MoPH.-MoAC. Rabies Awards 2013
รางวัลแห่งความภูมิใจเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน
“โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่น่ากลัว เพราะเป็นแล้วตาย ไม่มียารักษาทั้งคนและสัตว์ เมื่อมีอาการแล้วจะต้องตายทุกราย และไม่ได้ตายอย่างปกติ แต่ตายอย่างน่าเวทนา น่าสงสาร เพราะเชื้อไวรัสเรบีส์จะเข้าไปทำลายระบบประสาททำให้บางช่วงบางตอนผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่งควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แม้ว่าครอบครัวหรือญาติพี่น้องจะมีเงินมากแค่ไหนก็ไม่สามารถช่วยได้ เปรียบได้กับภัยเงียบ ภัยใกล้ตัว”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่มีอันตรายร้ายแรงก็ตาม แต่ก็สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนให้แแก่สุนัขหรือสัตว์เลี้ยง รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันตัวเองภายหลังจากถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียผิวหนังบริเวณที่มีแผลหรือรอยถลอก ซึ่งการควบคุมป้องกันโรคนี้หากทำจริงจังและได้รับความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทั้งสาธารณสุข ปศุสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เชื่อว่าโรคนี้จะสามารถถูกกำจัดให้หมดไปจากประเทศได้ นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงร่วมกันลงนามทำบันทึกความร่วมมือการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อร่วมกันเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลกและองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ รวมถึงการมอบรางวัลโรคพิษสุนัขบ้าประจำปี (MoPH.-MoAC. Rabies Awards) ขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานให้มีการพัฒนาการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าให้ปลอดจากพื้นที่โดยเร็ว
สพญ.อภิรมย์ พารักษา รักษาการนายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของโครงการประกวดรางวัลโรคพิษสุนัขบ้าประจำปีว่า การดำเนินงานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้อาจเนื่องจากในการดำเนินงานมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง อาศัยความร่วมมือและงบประมาณจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งแรงผลักดันการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานผู้ปฏิบัติซึ่งกว่าจะประสบผลสำเร็จต้องใช้เวลานาน ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างเสริมกำลังใจและให้เกียรติแก่การอุทิศเวลาทำงานด้วยความทุ่มเทและเสียสละ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค จึงร่วมกับกรมปศุสัตว์ โดยการสนับสนุนรางวัลจากบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด จัดการประกวดรางวัลโรคพิษสุนัขบ้าประจำปี โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ในครั้งนั้นใช้ชื่อว่า รางวัลผู้มีคุณประโยชน์ต่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า (MOPH. Rabies Awards) กำหนดรางวัลเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. รางวัลบุคคลผู้มีคุณประโยชน์ต่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า 2. รางวัลหน่วยงานวิชาการที่มีคุณประโยชน์ต่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และ 3. รางวัลหน่วยงานปฏิบัติงานระดับจังหวัดที่มีคุณประโยชน์ต่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ผู้ที่มีความตั้งใจปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องทั้งด้านวิชาการและด้านปฏิบัติงาน เป็นการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการประสานงานกันในการดำเนินงานในระดับต่าง ๆ การพิจารณารางวัลมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และมหาวิทยาลัย พิจารณาจากผลงานที่มีผู้ส่งเข้าประกวดตามที่มีการประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ และเชิญชวนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค มหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2553 มติคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเปลี่ยนชื่อรางวัลเป็น MoPH.-MoAC. - Sanofi Pasteur Rabies Awards (Ministry of Public Health Ministry of Agriculture and Cooperatives) และในปี พ.ศ. 2554 มีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็นรางวัลโรคพิษสุนัขบ้าประจำปี หรือ MoPH.-MoAC. Rabies Awards (Ministry of Public Health Ministry of Agriculture) กำหนดให้เป็นการประกวดหน่วยงานปฏิบัติงานดีเด่นระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)/เทศบาลที่มีคุณประโยชน์ต่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยเน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง มีผลงานบรรลุตามเป้าหมาย และมีกิจกรรมหรือโครงการพิเศษที่เป็นความคิดริเริ่มแตกต่างจากหน่วยงานอื่น
สำหรับโครงการประกวดรางวัลโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปี พ.ศ. 2556 (MoPH.-MoAC. Rabies Awards 2013) ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย และองค์การบริหารส่วนตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ได้รับเงินรางวัลแห่งละ 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีสำราญ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยในส่วนรางวัลโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปี พ.ศ. 2556 ระดับเทศบาลที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เทศบาลตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรจากอธิบดีกรมควบคุมโรคและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เทศบาลตำบลนางัว อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรจากกรมควบคุมโรค และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ เทศบาลตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และเทศบาลตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรจากกรมควบคุมโรค
“ทั้งนี้เกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การทำประชาคมและการดึงประชาคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเด่นของแต่ละทีมแตกต่างกัน มีหลายแห่งได้จัดตั้ง Mister Rabies ประจำหมู่บ้าน หรือจัดตั้งเป็นศูนย์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยแต่ละทีมที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่มีการเตรียมพร้อม อันดับแรกคือ เตรียมพร้อมใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องคิดว่าตัวเองทำได้ จากนั้นก็เตรียมพร้อมคน และจึงลงมือทำ นอกจากนี้ความสามัคคีก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่าคิดว่าเราทำคนเดียว ต้องร่วมมือกันจึงจะเกิดความยั่งยืนและถาวร รวมถึงประชาชนในพื้นที่ต้องให้ความสำคัญและมองเห็นว่าเป็นปัญหาของเราที่ต้องจัดการให้โรคร้ายนี้หมดไปจากพื้นที่”
สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปัจจุบัน สพญ.อภิรมย์ กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในปัจจุบันจากข้อมูลรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2556 พบว่า มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 7 ราย ซึ่งถ้าดูจากข้อมูลแล้วไม่น่าจะมีคนเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากว่าเราใช้วัคซีนที่มีคุณภาพดีที่สุดในระบบ และโรคนี้สามารถใช้วัคซีนป้องกันได้ถึง 2 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ ขั้นตอนแรกคือ ป้องกันโรคในสัตว์ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข และขั้นตอนที่สองคือ ปฏิบัติตนให้ถูกต้องหลังได้รับเชื้อด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันภายหลังจากถูกสุนัขกัดหรือข่วน ซึ่งคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่คือคนที่ไม่ได้มาหาหมอ โดย 90% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากการกัดของสุนัขและเป็นสุนัขที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากยังมีความเข้าใจผิดคิดว่าถ้าเป็นลูกสุนัขจะไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า โดยพบว่าลูกสุนัขอายุประมาณ 2-3 เดือน เป็นสาเหตุทำให้คนเสียชีวิต และมักเป็นลูกสุนัขที่มีเจ้าของแต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากคนมักจะคิดว่าถ้าเป็นสุนัขมีเจ้าของคงไม่เป็นอะไร แต่อยากจะฝากบอกกับทุกคนว่าสุนัขมีเจ้าของหรือไม่มี ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือเลี้ยงแบบไม่ดูแลก็เป็นอันตรายทั้งนั้น รวมถึงบางคนอาจเห็นว่าเป็นเพียงบาดแผลเล็กน้อยไม่น่าจะเกิดอันตราย แต่จริง ๆ แล้วถึงแม้ว่าจะเป็นบาดแผลเล็กน้อย แต่ถ้าเกิดเป็นพิษสุนัขบ้าก็เสียชีวิตได้
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาและตัดสินการประกวดรางวัลโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปี พ.ศ. 2556 กล่าวถึงความคาดหวังในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2563 ว่า ผมคิดว่าถ้าเราได้ดำเนินการในเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรมแบบที่ผ่านมา การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2563 ก็สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทั้งนี้ถ้ามองภาพรวมโดยทั่วไปจะเห็นว่าเราสามารถลดปัญหาจำนวนของคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ดีขึ้นตามลำดับ เพราะเราได้รับความเอาใจใส่ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและชุมชน แต่ยังขาดอยู่ที่ตัวบุคคลและครอบครัวที่ยังละเลยต่อเรื่องนี้ ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มเป้าหมายไปที่คนกลุ่มนี้เพื่อกระตุ้นให้เขามีความเอาใจใส่มากขึ้น โดยการศึกษาไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์ให้นำสุนัขหรือแมวไปฉีดวัคซีน ซึ่งการประชาสัมพันธ์นี้จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับหมู่บ้าน โดยหมู่บ้านทุกวันนี้จะมีหอกระจายเสียงของหมู่บ้าน ถ้าเราสามารถใช้ทรัพยากรพวกนี้ป้อนความรู้ให้แก่ชุมชนตลอดเวลา เพื่อให้พวกเขาเกิดความตระหนัก กระตุ้นให้เกิดการใช้สื่อเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าการเน้นในเรื่องของความบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียว รวมถึงการให้ความรู้ตามสถานศึกษาในโรงเรียนให้ความรู้แก่เด็ก แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องใช้เวลาและความพยายามแต่เราก็ต้องทำ
สำหรับความก้าวหน้าทางด้านโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยนั้น ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เรามีความก้าวหน้ามาก เนื่องจากปัจจุบันนี้เรามีวัคซีนที่มีคุณภาพ มีความบริสุทธิ์ ทำให้ไม่เกิดผลข้างเคียง และมีภูมิคุ้มกันที่ชัดเจน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อสัมผัสกับโรคพิษสุนัขบ้า จำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีน กลับละเลยไม่ยอมไปฉีดวัคซีน เพราะคิดว่าการถูกสุนัขกัดหรือข่วนคงไม่เป็นอะไร สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไข นอกจากนี้การวิจัยเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย แต่ก่อนมีการทำวิจัยหลายแห่ง แต่ความเข้มของงานวิจัยจะอยู่ที่ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ที่นั่นเป็นแหล่งที่มีความพร้อมมากที่สุด โดยงานวิจัยที่มีประโยชน์และมีความสำคัญเรื่องหนึ่งคือ งานวิจัยและพัฒนาวิธีการใหม่ในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ซึ่งเป็นงานวิจัยศึกษาที่มีประโยชน์มาก เพราะจะนำไปสู่การคิดค้นด้านการรักษา เนื่องจากขณะนี้เรายังไม่มีวิธีการรักษา การวิจัยพวกนี้จะช่วยให้มองเห็นแนวทางในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้สิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นคือ ทำอย่างไรที่จะสามารถกระจายความรู้อันนี้ออกไปให้กว้างขวางกระจายไปสู่ชุมชนให้มากที่สุด รวมถึงการสร้างงานวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งที่มีอยู่ถึงแม้ว่าจะเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพก็ตาม แต่เราก็ยังต้องการวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนการฉีดที่น้อยเข็มลงไปกว่าปัจจุบัน เพื่อลดต้นทุนวัคซีนและการเดินทางที่จะมาฉีดวัคซีน
ท้ายสุดนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ได้กล่าวถึงความคาดหวังในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยว่า สิ่งที่ผมคาดหวังขณะนี้คือ ให้ทุกคนได้สำนึกติดตัวว่าโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่ปัญหาของทางราชการ นักวิจัย หรือแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของทุกคนที่รักสุนัข เมื่อรักสุนัขก็ต้องรู้จักดูแลนำสุนัขไปฉีดวัคซีน และเมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์อะไรกัดก็ต้องเอาใจใส่ตัวเอง ปรึกษาแพทย์ว่าสมควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร และสำหรับหน่วยงานราชการโดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ ควรมีการดูแลเรื่องของสัตว์ป่าไม่ให้มีโรค เนื่องจากเมื่อสัตว์ป่ามีโรคก็จะแพร่มาสู่หมู่บ้าน ทำให้สัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านเป็นโรคได้ นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชายแดนที่ไม่มีการดูแลป้องกันโรคในสัตว์ สิ่งนี้เราต้องสร้างความเข้าใจและจิตสำนึกของเขาให้ได้แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นเรื่องของพฤติกรรมและความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งที่เราจะต้องศึกษาพฤติกรรมเหล่านี้แล้วนำมาแก้ไข