่าของเงินงบประมาณที่ต้องซื้อยาไปทิ้ง (เพราะประชาชนไม่เห็นคุณค่าของยาที่ได้มาฟรี ๆ)
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือมหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
2. http://www.nhso.go.th/FrontEnd/NewsInformationDetail.aspx?newsid=NzIx
3. http://www.posttoday.com
4. รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและปัญหาเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดย คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
5. หนังสือจากประธานวุฒิสภา ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ สว ๐๐๐๑/๐๗๒๕ ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕