ขนาดยาต้านซึมเศร้า อายุ และความเสี่ยงจงใจทำร้ายตัวเอง
JAMA Intern Med. Published Online April 28, 2014.
บทความเรื่อง Antidepressant Dose, Age, and the Risk of Deliberate Self-harm รายงานว่า ข้อมูล meta-analysis จากการศึกษาเปรียบเทียบชี้ว่าพฤติกรรมฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 2 เท่าในเด็กและผู้ใหญ่อายุน้อยที่สุ่มให้ได้รับยาต้านซึมเศร้าเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ขณะที่ความเสี่ยงไม่สูงขึ้นในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 24 ปี และจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ว่าขนาดยาต้านซึมเศร้าสัมพันธ์กับความเสี่ยงพฤติกรรมฆ่าตัวตาย และความเสี่ยงดังกล่าวสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วยหรือไม่
นักวิจัยประเมินความเสี่ยงการจงใจทำร้ายตัวเองตามขนาดยาต้านซึมเศร้าและกลุ่มอายุ โดยศึกษาแบบ propensity score-matched cohort study จากข้อมูลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชาวอเมริกัน 162,625 ราย ซึ่งมีอายุระหว่าง 10-64 ปี และได้รับการรักษาด้วย selective serotonin reuptake inhibitors ที่ขนาดมาตรฐานหรือสูงกว่าขนาดมาตรฐานระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1998 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2010 มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ ระบบ International Classification of Diseases, Ninth Revision (ICD-9) รหัส E950.x-E958.x (deliberate self-harm)
อัตราการจงใจทำร้ายตัวเองในเด็กและผู้ใหญ่อายุ 24 ปี หรือน้อยกว่า ซึ่งได้รับการรักษาด้วยยาขนาดสูงมีระดับสูงกว่าประมาณ 2 เท่าเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาขนาดมาตรฐาน (hazard ratio [HR] 2.2 [95% CI 1.6-3.0]) หรือเทียบเป็น 1 เหตุการณ์ต่อผู้ป่วยทุก 150 คนที่ได้รับยาขนาดสูง สำหรับผู้ใหญ่อายุ 25-64 ปี พบว่า absolute risk ของพฤติกรรมฆ่าตัวตายต่ำกว่ามาก และ effective risk difference ไม่มีผล (HR 1.2 [95% CI 0.8-1.9])
เด็กและผู้ใหญ่อายุน้อยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าขนาดสูงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการจงใจทำร้ายตัวเอง ซึ่งจากข้อมูล meta-analysis หลายชิ้นที่ชี้ว่าประสิทธิภาพของยาต้านซึมเศร้าในผู้ป่วยวัยหนุ่มสาวได้ผลแต่พอประมาณ รวมถึงหลักฐานที่ชี้ว่าขนาดยาต้านซึมเศร้าไม่สัมพันธ์กับประสิทธิภาพการรักษา ผลการศึกษานี้จึงเป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่เสนอแนะให้หลีกเลี่ยงเริ่มต้นการรักษาด้วยยาขนาดสูง และคอยติดตามผู้ป่วยที่เริ่มการรักษาด้วยยาอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาหลายเดือน โดยเฉพาะในผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว