กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะวิธีป้องกันอันตรายจากด้วงก้นกระดก
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ด้วงก้นกระดก หรือบางครั้งเรียกว่าแมลงเฟรชชี่ เนื่องจากพบมากเมื่อเริ่มเปิดเทอม เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ชนิดที่พบบ่อยในบ้านเราคือ Paederus fuscipes ซึ่งมีลำตัวสีส้มสลับดำ ปีกคู่แรกแข็งสั้นสีดำเป็นมัน ส่วนท้องยาวออกมานอกปีก สังเกตเห็นได้ง่าย ปลายท้องสีดำ อาศัยอยู่ตามกองมูลสัตว์ ดินใต้หิน และกองไม้หรือต้นพืชที่มีลักษณะเป็นเถาปกคลุม ไม่ได้กัดกินเลือดคนเป็นอาหาร แต่จะชอบบินเข้ามาเล่นไฟในบ้านเรือนในเวลากลางคืน จึงทำให้มีโอกาสที่คนจะได้สัมผัสกับแมลงชนิดนี้ พิษของด้วงก้นกระดกเกิดจากสารพิษพีเดอริน (Pederin) ที่อยู่ภายในลำตัวของแมลง เมื่อแมลงไต่ขึ้นมาตามร่างกายแล้วไปตบตีหรือทำให้ลำตัวแตกหัก สารพิษจะซึมเข้าสู่ผิวหนังและร่างกาย ทำให้เกิดเป็นแผลพุพอง บวมแดง และปวดแสบปวดร้อน ถ้าเราถูที่บาดแผล พิษจะกระจายเป็นผื่นพุพองเป็นวงกว้างมากขึ้นและเป็นนานหลายวัน เมื่อแผลทุเลาแล้วจะยังเป็นรอยดำอีกระยะหนึ่ง และต้องระวังไม่ให้สารพิษเข้าตา เพราะจะทำให้ตาอักเสบจนถึงกับตาบอดได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสกับแมลงชนิดนี้ ถ้าพบแมลงไต่ขึ้นมาตามร่างกาย ห้ามตีหรือบี้ แต่ควรใช้กระดาษทิชชู่หนา ๆ ค่อย ๆ หยิบแมลงออกจากร่างกาย ส่วนนักเรียน นักศึกษาที่อ่านหนังสือเวลาค่ำคืนควรใช้ไฟตั้งโต๊ะให้แสงส่องในบริเวณที่ต้องการ อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด และหมั่นดูแลซ่อมแซม อย่าให้มุ้งลวดมีรอยฉีกขาด แต่ถ้าผิวหนังถูกน้ำพิษของด้วงก้นกระดกแล้วห้ามแกะเกา เพราะจะทำให้น้ำพิษกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ แล้วใช้ยาปฏิชีวนะประเภทครีมทาบริเวณที่ถูกพิษ ถ้ามีอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนให้ทาด้วยน้ำยาคาลาไมน์ กรณีที่ตุ่มแผลแตกแล้วเป็นหนองจากการติดเชื้อซ้ำหรือมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์