แม้คนจรจัดเสียชีวิต แพทย์นิติเวชศาสตร์ก็จำต้องให้ความสำคัญในชีวิตเขา (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

แม้คนจรจัดเสียชีวิต แพทย์นิติเวชศาสตร์ก็จำต้องให้ความสำคัญในชีวิตเขา (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

Although He Was Homeless, But He Shall Have The Right To Life (A Case Report)

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แพทย์ที่มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพ เมื่อได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่า “มีศพคนจรจัดเสียชีวิตที่ใต้สะพาน ที่สวนสาธารณะ ที่ตึกร้าง ที่ป้ายรถเมล์ ฯลฯ” แพทย์ก็มักจะมีความคิดของตัวเองแล้วว่า ผู้ตายน่าจะตายจากโรค (ธรรมชาติ) เช่น

ก. ปอดบวม (ปอดอักเสบ)

ข. การติดเชื้อที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย

ค. ขาดอาหาร

ง. สภาพทางกายภาพ เช่น ความเย็นหรือความร้อนซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

จ. สาเหตุประการหนึ่งประการใดจากเหตุตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่แพทย์เป็นผู้ที่จะให้ความยุติธรรมในชีวิตและร่างกาย โดยเฉพาะการที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 1501 ระบุให้ “แพทย์เท่านั้นที่เข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพผู้ที่เสียชีวิตจากการตายผิดธรรมชาติ” (แม้ว่าจะมีแพทย์หลายระดับก็ตาม) เพราะเห็นว่า “แพทย์จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ประกอบกับสถานภาพของแพทย์เป็นที่น่านับถือในสังคม และน่าเชื่อว่าแพทย์จะให้ความเป็นธรรมในการดำเนินการทางการแพทย์ โดยเฉพาะการให้สาเหตุการตายเป็นไปตามความเป็นจริงแห่งเหตุ” ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการแก้ไขกฎหมาย โดยพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 25422 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยให้มีผลใน 180 วัน ซึ่งมีผลในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2543 นั่นเอง โดยสาระสำคัญก็คือ “ให้แพทย์ (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) เข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพที่ตายผิดธรรมชาติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ (มาตรา 148)1” แสดงถึงการที่สังคมเห็นความสำคัญของแพทย์ในประการที่จะเป็นผู้ให้ความยุติธรรมในสังคมนั่นเอง ซึ่งการที่เป็น “บุคคลไร้ซึ่งที่อยู่ (คนจรจัด)” ก็มิได้หมายความว่าจะต้องเสียชีวิตจากเหตุธรรมชาติ แต่อาจเป็นการตายผิดธรรมชาติประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้เช่นเดียวกัน ดังที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว3 กรณีที่คนไร้ที่อยู่ (คนจรจัด) อาศัยใต้สะพานใกล้แม่น้ำถูกฆาตกรรมเพื่อไล่ที่เอาที่อยู่เพื่อขายกระทงในวันลอยกระทง เป็นต้น

 

………..ประมวลพฤติการณ์ที่เกิดได้ (reconstruction) น่าจะเกิดจาก “มีแรงกระทำต่อผู้ตายบริเวณคางทำให้ผู้ตายล้มลง ศีรษะส่วนหลังกระแทกพื้นอย่างแรง การกระแทกของศีรษะกับของแข็งจะเสมือนเกิดแรงสะบัดแห่งการเคลื่อนของอวัยวะภายในกะโหลก คือสมองที่ยังไม่หยุดเคลื่อนอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ทำให้เนื้อสมองส่วนหน้าไปกระแทกกับด้านในของกะโหลกศีรษะอีกครั้งหนึ่งเกิดเป็นการช้ำ และมีเลือดออกเหนือและใต้เยื่อหุ้มสมองกระจายทั่วไป……….

 

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย: คนจรจัด 1 ราย)

ผู้ตายถูกส่งตัวมาเพื่อรับการตรวจจากพนักงานสอบสวน ด้วยเหตุที่นำส่ง (ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร) ว่า “ไม่ทราบเหตุ” (ภาพที่ 1)

ประวัติ:

ผู้ตายเป็นชาย อายุประมาณ 50 ปี รูปร่างสันทัดแต่ค่อนข้างผอม ถูกพบอยู่ริมทางเมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษของวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557 ในสภาพที่นอนอยู่โดยใส่เสื้อและกางเกงตามปกติแต่มอมแมม ชายที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง (จรจัด) หลายคนที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน (ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเช่นเดียวกัน) แจ้งว่าผู้ตายมานอนบริเวณดังกล่าวเป็นประจำ ไม่มีทรัพย์สินมีค่าและไม่เห็นว่าผู้ตายถูกใครทำร้ายร่างกาย

พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่พบศพได้แจ้งให้แพทย์เข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย1 ซึ่งแพทย์พบแต่เพียงว่ามีบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบที่คางยาวประมาณ 3 เซนติเมตรเท่านั้น ไม่พบบาดแผลรุนแรงตามร่างกายและแขนขาอีกเลย โดยที่บาดแผลที่ตรวจพบไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุที่จะทำให้ผู้ตายตายได้ จึงให้พนักงานสอบสวนส่งศพมาเพื่อรับการผ่าตรวจอย่างละเอียดต่อไป1

ศพได้ถูกส่งมาถึงโรงพยาบาลศิริราชเมื่อเวลาประมาณ 2.30 น. ของวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557 และได้รับการตรวจศพอย่างละเอียดในวันเดียวกัน 7 ชั่วโมงต่อมา

สภาพศพภายนอก: (ศพได้รับการตรวจเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.)

- ศพชายอายุประมาณ 50 ปี รูปร่างสันทัด ผิวคล้ำอย่างชาวเอเชีย ผมสีดำมีขาวแซมมาก ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีหนวดและเคราสั้นสีดำ (ภาพที่ 2)

- ศพสวมเสื้อแขนกุดสีแดงและมีเสื้อแขนยาวหนาสวมทับอีก 2 ตัว สวมกางเกงขายาวสีเข้ม กางเกงในลายน้ำเงินแดงขาว

- ศพมีความยาว 170 เซนติเมตร หนัก 55 กิโลกรัม

- ศพแข็งตัวเต็มที่แล้ว พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังเสียชีวิตที่หลังได้ชัดเจน

- ตรวจพบบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบที่คาง เยื้องมาด้านซ้ายเล็กน้อย บาดแผลยาวประมาณ 3 เซนติเมตรรูปโค้งเล็กน้อย ลึกถึงกระดูกกราม (ภาพที่ 3)

- ไม่พบบาดแผลรุนแรงตามร่างกายและแขนขา แขนและขาอยู่ในสภาพเหยียด

- พบ “แผลเป็น” จากการผ่าตัดที่กลางหน้าท้องยาวประมาณ 20 เซนติเมตร

- แขนและขาอยู่ในสภาพเหยียด ไม่พบสภาพที่หักหรืองอของแขนและขา

- คอ รอบคอ ไม่พบบาดแผล รอยกดหรือรอยรัด

- เยื่อบุตาซีดเล็กน้อย ไม่พบจุดเลือดออกที่เยื่อบุตาทั้งสองข้าง

- ไม่พบคราบ หรือสารผิดปกติรอบปาก จมูก หู ทวารหนัก

- ไม่พบบาดแผลที่หนังศีรษะชัดเจน

- คลำที่หนังศีรษะคล้ายจะนุ่ม ๆ แต่ไม่ชัดเจนนัก

- ปลายมือและเท้าซีดเล็กน้อย ไม่พบลักษณะเขียวคล้ำผิดปกติ

- ไม่พบรอยทิ่มแทงที่บริเวณแขน ขา ข้อพับ ง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า

- ตามข้อพับของแขน ขา มือ เท้า นิ้ว ไม่พบว่ามีร่องรอยผิดปกติ

สภาพศพภายใน:

- หนังศีรษะส่วนหลัง (occipital scalp) ช้ำโดยตลอด (cephalhematoma) (ภาพที่ 4)

- กะโหลกศีรษะส่วนหลังแตกเป็นแนวตรง ยาว 10 เซนติเมตร (ภาพที่ 5)

- พบเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกปริมาณบาง ๆ บริเวณเนื้อสมองด้านซ้าย (ภาพที่ 6)

- พบเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกของสมองทั้งสองข้าง และเซาะลงระหว่างร่องของสมองใหญ่ทั้งสอง

- พบเลือดออกในใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางรอบสมองน้อย (superior cistern and cerebellomedullary cistern) และเข้าในน้ำไขสันหลัง

- เนื้อสมองส่วนหน้าทั้งสองข้างมีสภาพช้ำเป็นหย่อม ๆ (ภาพที่ 6 และ 7)

- กระดูกคอและกระดูกสันหลังไม่แตกหรือหัก พบอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- ไม่พบกระดูกคอเคลื่อน

- เนื้อเยื่อรอบ ๆ คอไม่พบว่ามีสภาพช้ำ

- ปอดคั่งเลือดทั้งสองข้าง และมีสภาพติดกับผนังด้านในของช่องอกทั้งสองข้างบริเวณปอดส่วนข้างเยื้องไปด้านหลังทั้งสองข้าง

- ฝานหน้าตัดเนื้อปอดแสดงถึงลักษณะที่มีการอักเสบ พบมีหย่อมสีเหลืองเป็นหย่อม ๆ แต่ไม่ถึงกับเป็นโพรงหนอง เข้าได้กับการติดเชื้อวัณโรคปอด

- หัวใจมีขนาดและรูปร่างปกติ

- หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจทั้ง 3 เส้นหลักมีขนาด รูปร่าง ปกติ ไม่พบสภาพการตีบหรือตันผิดไปจากขนาดปกติ

- กล้ามเนื้อหัวใจปกติ

- อวัยวะและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในช่องอกอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- กระเพาะอาหารโป่ง มีลมมาก มีอาหารพวกของเหลวอยู่เล็กน้อยราว 20-30 ลบ.ซม.

- ไตซ้ายถูกตัดออกจากการผ่าตัดในอดีต

- ตับ ม้าม ไตขวา ลำไส้ใหญ่และเล็ก อยู่ในเกณฑ์ปกติ

- กระเพาะปัสสาวะและเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกรานอยู่ในเกณฑ์ปกติ

สาเหตุตาย:

กะโหลกศีรษะแตก เนื้อสมองช้ำ และเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง กระจายทั้งสองข้างของสมอง

พฤติการณ์ที่ตาย:

เข้าได้กับการถูกกระทำต่อร่างกาย

 

วิเคราะห์และวิจารณ์

ประการที่ 1: การได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย (human right)

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 25504 ได้มีบทบัญญัติไว้

มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย”

หมายความว่า “ประชาชนทุกคนที่อยู่ภายใต้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญนี้” (ในราชอาณาจักรประเทศไทย) จะต้องได้รับสิทธิดังกล่าว หมายถึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในการที่จะมีชีวิตอยู่และมีสภาพแห่งร่างกายเป็นของตนเอง

ผู้ตายรายนี้แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกเรียกว่า “คนไร้ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง” หรือ “คนเรร่อน” หรือ “คนจรจัด” (homeless’s person) ก็ตาม แต่หากเขาเสียชีวิต (ตาย) ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการคุ้มครองและการ “ปฏิบัติต่อ” เยี่ยงบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะการที่จะต้องตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ตายซึ่งก็คือการชันสูตรพลิกศพนั่นเอง เพื่อมิให้เป็นการถูกประทุษร้ายให้ตายโดยปราศจากหลักเกณฑ์แห่งกฎหมาย

 

ประการที่ 2: การตายผิดธรรมชาติ (unnatural death)

การตายอันเนื่องจากเหตุที่ยังไม่ปรากฏและเหตุตามมาตรา 1481

มาตรา 148 เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย

การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ

() ฆ่าตัวตาย

() ถูกผู้อื่นทำให้ตาย

() ถูกสัตว์ทำร้ายตาย

() ตายโดยอุบัติเหตุ

() ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ”

เมื่อปรากฏว่าการตายไม่ว่าจะเป็นการตายของบุคคลใดในประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้ความคุ้มครองไว้4 จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายรองลงมาคือ พระราชบัญญัติและกฎหมายรองอื่น ๆ รวมถึง “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”1 ที่ใช้กันในประเทศด้วย

 

ประการที่ 3: การตรวจศพ (external examination)

การตรวจศพถือเป็นมาตรฐานทางวิชาชีพเวชกรรมทางนิติเวชศาสตร์ (นิติพยาธิ)5,6 ในผู้ตายรายนี้เมื่อตรวจสภาพศพภายนอกนั้นพบพยาธิสภาพแต่เพียง “บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบรูปโค้งเล็กน้อยที่บริเวณคางประมาณ 3 เซนติเมตรเท่านั้น” (ภาพที่ 3) ซึ่งบาดแผลดังกล่าวอาจเกิดจากเหตุประการหนึ่งประการใดก็ได้ เช่น

1. การที่หกล้มเองโดยคางไปกระแทกพื้น (เช่น เด็กที่หกล้ม)

2. การที่ถูกทำร้าย เช่น การถูกต่อย หรือประทุษร้ายต่อบริเวณใบหน้า (คาง)

3. การถูกของแข็ง เช่น การเดินไปชนของแข็ง

นอกจากบาดแผลที่คางที่เป็นที่น่าสังเกตแล้ว บาดแผลตามร่างกายอื่น ๆ นั้นไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม หากมีเพียงบาดแผลเช่นนี้แล้วย่อมจะไม่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้อย่างแน่นอน จะต้องมีพยาธิสภาพในร่างกายมากกว่านี้ และที่พบมากยิ่งและน่าสงสัยก็คือ การที่มี “พยาธิสภาพที่หัวใจ” นั่นเอง เช่น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ (coronary stenosis), กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (ischemic myocardium), เลือดออกในสมอง (intracerebral, intraventricular hemorrhage) เป็นต้น หรืออาจมีสภาวะแห่งการติดเชื้อ (sepsis) ที่ปอดอย่างร้ายแรงเพราะประวัติของผู้ตายเป็น “คนจรจัด (ไร้ที่อยู่ชัดเจน)” จึงอาจมีติดเชื้อหรือโรคติดต่ออยู่ได้ เช่น วัณโรคปอด (pulmonary tuberculosis) เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว การตรวจพบบาดแผลแต่เพียงจากสภาพภายนอกย่อมไม่อาจบ่งชี้ถึงการตายที่เกิดขึ้นได้ (สาเหตุตาย) แต่อย่างใด

 

ประการที่ 4: การผ่าศพตรวจ (autopsy)

จากการผ่าศพตรวจพบว่าผู้ตายรายนี้มีพยาธิสภาพที่ปรากฏที่ศีรษะหลายประการ เช่น

1. การที่มีรอยช้ำที่บริเวณหนังศีรษะส่วนหลังโดยทั่วไป (ภาพที่ 4)

2. การที่กะโหลกศีรษะส่วนหลัง (occipital bone) แตกเป็นทางยาว 10 เซนติเมตร (ภาพที่ 5)

3. การที่มีเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (fainted epidural hematoma) และมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางกระจายทั้งสองกลีบสมอง (generalized bilateral subarachnoid hemorrhage) (ภาพที่ 6)

4. การที่มีเนื้อสมองส่วนหน้าฉีกขาดเล็กน้อยแต่มีรอยฟกช้ำกระจาย (minimal bilateral frontal lobe laceration and minuted scattered cerebral contusion) ลักษณะเข้าได้กับการช้ำจากการสะบัดด้านตรงข้ามจากการเคลื่อนไหวของเนื้อสมอง (contracoup lesion) (ภาพที่ 6)

5. การที่มีเลือดออกรอบสมองน้อย (cerebellomedullary cistern and superior cistern) และในน้ำไขสันหลัง (ภาพที่ 6)

พยาธิสภาพที่ปรากฏย่อมแสดงถึงความรุนแรงของสมองที่ได้รับและสาเหตุแห่งการตายในผู้ตายรายนี้เกิดจากพยาธิสภาพที่สมองนี่เอง

 

ประการที่ 5: พฤติการณ์แห่งการตาย (manner of death)

พฤติการณ์แห่งการตายนั้น แม้ว่าแพทย์โดยทั่วไปโดยเฉพาะแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์จะไม่ค่อยให้พฤติการณ์แห่งการตายใน “รายงานการตรวจศพ” แต่สำหรับในรายนี้อาจวิเคราะห์ในเชิงวิจารณ์ได้ว่า “น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากการถูกกระทำมากที่สุด” (body assaulted cause) ด้วยพยานหลักฐานและสิ่งที่ตรวจพบ (objective evidence) ดังกล่าวในประการที่ 4 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ประมวลพฤติการณ์ที่เกิดได้ (reconstruction) น่าจะเกิดจาก “มีแรงกระทำต่อผู้ตายบริเวณคางทำให้ผู้ตายล้มลงศีรษะส่วนหลังกระแทกพื้นอย่างแรง การกระแทกของศีรษะกับของแข็งจะเสมือนเกิดแรงสะบัดแห่งการเคลื่อนของอวัยวะภายในกะโหลกคือสมองที่ยังไม่หยุดเคลื่อนอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ทำให้เนื้อสมองส่วนหน้าไปกระแทกกับด้านในของกะโหลกศีรษะอีกครั้งหนึ่งเกิดเป็นการช้ำ และมีเลือดออกเหนือและใต้เยื่อหุ้มสมองกระจายทั่วไป จึงอาจสรุปได้ว่า “ผู้ตายรายนี้ถูกกระทำต่อร่างกายเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต” มากที่สุด

หมายเหตุ: การให้พฤติการณ์แห่งการตายในผู้ตายรายนี้เพียงว่า เข้าได้กับการถูกกระทำต่อร่างกาย” ถือว่าเป็นการให้ความเห็นในฐานะผู้ตรวจศพได้ เพราะผู้ตรวจศพมิได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยจึงไม่สามารถระบุพฤติการณ์ที่ตายชัดเจนมากไปกว่านี้

 

ประการสุดท้าย: การดำเนินการต่อเนื่อง

เมื่อแพทย์ซึ่งทำการตรวจศพอย่างละเอียดแล้วพบพยาธิสภาพในผู้ตายรายนี้เข้าได้กับพฤติการณ์แห่งการตายจากการถูกทำร้ายทำให้มีกะโหลกศีรษะแตก เนื้อสมองช้ำ และเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง แล้วแพทย์สมควรต้องรีบแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการสอบสวนและสืบสวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ตายรายนี้อย่างละเอียด1 เพราะอาจยังมีพยานหลักฐานต่าง ๆ ตกอยู่ในที่เกิดเหตุที่ในช่วงแรกยังมิได้ให้ความสนใจ เนื่องจากไม่ได้คิดว่าผู้ตายถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย

 

สรุป

การที่แพทย์ซึ่งต้องมีหน้าที่ (ในฐานะเจ้าพนักงาน) ในการชันสูตรพลิกศพ หากพบว่า “ศพที่ชันสูตรพลิกศพเป็นศพบุคคลที่ไร้ซึ่งที่อยู่ (คนเร่ร่อน)” แพทย์จำต้องให้ความสำคัญและใช้ความรู้ทางด้านมาตรฐานทางนิติเวชศาสตร์5,6 เพื่อหน้าที่นั้น (ชันสูตรพลิกศพ) ไม่ยิ่งหย่อนไปจากการตายประเภทอื่น ๆ และเมื่อเกิดกรณีสงสัยจำเป็นที่แพทย์ต้องนำศพดังกล่าวมาเพื่อรับการตรวจต่อเสมอ (ตามมาตรา 151 และมาตรา 152 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)1 แพทย์ต้องไม่คิดว่า “เป็นเพียงคนจรจัดไม่ต้องให้ความสนใจมาก” เพราะนั่นอาจเท่ากับแพทย์ไม่ให้ความเป็นธรรมกับการตายนั้น ๆ ได้

 

เอกสารอ้างอิง

1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

2. พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2542. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 137ก วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2542 : 17-21.

3. ห้ามสันนิษฐานสาเหตุการตายจากสภาพแวดล้อมและความเคยชินเท่านั้น. Don’t Give The Cause Of Death Only By Environment And Habitude. สรรพสารวงการแพทย์ (The Medical News) ปีที่ 13 ฉบับ 339 ประจำวันที่ 1-15 เมษายน พ.ศ. 2554 : 30-31.

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47ก วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550.

5. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. ในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/ 2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.

6. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.