ออกกำลังกายลดการตายและเบาหวานในผู้ที่ความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง
The Lancet Diabetes & Endocrinology, Early Online Publication, 3 April 2014.
บทความเรื่อง Cardiovascular Mortality, All-Cause Mortality, and Diabetes Incidence after Lifestyle Intervention for People with Impaired Glucose Tolerance in the Da Qing Diabetes Prevention Study: A 23-Year Follow-Up Study รายงานว่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในผู้ที่ความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่องสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคเบาหวาน แต่ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดถึงผลต่อการตายจากทุกสาเหตุและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด นักวิจัยจึงได้ประเมินผลระยะยาวของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต่อผลลัพธ์ระยะยาวในผู้ใหญ่ที่มีความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่องซึ่งเข้าร่วมในงานวิจัย Da Qing Diabetes Prevention Study
ผู้ใหญ่ 577 รายได้รับการสุ่มเป็นกลุ่มควบคุมหรือกลุ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (ปรับอาหาร หรือออกกำลังกาย หรือทั้ง 2 อย่าง) ผู้ป่วยเข้าร่วมในงานวิจัยเมื่อปี ค.ศ. 1986 และการแทรกแซงมีระยะเวลา 6 ปี และนักวิจัยได้ติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยเมื่อปี ค.ศ. 2009 เพื่อประเมินผลลัพธ์หลักของการตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด การตายจากทุกสาเหตุ และอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในกลุ่ม intention-to-treat
จากผู้ป่วย 577 ราย มีผู้ป่วยที่สุ่มเป็นกลุ่มแทรกแซง 439 ราย และกลุ่มควบคุม 138 ราย (ปฏิเสธการตรวจที่พื้นฐาน 1 ราย) โดยมีข้อมูลการตายของผู้ป่วย 542 ราย (94%) จาก 576 ราย และได้รับข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์จากผู้ป่วย 568 ราย (99%) ผู้ป่วย 174 ราย เสียชีวิตระหว่าง 23 ปีของการติดตาม (121 รายในกลุ่มแทรกแซงเทียบกับ 53 รายในกลุ่มควบคุม) อุบัติการณ์สะสมของการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่ากับ 11.9% (95% CI 8.8-15.0) ในกลุ่มแทรกแซงเทียบกับ 19.6% (12.9-26.3) ในกลุ่มควบคุม (hazard ratio [HR] 0.59, 95% CI 0.36-0.96; p = 0.033) โดยอัตราตายจากทุกสาเหตุเท่ากับ 28.1% (95% CI 23.9-32.4) เทียบกับ 38.4% (30.3-46.5; HR 0.71, 95% CI 0.51-0.99; p = 0.049) และอุบัติการณ์สะสมของเบาหวานเท่ากับ 72.6% (68.4-76.8) เทียบกับ 89.9% (84.9-94.9; HR 0.55, 95% CI 0.40-0.76; p = 0.001)
โปรแกรมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นระยะเวลา 6 ปีสำหรับชาวจีนที่มีภาวะความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่องสามารถลดอุบัติการณ์ของการตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด การตายจากทุกสาเหตุ และโรคเบาหวาน ข้อมูลนี้ย้ำให้เห็นประโยชน์ทางคลินิกระยะยาวของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง และสนับสนุนการบรรจุแผนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสาธารณสุขเพื่อลดผลกระทบของโรคเบาหวาน