คุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการผ่าตัดลดอ้วน

คุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการผ่าตัดลดอ้วน

The Lancet Diabetes & Endocrinology, Early Online Publication, 8 April 2014.

บทความเรื่อง Multidisciplinary Diabetes Care with and without Bariatric Surgery in Overweight People: A Randomised Controlled Trial รายงานว่า การผ่าตัดลดความอ้วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในคนอ้วนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในผู้ป่วยที่น้ำหนักเกิน นักวิจัยจึงศึกษาผลของการผ่าตัดใส่ห่วงรัดกระเพาะแบบ laparoscopic adjustable gastric band สำหรับการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีน้ำหนักเกินแต่ไม่อ้วน

นักวิจัยศึกษาแบบ open-label, parallel-group, randomised controlled trial ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2009 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2013 จากโรงพยาบาลในประเทศออสเตรเลีย ผู้ป่วยอายุระหว่าง 18-65 ปีซึ่งเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และมี BMI ระหว่าง 25-30 kg/m2 ได้รับการสุ่มให้ควบคุมเบาหวานแบบสหสาขาร่วมกับใส่สายรัดกระเพาะ หรือการดูแลเบาหวานแบบสหสาขาอย่างเดียว ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ โรคเบาหวานสงบที่ 2 ปีหลังการสุ่ม ประเมินจากระดับน้ำตาลต่ำกว่า 7.0 mmol/L ขณะอดอาหาร และต่ำกว่า 11.1 mmol/L ที่ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานน้ำตาล 75 g ที่อย่างน้อย 2 วันหลังหยุดยาลดน้ำตาล โดยวิเคราะห์แบบ intention-to-treat

ผู้ป่วย 51 รายได้รับการสุ่มเป็นกลุ่มควบคุมเบาหวานแบบสหสาขาร่วมกับใส่สายรัดกระเพาะ (n = 25) หรือควบคุมเบาหวานแบบสหสาขาอย่างเดียว (n = 26) โดยมีผู้ป่วย 23 ราย และ 25 รายที่สามารถติดตามผลครบ 2 ปี ผู้ป่วย 12 ราย (52%) ในกลุ่มควบคุมโรคแบบสหสาขาร่วมกับใส่สายรัดกระเพาะ และ 2 ราย (8%) ในกลุ่มควบคุมแบบสหสาขาอย่างเดียวสามารถควบคุมโรคให้สงบ (difference in proportions 0.44; 95% CI 0.17-0.71; p = 0.0012) โดยผู้ป่วย 1 ราย (4%) ในกลุ่มใส่สายรัดกระเพาะจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข และอีก 4 ราย (17%) เกิดเหตุการณ์ของภาวะรับอาหารไม่ได้รวม 5 ครั้ง เนื่องจากสายรัดแน่นเกินไป

การใส่สายรัดกระเพาะร่วมกับการควบคุมเบาหวานแบบสหสาขาในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่น้ำหนักเกินช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดโดยมีอาการไม่พึงประสงค์ที่ยอมรับได้ การใส่สายรัดกระเพาะปรับได้จึงเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้