ความสัมพันธ์อุบัติการณ์หัวใจหยุดเต้นในโรงพยาบาลและการรอดชีพ

ความสัมพันธ์อุบัติการณ์หัวใจหยุดเต้นในโรงพยาบาลและการรอดชีพ
JAMA Intern Med. 2013; Published online May 20, 2013

            บทความวิจัยเรื่อง Association Between a Hospital's Rate of Cardiac Arrest Incidence and Cardiac Arrest Survival รายงานว่า มาตรการประเมินแนวทางการรักษาของแต่ละโรงพยาบาลหัวใจหยุดเต้นยังคงเน้นไปที่การรอดชีพตามเป้าหมายที่จะยกระดับการรอดชีพหลังหัวใจหยุดเต้น แต่ก็เป็นไปได้ว่าโรงพยาบาลที่มีอัตราการรอดชีพสูงอาจไม่ได้ให้การรักษาที่ดีเพียงพอสำหรับป้องกันหัวใจหยุดเต้น

            นักวิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอุบัติการณ์ของหัวใจหยุดเต้นในโรงพยาบาลและอัตราการรอดชีพ โดยระบุโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเกิดหัวใจหยุดเต้นในโรงพยาบาลอย่างน้อย 50 ราย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 และ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2009 และใช้ multivariable hierarchical regression ประเมินความเชื่อมโยงระหว่างอัตราอุบัติการณ์หัวใจหยุดเต้นในโรงพยาบาลและอัตราผู้ป่วยรอดชีพภายหลังปรับตามลักษณะของผู้ป่วยและโรงพยาบาล

            มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ ความเชื่อมโยงระหว่างอัตราอุบัติการณ์ของโรงพยาบาลและอัตราการรอดชีพสำหรับหัวใจหยุดเต้น

            จากผู้ป่วย 102,153 ในโรงพยาบาลรวม 358 แห่งพบว่า มัธยฐานของอัตราอุบัติการณ์หัวใจหยุดเต้นในโรงพยาบาลเท่ากับ 4.02 รายต่อการรับผู้ป่วย 1,000 ราย (interquartile range, 2.95-5.65 ต่อการรับผู้ป่วย 1,000 ราย) และมัธยฐานอัตราการรอดชีพในโรงพยาบาลเท่ากับ 18.8% (interquartile range, 14.5-22.6%) ผลลัพธ์จาก crude analyses ชี้ว่า โรงพยาบาลที่มีอัตราการรอดชีพสูงกว่าก็มีอุบัติการณ์หัวใจหยุดเต้นต่ำกว่าด้วย (r, -0.16; p = 0.003) ซึ่งความสัมพันธ์นี้คงที่ภายหลังปรับตามลักษณะผู้ป่วย (r, -0.15; p = 0.004) หลังจากปรับตาม mediators ที่มีศักยภาพ (เช่น ลักษณะของโรงพยาบาล) พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอุบัติการณ์และการรอดชีพถูกกดลง (r, -0.07; p = 0.18) โดยหนึ่งในปัจจัยด้านโรงพยาบาลที่ปรับได้ซึ่งกดความสัมพันธ์ดังกล่าวมากที่สุดคือ อัตราส่วนพยาบาลต่อเตียงของโรงพยาบาล (r, -0.12; p = 0.03)

            โรงพยาบาลที่มีอัตราการรอดชีพสูงสำหรับภาวะหัวใจหยุดเต้นในโรงพยาบาลมีแนวทางป้องกันหัวใจหยุดเต้นที่ดีกว่าแม้ภายหลังปรับตาม patient case mix ความสัมพันธ์นี้ส่วนหนึ่งได้รับผลจากคุณลักษณะของโรงพยาบาล นอกจากนี้มาตรวัดการดำเนินการซึ่งเน้นที่อัตราการรอดชีพอาจเหมาะสมสำหรับเป็นขั้นตอนแรกของการประเมินคุณภาพสำหรับการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในโรงพยาบาล