30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ (ต่อ)
ในการให้บริการสาธารณสุขที่ดีมีมาตรฐานก้าวหน้าและทันสมัยสำหรับประชาชน รัฐบาลต้องจัดให้มีทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินงาน 3 อย่าง ได้แก่ ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และเครื่องมือเครื่องใช้รวมทั้งเทคโนโลยีที่จำเป็น
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล การขาดแคลนงบประมาณในระบบ 30 บาท ได้ทำให้คุณภาพมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขตกต่ำจากมาตรฐานที่เคยเป็นมาก่อนที่จะมีโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ในตอนนี้ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงการขาดแคลนอย่างที่ 3 คือ การขาดแคลนเรื่องอาคารสถานที่ วัสดุครุภัณฑ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นและทันสมัยในการจัดการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข
3. การขาดแคลนอาคารสถานที่ เทคโนโลยี วัสดุ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ ในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลได้ตัดงบประมาณในการดำเนินการทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุขเอาไปรวมไว้กับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่จ่ายผ่านไปทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และงบประมาณนี้ให้ใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประชาชน เงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรในโรงพยาบาล รวมถึงค่าซ่อมแซมอาคารสถานที่ ค่าจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ในการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน
แต่งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในการรักษาประชาชนที่เจ็บป่วยนั้นมีไม่เพียงพอในการซื้อเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วย จึงไม่มีงบประมาณที่จะมาใช้ในการซ่อมแซมอาคารสถานที่ โดยไม่ต้องไปถามถึงว่าจะมีเงินก่อสร้างขยายอาคารสถานที่ในการรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้นได้เลย ทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนอาคารสถานที่ เตียง อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกสบายและปลอดภัยแก่ประชาชนที่ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
นอกจากโรงพยาบาลจะมีแต่อาคารสถานที่เก่า ๆ และไม่ได้ขยับขยายเพิ่มเติมแล้ว จำนวนประชาชนที่มารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ก็มีมากขึ้นตามสถิติของผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในการมารับการรักษา ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไม่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนป่วยน้อยลงจากการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งจำนวนประชาชนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อาคารสถานที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิม
การขาดแคลนเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบายและความปลอดภัย เช่น การไม่มีเตียงเพียงพอที่จะรองรับกับจำนวนผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยต้องนอนตามเตียงเสริม เตียงแทรกที่ไม่มีที่วางเตียงในหอผู้ป่วยตามธรรมดา ต้องเอาเตียงผู้ป่วยไปไว้ตามระเบียง หน้าลิฟต์ หน้าบันได หรือบางแห่งผู้ป่วยต้องนอนเสื่อ (ไม่มีเตียงพอให้ผู้ป่วยนอน) ทำให้ผู้ป่วยไม่สะดวกสบาย และบุคลากรมีความลำบากในการให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย
ถ้าผู้อ่านเคยไปใช้บริการสาธารณสุขที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าที่ใดจะเห็นได้ถึงความแออัดยัดเยียดของประชาชนคนป่วยและญาติพี่น้องที่นำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล ผู้คนเบียดเสียดรอรับการรักษาอยู่ที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอก (ด่านหน้าของโรงพยาบาล) จนแทบไม่มีที่นั่ง ที่ยืน/เดิน ผู้ป่วยหนักต้องนอนรอรับการตรวจรักษาอยู่บนเปลเข็น เนื่องจากไม่มีที่นอนในห้องตรวจผู้ป่วยแล้ว ส่วนผู้ป่วยที่ยังพอที่จะนั่งหรือยืนได้ก็มีจำนวนมากจนต้องไปรอกันแถวบันไดก็มีอยู่มากมาย และถ้าเราเข้าไปในแผนกผู้ป่วยใน (ผู้ป่วยที่มีอาการมากจนต้องนอนเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล) หลาย ๆ แห่ง จะพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยนอนเต็มทุกเตียง และหลายแห่งอาคารรับผู้ป่วยในนั้น ไม่มีที่ว่างพอจะรองรับเตียงผู้ป่วยได้ทั้งหมด ต้องเอาเตียงมาเสริมมาแทรกระหว่างทางเดิน ระหว่างเตียง หรือต้องเอาเตียงไปตั้งตามระเบียง หน้าบันได หน้าลิฟต์ บางแห่งมีผู้ป่วยจำนวนมากกว่าจำนวนเตียงแทรกที่โรงพยาบาลมีอยู่ ต้องปูเสื่อให้ผู้ป่วยนอนบนพื้นทางเดินแทน ซึ่งมีสภาพเหมือนสลัมในโรงพยาบาล สภาพการณ์แบบนี้นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวกสบายในการพักรักษาตัวแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานในการรักษาพยาบาลไม่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี พ.ศ. 2545 โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการซ่อมแซม ก่อสร้างอาคารสถานที่ และจัดการวัสดุครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ จากงบประมาณแผ่นดิน และโรงพยาบาลยังมีเงินบำรุงโรงพยาบาลเหลืออยู่ เหมือนกับเงินคงคลัง โดยผู้บริหารโรงพยาบาลสามารถนำเงินบำรุงโรงพยาบาลนี้มาใช้สำหรับซ่อมแซม ก่อสร้าง พัฒนา/ซื้อเครื่องมือแพทย์ และใช้จ่ายในการช่วยจัดบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลได้ รวมทั้งจ่ายค่าจ้างให้แก่บุคลากรที่โรงพยาบาลจ้างมาเพิ่มเติมจากอัตราข้าราชการที่มีไม่เพียงพอที่จะรองรับภาระงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นได้ เพื่อช่วยให้มีบุคลากรเพียงพอต่อการทำงานในการให้บริการดูแลรักษาประชาชนอย่างมีคุณภาพ
ภายหลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว รัฐบาลจัดสรรงบประมาณค่าให้บริการดูแลรักษาประชาชนเป็นงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวทั้งปีคนละ 1,200 บาทในปีแรก ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้งดจ่ายงบประมาณประจำปีที่กระทรวงสาธารณสุขเคยได้รับโดยตรงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณในการก่อสร้าง ซ่อมแซม พัฒนา จัดซื้อจัดจ้าง ตลอดไปจนถึงงบประมาณเงินเดือนของข้าราชการและบุคลากรทั้งหมด ก็ถูกนำไปรวมอยู่ในงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวนี้ด้วย โดยงบประมาณเพียงเท่านี้ไม่เพียงพอสำหรับการจัดบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน (โรงพยาบาลทุกแห่งต้องนำเงินคงคลังของโรงพยาบาลออกมาใช้ในการดำเนินงานจนหมดในเวลาไม่นาน)
กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินในการทำงาน จากการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณขาดดุลนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการร้องของบประมาณเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ประกอบกับประชาชนได้รับทราบจากการโฆษณาของรัฐบาล และ สปสช. ว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ส่งผลให้ประชาชนมารับบริการรักษาเพิ่มขึ้น
งบประมาณสำหรับทำงานลดลง อาคารสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ มีไม่เพียงพอเนื่องจากการขาดงบประมาณ แต่ประชาชนที่มาใช้บริการมีมากขึ้นหลายเท่าตัว
จำนวนผู้ป่วยมากขึ้นทำให้การบริการไม่มีมาตรฐานและทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนคนป่วย
ก่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวนประชาชนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลมี 80 ล้านครั้ง หลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มมากขึ้นจนถึงประมาณ 200 ล้านครั้ง ส่งผลให้มีความขาดแคลนอาคารสถานที่ เตียง เวชภัณฑ์และทุก ๆ สิ่ง รวมทั้งจำนวนบุคลากรผู้ทำงานดูแลรักษาให้บริการประชาชนด้วย การที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทำให้บุคลากรมีเวลาในการให้บริการผู้ป่วยแต่ละคนน้อยลง มีเวลาซักถามและอธิบายแก่ผู้ป่วยน้อยลงจนอาจเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญทางการแพทย์ที่บุคลากรทางการแพทย์ให้คำอธิบายและแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์นั้นไม่ดีเท่าที่ควร เพราะประชาชนมักจะพูดว่า “หมอไม่บอกว่าเป็นอะไร จะหายหรือไม่” หรือผู้ป่วยไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะช่วยให้อาการป่วยดีขึ้นอย่างรวดเร็วตามชนิดของโรคหรืออาการป่วยนั้น ๆ