‘อาจารย์ใหญ่แบบนุ่ม’ หน้าใหม่การเรียนแพทย์
‘อาจารย์ใหญ่’ ร่างกายอันไร้วิญญาณของผู้บริจาคร่างกายที่อุทิศเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนและค้นคว้าวิจัยทางกายวิภาคศาสตร์ ถือเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ดีที่สุดที่ไม่สามารถจะหาสื่อการสอนใด ๆ มาทดแทนได้ เนื่องจากเป็นการศึกษาจากของจริงซึ่งนักศึกษาแพทย์สามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติและประสบการณ์จริงจากร่างกายของอาจารย์ใหญ่โดยตรง ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง เพราะนอกจากการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีโดยการอ่านตำราและเข้าฟังการบรรยายของอาจารย์ในห้องเรียนแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ภาคปฏิบัติจากร่างกายมนุษย์จริงผ่านการชำแหละ และศึกษาโครงสร้างที่สลับซับซ้อนอย่างละเอียดลออทุกส่วน ซึ่งจะทำให้นักศึกษาแพทย์เติบโตเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถในการรักษาคนไข้ต่อไปในอนาคต
ในอดีตก่อนที่แพทย์จะทำการผ่าตัดหรือทำหัตถการกับคนไข้จะต้องผ่านการฝึกอบรมการผ่าตัดก่อน ซึ่งมีทั้งการอบรมผ่านหุ่นจำลองและการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่ แต่เดิมนั้นการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่จะต้องมีการแช่ฟอร์มาลีน ทำให้สภาพร่างกายไม่เหมือนร่างกายคนจริง ๆ มีสภาพแข็ง และมีกลิ่นค่อนข้างแรง ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ที่มากขึ้น โรงพยาบาลศิริราชจึงได้จัดตั้ง ศูนย์ฝึกอบรมทักษะหัตถการทางการแพทย์ศิริราช (Siriraj Training and Education Center for Clinical Skills) หรือ ศูนย์ SiTEC ขึ้น เพื่อให้แพทย์ประจำบ้าน แพทย์เฟลโลว์ และนักศึกษาแพทย์ได้ฝึกหัดทำหัตถการ หรือการผ่าตัดที่สำคัญจนเกิดทักษะและประสบการณ์เชิงปฏิบัติในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ปลอดภัยพอก่อนให้การรักษาคนไข้จริงต่อไป เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางได้ฝึกอบรมทักษะหัตถการหรือการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเพื่อให้บริการวิชาการแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในด้านการฝึกทักษะหัตถการหรือการผ่าตัดทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์ SiTEC ประกอบด้วย ห้องฝึกผ่าตัดขนาด 8 เตียง จำนวน 2 ห้อง ห้องฝึกผ่าตัดขนาด 2 เตียง จำนวน 2 ห้อง รวมทั้งสิ้นจำนวน 20 เตียง มีห้องบรรยายขนาด 50 ที่นั่ง พร้อมระบบโสตทัศนูปกรณ์เพื่อถ่ายทอดการสาธิตผ่าตัด และสามารถถ่ายทอด Video Tele-conference ระหว่างประเทศได้ รวมถึงมีห้องฝึกผ่าตัดจุลศัลยกรรมขนาด 10 โต๊ะ มีอุปกรณ์ฝึกผ่าตัดครบครัน รวมทั้งเครื่องฝึกผ่าตัดเสมือนจริง (Simulators) ที่ทันสมัย เช่น ชุดฝึกใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง อุปกรณ์ฝึกการผ่าตัดเสมือนจริงด้วยวิธีการส่องกล้อง เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการยกระดับคุณภาพบริการและมาตรฐานความปลอดภัยให้แก่คนไข้ เพราะเมื่อแพทย์มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดยิ่งน้อยลง อีกทั้งยังจัดให้มีตู้แช่เพื่อเก็บร่างอาจารย์ใหญ่ได้สูงสุดถึง 24 ร่าง
นอกจากนี้ยังมีความพิเศษคือ มีการพัฒนาการทำหัตถการแบบใหม่ที่เรียกว่าอาจารย์ใหญ่แบบนุ่ม ซึ่งจะไม่มีการแช่ด้วยฟอร์มาลีนเพียงอย่างเดียวเหมือนเดิม แต่จะมีการใช้สารเคมีบางชนิดที่สามารถทำให้สภาพร่างกายของผู้บริจาคมีสภาพเหมือนคนนอนหลับปกติ ผิวเนื้อนิ่มคล้ายคนไข้จริง ๆ ซึ่งจะแตกต่างจากอาจารย์ใหญ่แบบเดิมที่มีลักษณะร่างกายที่ค่อนข้างแข็ง ทำให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้การผ่าตัดเสมือนผ่าตัดคนไข้จริง ๆ โดยปัจจุบันหลายประเทศหันมาฝึกอบรมการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่แบบนิ่มกันมากขึ้น ทั้งอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่เอเชียก็มีจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งประเทศไทย
โดยได้ฤกษ์เปิดตัวศูนย์ SiTEC อย่างเป็นทางการในโอกาสครบรอบ 126 ปีของโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของแผ่นดินที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 นามว่าโรงศิริราชพยาบาล หรือโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 126 ปี โรงพยาบาลศิริราชได้ทำการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ลำหน้าทันสมัยมาใช้ ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเชี่ยวชาญในการรักษา ทำให้โรงพยาบาลศิริราชได้รับการยอมรับ เชื่อถือ และไว้วางใจจากผู้ป่วยทุกสารทิศที่มารับบริการปีละกว่า 3 ล้านคน
ศ.พญ.สุวรรณี สุรเศรณีวงศ์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานศูนย์ SiTEC กล่าวว่า ศูนย์ SiTEC เปิดดำเนินการมาได้ 2 ปี เพื่อเป็นศูนย์ฝึกผ่าตัดและหัตถการทางการแพทย์บนร่างอาจารย์ใหญ่ ทั้งแบบแช่แข็งและแบบนุ่ม ซึ่งได้ปรับปรุงพื้นที่ขนาด 1,000 ตารางเมตร ที่ชั้น 4 อาคารศรีสวรินทิรา ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2556 - เมษายน พ.ศ. 2557 โดยได้รับงบประมาณจากเงินศิริราชมูลนิธิจำนวน 24.5 ล้านบาท
ในส่วนของอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินกว่า 60 ล้านบาท และศิริราชมูลนิธิ 36 ล้านบาท เช่น เครื่องผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้องชุด Training box และเครื่อง Simulators สำหรับฝึกผ่าตัดทางศัลยศาสตร์สาขาต่าง ๆ ชุดหุ่นจำลองฝึกทักษะ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้รับความร่วมมือจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ที่พัฒนาอาจารย์ใหญ่แบบนุ่ม ซึ่งได้ศึกษาดูงานจากประเทศอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้ปรับสูตรน้ำยาและกระบวนการเตรียมร่างให้เหมาะกับสภาพประเทศไทยที่มีอากาศร้อน จนมีความสมบูรณ์เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการมาสามารถทำร่างอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มได้แล้ว 25 ร่าง โดยวางแผนไว้ว่าในปี พ.ศ. 2558 จะทำให้ได้ 40 ร่าง และในอนาคตได้มีการตั้งเป้าที่จะใช้ฝึกกับนักศึกษาแพทย์ในระดับปริญญาตรีด้วย เนื่องจากขณะนี้การฝึกผ่าตัดในร่างอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มยังใช้ฝึกแค่เฉพาะกลุ่มของแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ต่อยอด รวมถึงอาจารย์เท่านั้น เพราะต้องฝึกผ่าตัดเฉพาะทาง เช่น ข้อกระดูก ประกอบกับค่าใช้จ่ายของการทำร่างอาจารย์ใหญ่แบบดั้งเดิมหรือแบบแข็งนั้นถูกกว่าแบบนุ่มถึง 3 เท่า
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังปรับหลักสูตรแพทยศาสตร์ โดยหลักการใหม่คือ ไม่อยากให้แพทย์จบใหม่ไปทำหัตถการครั้งแรกในตัวคนไข้ ซึ่งภายในศูนย์ SiTEC นักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะเป็นแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะได้ทำหัตถการครั้งแรกในร่างที่ไม่ใช่ตัวคนไข้ เช่น อาจารย์ใหญ่ และหุ่น เป็นต้น โดยจะเป็นอาจารย์ใหญ่แบบใหม่ที่มีลักษณะเป็นแบบนุ่มคือ เหมือนคนนอนหลับปกติ ผิวเนื้อนิ่มคล้ายคนไข้จริง ๆ ซึ่งแตกต่างจากแบบเดิมที่มีลักษณะร่างกายที่ค่อนข้างแข็ง ผิวหนังแข็ง ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์
ในการทำอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มจะต้องใช้สารเคมีบางอย่างฉีดเข้าไปในร่างกาย แล้วไม่ทำให้โปรตีนเกิดการแตกตัว ซึ่งต่างจากอาจารย์ใหญ่แบบเดิมที่ใช้ฟอร์มาลีน เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะคล้ายของจริงหมด โดยสารตัวนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากแต่ละแห่งก็มีการพัฒนาสารลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งสูตรเคมีก็คล้ายกัน เพราะไม่ได้ซับซ้อนจนเกินไป แต่ละแห่งก็มีการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับศิริราชได้ส่งอาจารย์ไปดูงานที่สวีเดนแล้วกลับมาพัฒนา โดยเริ่มมีการทดลองผ่าตัดอาจารย์ใหญ่แบบใหม่หรือแบบนุ่มแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่แบบใหม่หรือแบบนุ่ม แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งอาจารย์ใหญ่แบบเก่า เนื่องจากอาจารย์ใหญ่แบบใหม่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่ามาก สำหรับนักศึกษาแพทย์จะยังใช้อาจารย์ใหญ่แบบเดิมซึ่งมีการพัฒนาให้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ผู้ที่จะทำหัตถการผ่าที่ตัวคนไข้ อยากให้ใช้อาจารย์ใหญ่คล้ายตัวคนไข้จริง ๆ อย่างการส่องกล้องก็คล้ายคนจริง ๆ จึงให้ใช้อาจารย์ใหญ่แบบนุ่ม นอกจากนี้ในศูนย์ SiTEC ยังมีหุ่นยนต์ซึ่งจำลองเหมือนคนไข้จริง ๆ ด้วย โดยหุ่นจะแสดงอาการหน้าแดง ไข้ขึ้น ร้องคราง ตัวสั่นได้ หรือพอให้ยาอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติเหมือนคนจริง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ฝึกทักษะเหล่านี้โดยไม่ได้ไปเริ่มที่ตัวคนไข้ และไม่เพียงแต่อบรมแก่แพทย์ในประเทศเท่านั้น ศูนย์ SiTEC ยังจะช่วยฝึกอบรมให้แก่แพทย์ในอาเซียน โดยจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่ดีที่สุดในอาเซียนอีกด้วย
นพ.ณปกรณ์ แสงฉาย อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาควิชาสามารถพัฒนาร่างอาจารย์ใหญ่ได้ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบันสามารถผลิตได้จำนวน 25 ร่าง ซึ่งมีการนำออกมาใช้แล้วจำนวน 4 ร่าง ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 จะผลิตเพิ่มให้ได้อีก 40 ร่าง โดยวางแผนการผลิตจากผู้แสดงความจำนงขอบริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ซึ่งมีประมาณ 2,000 รายต่อปี แต่สามารถผลิตได้เพียงปีละ 300 ร่าง โดย 120 ร่างจะนำมาใช้ในการเรียนการสอนกายวิภาคศาสตร์ อีก 100 ร่างจะผลิตแล้วส่งออกไปยังสถาบันการแพทย์อื่นหรือโรงเรียนแพทย์ที่ผลิตอาจารย์ใหญ่เองไม่ได้ ส่วนอีกประมาณ 80 ร่างจะนำมาผลิตอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งและแบบนุ่มอย่างละครึ่งคือ ประมาณ 40 ร่าง ซึ่งสาเหตุที่หันมาผลิตอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งและแบบนุ่มคือ ต้องการลดการใช้ฟอร์มาลีน ซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็งและทำให้ผู้ใช้ร่างอาจารย์ใหญ่เกิดการระคายเคืองจมูก ซึ่งอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งจะไม่มีการใช้ฟอร์มาลีนเลย โดยนำร่างอาจารย์ใหญ่ไปแช่แข็งในตู้แช่แข็งที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ส่วนอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มใช้ฟอร์มาลีนเพียง 2% ต่างจากแบบเดิมที่ใช้ฟอร์มาลีนถึง 10%
ข้อดีของอาจารย์ใหญ่แบบเดิมที่ฉีดน้ำยาที่มีส่วนผสมของฟอร์มาลีนประมาณ 10% และนำไปลงบ่อดองประมาณ 2 ปี จึงนำมาใช้ได้นั้นคือ ค่าใช้จ่ายต่อร่างต่ำสุด เก็บไว้ได้นานตลอดปีการศึกษา หรือ 1 ปีกว่า แต่ข้อเสียคือ ร่างแข็ง ผิวหนัง ข้อต่อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อไม่ยืดหยุ่น จึงคิดผลิตอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งและแบบนุ่มตามมา โดยอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งเมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตแล้วจะต้องตรวจเลือดก่อน 3 อย่างคือ เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซี หากเป็นผลลบก็จะนำไปแช่แข็งทันที เมื่อแช่แข็งเลือดก็จะแข็งตัวหมด ก่อนนำมาใช้ต้องนำมาละลายก่อน 3 วัน เลือดก็จะละลายเป็นของเหลวเหมือนเดิม ทำให้ศพเหมือนมนุษย์มากที่สุด แต่การเก็บรักษาไม่นานคือ ประมาณ 3 เดือนหลังจากนำมาใช้ครั้งแรก และแบบศพนุ่มหลังฉีดน้ำยาเข้าร่างที่มีฟอร์มาลีน 2% จะนำไปแช่แข็งในแท็งก์ประมาณ 3 เดือนจึงจะใช้ได้ แต่ข้อดีคือ สามารถเก็บรักษาได้นานกว่า 2 ปี หลังจากนำออกมาใช้ในครั้งแรก
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีคุณลักษณะและศักยภาพในการบริการด้วยหัวใจ คำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นหลัก การจัดระบบการเรียนการสอนด้านแพทยศาสตร์ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตและความเจ็บป่วยจึงจำเป็นต้องให้แพทย์ที่จบไปปฏิบัติงานจริงมีโอกาสได้ฝึกซ้อมด้านหัตถการทางการแพทย์ภายใต้การกำกับดูแลจากอาจารย์แพทย์อย่างใกล้ชิด จนเกิดความชำนาญในการผ่าตัดอย่างเพียงพอจึงจะสามารถปฏิบัติงานจริงกับคนไข้ในห้องผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย