ให้ Albumin ในผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง

ให้ Albumin ในผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง

N Engl J Med 2014;370:1412-1421.

บทความเรื่อง Albumin Replacement in Patients with Severe Sepsis or Septic Shock รายงานว่า ประสิทธิภาพการให้ albumin ในผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แม้มีหลายการศึกษาเสนอว่าอาจมีประโยชน์

นักวิจัยดำเนินการศึกษาแบบ multicenter, open-label trial โดยสุ่มให้ผู้ป่วย 1,818 รายที่มีภาวะติดเชื้อรุนแรงในหน่วยวิกฤติ 100 แห่งได้รับ 20% albumin และ crystalloid solution หรือ crystalloid solution อย่างเดียว กลุ่มที่ได้รับ albumin มีเป้าระดับ albumin เท่ากับ 30 g/liter หรือมากกว่าจนกระทั่งออกจากหน่วยวิกฤติ หรือ 28 วันหลังการสุ่ม ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การตายจากทุกสาเหตุที่ 28 วัน ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การตายจากทุกสาเหตุที่ 90 วัน จำนวนผู้ป่วยที่มีการทำงานของอวัยวะผิดปกติและระดับความผิดปกติ และระยะการรักษาในหน่วยวิกฤติและในโรงพยาบาล

ระหว่างช่วง 7 วันแรกพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับ albumin มีค่าความดันเลือดแดงเฉลี่ยสูงกว่า (p = 0.03) และมี net fluid balance ต่ำกว่า (p < 0.001) เทียบกับผู้ป่วยในกลุ่ม crystalloid ปริมาณของเหลวที่ผู้ป่วยได้รับต่อวันไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้งสองกลุ่ม (p = 0.10) ที่ 28 วันพบว่า ผู้ป่วย 285 รายจาก 895 ราย (31.8%) ในกลุ่ม albumin และ 288 รายจาก 900 ราย (32.0%) ในกลุ่ม crystalloid เสียชีวิต (relative risk ในกลุ่ม albumin เท่ากับ 1.00; 95% CI 0.87-1.14; p = 0.94) ที่ 90 วันพบว่า ผู้ป่วย 365 รายจาก 888 ราย (41.1%) ในกลุ่ม albumin และ 389 รายจาก 893 ราย (43.6%) ในกลุ่ม crystalloid เสียชีวิต (relative risk 0.94; 95% CI 0.85-1.05; p = 0.29) ทั้งนี้ไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านผลลัพธ์รองระหว่างทั้งสองกลุ่ม

การให้ albumin ในผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงร่วมกับ crystalloid ไม่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีพที่ 28 และ 90 วันเทียบกับการให้ crystalloid อย่างเดียว