Collaborative Care ลดซึมเศร้าและกังวลในผู้ป่วยโรคหัวใจ

Collaborative Care ลดซึมเศร้าและกังวลในผู้ป่วยโรคหัวใจ

JAMA Intern Med. Published online April 14, 2014.

บทความเรื่อง Collaborative Care for Depression and Anxiety Disorders in Patients with Recent Cardiac Events: The Management of Sadness and Anxiety in Cardiology (MOSAIC) Randomized Clinical Trial รายงานว่า ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลสัมพันธ์กับผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ของหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่เพิ่งเกิดอาการทางหัวใจฉับพลัน โดยที่ยังมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับผลของ collaborative care สำหรับภาวะผิดปกติของสุขภาพจิตในผู้ป่วยโรคหัวใจซึ่งเป็นผู้ป่วยในที่มีความเสี่ยงสูง และยังไม่มีการนำ collaborative care มาใช้สำหรับโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล

นักวิจัยศึกษาผลของ collaborative care แบบไม่เข้มข้นสำหรับภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และตื่นตระหนกในผู้ป่วยที่รับเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากโรคหัวใจฉับพลัน โดยศึกษาระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. 2010 ถึงกรกฎาคม ค.ศ. 2013 จากผู้ป่วย 183 รายที่รับเข้าเป็นผู้ป่วยในยังหน่วยโรคหัวใจเนื่องจากหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจล้มเหลว และตรวจพบว่ามีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือตื่นตระหนก

นักวิจัยสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบ collaborative care ทางโทรศัพท์สำหรับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลระยะ 24 สัปดาห์ ร่วมกับประเมินภาวะทางจิตแบบเป็นขั้นตอนเพื่อให้การสนับสนุนและการรักษาที่เหมาะสม (n = 92) หรือเสริมการดูแลมาตรฐาน (แจ้งแพทย์เจ้าของไข้; n = 91) ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การฟื้นฟูของคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ (Short Form-12 Mental Component Score [SF-12 MCS]) ที่ 24 สัปดาห์ระหว่างทั้งสองกลุ่มจากตัวแบบ random-effects model ใน intent-to-treat analysis

ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบ collaborative care มี estimated mean improvements ของคะแนน SF-12 MCS ที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญที่ 24 สัปดาห์ (11.21 points [จาก 34.21 มาที่ 45.42] ในกลุ่ม collaborative care vs 5.53 points [จาก 36.30 มาที่ 41.83] ในกลุ่มควบคุม; estimated mean difference 5.68 points [95% CI 2.14-9.22]; p = 0.002; effect size 0.61) ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบ collaborative care ยังมีการฟื้นฟูที่ดีอย่างมีนัยสำคัญด้านอาการซึมเศร้าและการทำหน้าที่ทั่วไป และมีอัตราที่สูงกว่าด้านการรักษาปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่คะแนนอาการวิตกกังวล อัตรา disorder response และการเกาะติดการรักษาไม่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองกลุ่ม

การดูแลแบบ collaborative care สำหรับผู้ป่วยหัวใจที่มีภาวะซึมเศร้า และ/หรือวิตกกังวลมีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจิตจากการศึกษาในระยะ 24 สัปดาห์