การชันสูตรพลิกศพและตรวจศพผู้ตายที่ไม่ทราบชื่อ : ประการง่าย ๆ ในนิติเวชศาสตร์ปฏิบัติ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)
Post-Mortem Inquest and Post-Mortem Examination for Unknown Body : Easy Basic Management in Medico-Legal Practicing (A Case Report)
นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นิติเวชศาสตร์ปฏิบัติ หมายถึง การที่แพทย์ต้องทำหน้าที่ในทางนิติเวชศาสตร์ในขณะที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้อาจเป็นหน้าที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ถูกกำหนดไว้ตามแนวทางการบังคับบัญชาตามหน้าที่ที่แพทย์เหล่านั้นดำรงอยู่ หรือเป็นหน้าที่ที่ถูกบัญญัติไว้โดยกฎหมายเป็นการเฉพาะให้ทำหน้าที่แต่อาศัยความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
วิชาชีพเวชกรรม แม้ว่าจะเป็นการกระทำต่อมนุษย์ก็ตาม แต่การที่ต้องดำเนินการกับส่วนประกอบของมนุษย์หรือ “ศพ” ยังเข้าข่ายการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25251
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนส์สัมผัส การแทงเข็มหรือการฝังเข็มเพื่อบำบัดโรคหรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายความรวมถึงการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสสาร การสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย ทั้งนี้เพื่อการคุมกำเนิด การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกายด้วย
งานด้านนิติเวชศาสตร์ซึ่งอาจเรียกว่า “นิติเวชศาสตร์ปฏิบัติ” หรือ “นิติเวชปฏิบัติ” นั้น หากจำแนกแล้วอาจจำแนกได้ดังนี้
กรณีที่ 1: การจำแนกตามภาระงาน (การบังคับบัญชา) เพื่อมอบหมายให้ปฏิบัติ
หมายถึงการที่แพทย์ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ (ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ซึ่งแพทย์ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามเนื่องจาก
ก. แพทย์ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามแนวทางการบังคับบัญชา
หมายถึง การที่แพทย์ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เช่น การที่แพทย์ต้องออกตรวจผู้ป่วย (ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ตาม วัน เวลา สถานที่ แผนก สาขา ฯลฯ ตามที่ผู้บังคับบัญชาใ สถาบัน องค์การ หน่วยงาน (ส่วนงาน) ที่แพทย์ท่านนั้น ๆ ปฏิบัติงานในฐานะเจ้าหน้าที่ และ/หรือบุคลากรของสถาบัน องค์การ หน่วยงาน ฯลฯ นั้น ๆ
ข. แพทย์ถูกบัญญัติไว้ตามกฎหมายที่เป็นการเฉพาะให้ทำหน้าที่ “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม”
หมายถึง การที่แพทย์ (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ผู้ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้ให้ต้องทำหน้าที่ในทางกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้เป็นการเฉพาะ เช่น การชันสูตรพลิกศพ เป็นต้น
กรณีที่ 2: การต้องปฏิบัติตามเนื้องาน
หมายถึงแพทย์ (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ที่ต้องปฏิบัติงานโดยพิจารณาตามเนื้องานที่เกี่ยวข้อง อาจแบ่งได้ดังนี้
ก. งานด้านนิติพยาธิ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ “ศพ” และ/หรือ “ชิ้นส่วนของศพ” เป็นการตรวจ วิเคราะห์ วินิจฉัย ถึงพยาธิสภาพของสิ่งที่ตรวจนั้นโดยอาศัยความรู้ทางการแพทย์โดยตรง แต่อาจมีการใช้หลักทางวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาอื่น ๆ ประกอบด้วย
ข. งานด้านนิติเวชคลินิก เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ป่วย” (ไม่ตาย/ไม่เป็นศพ) เกี่ยวกับการเกิดพยาธิสภาพของร่างกายเนื่องจากเหตุประการหนึ่งประการใด เช่น ทางกายภาพ ทางเคมี ทางฟิสิกส์ ทางชีววิทยา ทางอณูชีววิทยา ฯลฯ อันเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่อง “ความผิด ความรับผิด สิทธิ หน้าที่ ฯลฯ” มักจะเกี่ยวข้องกับทางคดีความในแนวทางหนึ่งแนวทางใด หรือประการหนึ่งประการใด
ค. งานด้านห้องปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์ เป็นงานที่เกี่ยวกับการที่แพทย์อาจต้องใช้ความรู้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมกับความรู้ทางห้องปฏิบัติการประกอบการตรวจ แท้ที่จริงแพทย์มักเพียงตรวจสอบย้ำผลตรวจเท่านั้น (confirmed) มิใช่ทำหน้าที่โดยตรง
……………….นอกจากแพทย์จะต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกับขั้นตอน “การชันสูตรพลิกศพ” แล้ว แพทย์ยังจำเป็นต้องคำนึงถึง “กรณีในอนาคตไว้ด้วย” หมายถึงการที่แพทย์ต้องคำนึงถึงว่าหากจำเป็นต้องมีการพิสูจน์อย่างถ่องแท้ถึง “บุคคลเป็นการเฉพาะ” (specific) แพทย์จะต้องสามารถเสนอพยานหลักฐานในความน่าจะเชื่อนั้นได้ด้วย
แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์หรือทำหน้าที่ทางนิติเวชศาสตร์กับการชันสูตรและตรวจศพที่ไม่ทราบชื่อ
แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์หรือแพทย์ที่ทำหน้าที่ทางนิติเวชศาสตร์ในเรื่อง “การชันสูตรพลิกศพ” และ/หรือ “การตรวจศพ” นั้น จะต้องกระทำการหรือคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้ในการดำเนินการเสมอ
1. ในเรื่องหน้าที่ตามวัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพ
หมายถึง ต้องกระทำการให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพที่ปรากฏในมาตรา 1542 นั่นเอง
มาตรา 154 ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้
2. ในวัตถุประสงค์ข้อที่ “ให้ทราบว่าผู้ตายคือใคร” นั้นจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
หมายถึง เฉพาะในวัตถุประสงค์ประการที่ต้องการให้ทราบว่า “ผู้ตายคือใคร” นั้น แพทย์จะต้องดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ หรือมีการดำเนินการที่มากกว่ากรณีที่ทราบแล้วว่าผู้ตายเป็นใครนั่นเอง
กรณีอุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย ที่ศพถูกส่งมาเพื่อรับการตรวจต่อ) (ภาพที่ 1)
ศพได้ถูกส่งตัวมาเพื่อรับการตรวจโดยพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่พบศพ โดยแจ้งมาใน “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” เพียงสั้น ๆ ว่า “จมน้ำ” และแพทย์ได้ทำการตรวจศพใน 10 ชั่วโมงต่อมา
สภาพศพภายนอก: (ภาพที่ 2)
ศพหญิงอายุประมาณ 20-25 ปี รูปร่างสันทัด ค่อนข้างสมบูรณ์ตามสภาพ ตัวยาวประมาณ 155 เซนติเมตร ผมสีดำยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ผู้ตายสวมเสื้อแขนสั้นสีดำ มีตัวหนังสือว่า “MILAN EAGLES” ที่หน้าอกด้านซ้ายของเสื้อ และสวมกางเกงขาสั้นสีดำ กางเกงขอบยืด กางเกงในสีดำ ยกทรงสีเนื้อ (ภาพที่ 3)
ศพมีสภาพที่เน่ามากแล้ว น่าจะเสียชีวิตมากว่า 48 ชั่วโมงแล้ว ผมของศพเริ่มลอกหลุดออก ผิวหนังตามแขน ขา ลำตัวเริ่มมีการโป่งพอ (bleb formation) (ภาพที่ 4) และผิวหนังส่วนหน้าอก หน้าท้อง แขน ขา เห็นรอยเส้นของเส้นเลือดดำเป็นทางอย่างชัดเจน (marbling)
- ตรวจสภาพศพยังพบร่องรอยและวัตถุพยานพิเศษดังนี้
ก. รอยสักรูปดอกไม้ที่บริเวณต้นแขนซ้าย (ภาพที่ 5)
ข. นิ้วนางซ้ายสวมแหวนโดยเนื้อแหวนเป็นโลหะ มีหัวแหวนคล้ายแก้ว (ภาพที่ 6)
ค. แผลเป็นที่ท้องแขนทั้งสองข้าง โดยข้างซ้ายมีราว 10 แผล ข้างขวามีราว 20 แผล (ภาพที่ 7)
ง. แผลเป็นที่บริเวณท้องน้อยตั้งแต่ส่วนต่ำกว่าสะดือยาวประมาณ 20 เซนติเมตร (ภาพที่ 8)
- แขนและขาไม่พบการหักหรืองอผิดรูป
สภาพศพภายใน:
- หนังศีรษะและใต้ชั้นหนังศีรษะเริ่มสลาย (เน่า) แต่ไม่พบร่องรอยแห่งการบาดเจ็บ
- กะโหลกศีรษะไม่พบรอยแตกหรือร้าว
- เนื้อสมองเหลวจากการสลายตัว แต่ไม่พบร่องรอยการมีเลือดออก
- กระดูกคอ กระดูกสันหลัง และกระดูกซี่โครงไม่พบร่องรอยแตกหรือหัก
- หัวใจมีขนาดและรูปร่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อตรวจหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (ยังสามารถตรวจได้) ไม่พบว่าเส้นเลือดหลักทั้ง 3 เส้นมีสภาพตีบหรือตัน
- ปอดทั้งสองข้างไม่พบพยาธิสภาพหรือร่องรอยการบาดเจ็บ
- พบเศษวัตถุเล็ก ๆ ในทางเดินหายใจทั้งส่วนต้น (trachea) และส่วนแขนง (bronchi)
- อวัยวะอื่น ๆ ในช่องอกอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีสภาพที่เน่าแล้วปานกลาง
- ตับ ม้าม ไต ลำไส้ และอวัยวะต่าง ๆ ในช่องท้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่พบพยาธิสภาพการบาดเจ็บ
- มดลูกมีขนาดและรูปร่างปกติ
- กระเพาะอาหารพบของเหลวสีน้ำตาลอ่อน บางส่วนมีสภาพเป็นก้อนเล็ก ๆ คล้ายแป้งหรือเต้าหู้
การเก็บตัวอย่างเพื่อการส่งตรวจ:
- เก็บตับประมาณ 100-200 กรัม เพื่อการตรวจวิเคราะห์ทางพิษวิทยา
- การเก็บของเหลวในช่องคลอดเพื่อตรวจเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
- การเก็บกระดูกอ่อนซี่โครงเพื่อการตรวจทางพันธุกรรม (DNA)
สาเหตุตาย:
ขาดอากาศจากการจมน้ำ
พฤติการณ์ที่ตาย:
(ยังไม่สามารถระบุได้)
วิเคราะห์และวิจารณ์
ประการที่ 1: ศพรายนี้เป็นศพที่ถูกส่งมาโดยพนักงานสอบสวนและเป็นศพที่ไม่ทราบชื่อ (ภาพที่ 2)
เมื่อแพทย์ (เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ได้รับศพประเภทนี้ไว้ แพทย์จำต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะต้องทำการตรวจศพ (มาตรา 152)2 ให้ได้ถึงวัตถุประสงค์แล้ว ที่สำคัญคือ จะต้องคำนึงถึงเรื่อง “การที่ผู้ตายเป็นใครด้วย”
ประการที่ 2: การตรวจศพและการชันสูตรพลิกศพ
คำว่า “การตรวจศพ” และ “การชันสูตรพลิกศพ” แพทย์หลายท่านหรือ “คนทั่วไปทั้งหลาย” ยังอาจไม่เข้าใจคำ 2 คำนี้ อันเกี่ยวกับการตายและการที่ต้องทำการตรวจศพประกอบด้วยว่า หมายความว่าอะไร ต่างกันอย่างไร จึงอาจมีการใช้คำเหล่านี้สับสนไปได้
การชันสูตรพลิกศพ หมายถึง การดำเนินการตรวจศพประการหนึ่งแต่ต้องกระทำร่วมกันระหว่างเจ้าพนักงานมากกว่า 1 ฝ่าย ซึ่งอาจเป็น 2 ฝ่าย หรือ 4 ฝ่ายก็แล้วแต่กรณีที่ต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายนั่นเอง (ในขณะนี้คือ มาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)
การตรวจศพ หมายถึง การดำเนินการตรวจศพตามลำพังของแพทย์ (เจ้าพนักงานของรัฐหรือรัฐบาล) ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 152 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หมายเหตุ:
1. การดำเนินการตรวจศพมิได้หมายความว่าจะต้องมีการผ่าศพ แต่การตรวจศพจะมีกระบวนการ และ/หรือขั้นตอนของตัวมันเช่นเดียวกัน
2. รายละเอียดเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพและการตรวจศพยังมีอีกมาก แต่จะไม่ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้
ประการที่ 3: แนวทางในการดำเนินการเมื่อผู้ตายไม่ทราบชื่อ
สิ่งง่าย ๆ ในการดำเนินการกรณีเมื่อแพทย์ต้องทำการชันสูตรพลิกศพ และ/หรือต้องตรวจศพนั้น อาจยึดหลักได้ดังนี้
1. กรณีการชันสูตรพลิกศพ
หากแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์หรือแพทย์ที่ต้องทำหน้าที่ทางนิติเวชศาสตร์ต้องประสบกับหน้าที่ในการทำการชันสูตรพลิกศพแล้วขอให้แพทย์ “ส่งศพที่ชันสูตรพลิกศพแล้วนั้นมารับการตรวจต่อเสมอ” แพทย์ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมอบศพให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนอกกระบวนการชันสูตรพลิกศพและตรวจศพ (มาตรา 148-156) โดยเด็ดขาด อีกทั้งไม่สมควรยิ่งที่แพทย์จะออก “หนังสือรับรองการตาย ทร.4/1”3 หรือ “ใบรับแจ้งการตาย ทร.4 ตอนหน้า” (ข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายโดยแพทย์) ให้กับทายาทของผู้ตายเด็ดขาด เพราะหากได้มีการออกเอกสารเกี่ยวกับการตายดังกล่าว จะทำให้กระบวนการในการสืบค้นหรือดำเนินการเกี่ยวกับการตายจะ “หยุดลง” ทันที เพราะถือว่า “ทราบเหตุที่ตายแล้ว” และสามารถออก “มรณบัตร ทร.4”4 ได้แล้ว
2. ในกรณีการตรวจศพ
หมายถึง เป็นศพที่ไม่ทราบชื่อและถูกส่งมายังแพทย์เพื่อทำการตรวจศพต่อเนื่องภายหลังจากมีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 151 และ 152 ตามลำดับนั้น “แพทย์ (เจ้าพนักงานของรัฐหรือรัฐบาล) ผู้มีหน้าที่” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนโดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญคือ “วัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพ” ด้วย
หมายเหตุ: กรณีการที่เป็นหญิงนั้นจำเป็นต้องเก็บหลักฐานจากช่องคลอด (ตรวจหาตัวอสุจิ) ด้วยเพื่อประกอบกรณีอาจสงสัยในเรื่องทางเพศ (sexual assault)
ประการที่ 4: วัตถุประสงค์กรณี “ผู้ตายเป็นใคร” กับการชันสูตรพลิกศพและการตรวจศพ
ประการสำคัญที่สุดก็คือ “การเก็บพยานหลักฐาน” โดยเฉพาะในเรื่องการระบุตัวบุคคล (identification) สำหรับแพทย์เมื่อต้องทำการชันสูตรพลิกศพและตรวจศพ
1. ขั้นการชันสูตรพลิกศพ
1.1 การเก็บพยานหลักฐานที่ติดตัวมากับศพ อันประกอบด้วย
ก. เครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ทั้งตัวนอกและตัวใน โดยทั่วไปมักจะมีปรากฏยี่ห้อ เครื่องหมาย ขนาด ตำหนิ ฯลฯ ซึ่งสามารถที่จะนำไปสู่ “การทราบว่าผู้ตายคือใคร” (ภาพที่ 3)
ข. เครื่องประดับ เช่น แหวน ต่างหู นาฬิกา สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เป็นต้น (ภาพที่ 6)
1.2 การเก็บพยานหลักฐานจากศพ หมายถึงที่ติดมากับตัวศพเลยเป็นสำคัญ เช่น รอยแผลเป็น รอยผ่าตัด รอยสัก ตำหนิ รูปลักษณ์ต่าง ๆ (ภาพที่ 7, ภาพที่ 8)
2. ขั้นการตรวจศพ
ในขั้นตอนนี้นอกจากแพทย์จะต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกับขั้นตอน “การชันสูตรพลิกศพ” แล้ว แพทย์ยังจำเป็นต้องคำนึงถึง “กรณีในอนาคตไว้ด้วย” หมายถึงการที่แพทย์ต้องคำนึงถึงว่าหากจำเป็นต้องมีการพิสูจน์อย่างถ่องแท้ถึง “บุคคลเป็นการเฉพาะ” (specific) แพทย์จะต้องสามารถเสนอพยานหลักฐานในความน่าจะเชื่อนั้นได้ด้วย
การเก็บพยานหลักฐานในกรณีนี้หมายถึงพยานหลักฐานเพื่อการใช้ในการพิสูจน์อย่างชัดเจน (definite confirmation) ก็คือ รหัสพันธุกรรม หรือ DNA นั่นเอง ในกรณีนี้จึงแนะนำให้แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์หรือแพทย์ที่ทำหน้าที่ในการตรวจศพเยี่ยงแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ทำการเก็บพยานหลักฐานเพื่อการส่งตรวจ DNA ไว้ด้วย ตัวอย่างที่สมควรเก็บง่ายที่สุดก็คือ การเก็บ “กระดูกอ่อนของซี่โครง” (cartilaginous part of rib) ความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร เพื่อการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ “นิติเซโรโลยี” และเป็นไปตามเกณฑ์ความรู้ทางการแพทย์สำหรับแพทย์ทั่วไป
ประการที่ 5: สาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
ในการตรวจศพผู้ตายรายนี้พบว่ามีเศษวัตถุแปลกปลอม (foreign bodies) ในทางเดินหายใจ (trachea and main bronchi) ย่อมแสดงถึงสภาวะของผู้ตายในขณะที่อยู่ในน้ำยังคงมีการหายใจอยู่ (vital reaction) และได้ทำการหายใจเอาวัตถุแปลกปลอมเข้าในทางเดินทางใจ จนทำให้เป็นสาเหตุแห่งการขาดอากาศ (asphyxia) นั่นเอง
ส่วนพฤติการณ์ที่ตายนั้นเป็นการยากที่จะระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการที่ผู้ตายต้องการฆ่าตัวตาย ถูกประทุษร้าย (ผู้อื่นฆ่า) หรือเกิดจากอุบัติเหตุ ทั้งนี้เนื่องจาก
ก. ฆ่าตัวตาย อาจเป็นได้เนื่องจากผู้ตายรายนี้มีแผลที่ท้องแขน (forearms) ทั้งสองข้าง ลักษณะที่ปรากฏในทางนิติเวชศาสตร์เรียกว่า “บาดแผลทดลอง” (hesitating marks) มักพบในรายที่มีประวัติโรคทางจิตเวชศาสตร์และเป็นพฤติกรรมที่อาจตามมาด้วยการฆ่าตัวตายได้
ข. การถูกประทุษร้าย (ถูกผู้อื่นฆ่าตาย) อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การถูกผลักหรือจับโยนลงในน้ำเนื่องจากเป็นหญิงที่อาจขัดขืนได้ยาก หรืออาจอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจช่วยตนเองได้ เช่น สภาพการเมา เป็นต้น
ค. อุบัติเหตุ อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การที่พลัดตกลงในน้ำเอง หรือลงไปเล่นน้ำในขณะที่ตนเองยังไม่พร้อม เช่น อยู่ในภาวะเมาหรือได้รับยาหรือสารจำพวกทำให้ง่วงหรือซึมได้
โดยทั่วไปแล้วพฤติการณ์แห่งการตายนั้นแพทย์จะไม่ระบุ ทั้งนี้เนื่องจากแพทย์มิได้อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ยิ่งพฤติการณ์ที่อาจเป็นไปได้หลายประการ เช่น ผู้ตายรายนี้แพทย์ยิ่งไม่สมควรระบุอย่างเด็ดขาดแม้จะเป็นความเห็นก็ตาม
สรุป
การที่แพทย์ได้รับศพที่มีการชันสูตรพลิกศพมาแล้วหรือยังไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพ แต่ถูกส่งมาให้ทำการตรวจ หรือชันสูตรพลิกศพและตรวจ หากเป็นศพที่ยังไม่ทราบชื่อ นอกจากแพทย์จะต้องคำนึงถึง “สาเหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นสำคัญแล้ว” สิ่งที่แพทย์จะต้องเตรียมพร้อมโดยขาดเสียมิได้คือ การเก็บพยานหลักฐานในเรื่อง “การพิสูจน์บุคคล” ไว้ อย่างน้อยที่สุดต้องมีการถ่ายภาพไว้ และในยุคนี้จำเป็นต้องเก็บส่วนของศพเพื่อการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์บุคคลในภายหน้าด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.
2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf
3. วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์. หนังสือรับรองการตาย. สารศิริราช 2542;51:130-40.
4. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108/ตอนที่ 203/ฉบับพิเศษ หน้า 97/22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534.
5. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.