ผล Escitalopram ต่อหัวใจขาดเลือดจากความเครียดทางจิตใจ

ผล Escitalopram ต่อหัวใจขาดเลือดจากความเครียดทางจิตใจ
JAMA. 2013;309(20):2139-2149.

            บทความเรื่อง Effect of Escitalopram on Mental Stress-Induced Myocardial Ischemia: Results of the REMIT Trial รายงานว่า ความเครียดทางจิตใจอาจทำให้เกิดหัวใจขาดเลือด และกระตุ้นการเกิดอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่เนื่องจากการแทรกแซงด้วยยาเพื่อลดหัวใจขาดเลือดจากความเครียดทางจิตใจ (mental stress-induced myocardial ischemia - MSIMI) ยังคงไม่มีการศึกษาชัดเจน 

บทความนี้รายงานข้อมูลจากการศึกษา REMIT (Responses of Mental Stress Induced Myocardial Ischemia to Escitalopram Treatment) ซึ่งศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled trial ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีที่มีอาการทรงตัวและมีผลตรวจยืนยันว่าเป็น MSIMI การรวบรวมผู้ป่วยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ถึง 24 สิงหาคม ค.ศ. 2011 ยังโรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการรักษาด้วย escitalopram เป็นระยะ 6 สัปดาห์ เทียบกับยาหลอกต่อ MSIMI และตัวชี้วัดด้านชีวะ-สรีระ และอารมณ์ที่สัมพันธ์กับความเครียดทางจิตใจ

            นักวิจัยสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับ escitalopram (ขนาดเริ่มต้นที่ 5 มิลลิกรัม/วัน และเพิ่มเป็น 20 มิลลิกรัม/วัน ใน 3 สัปดาห์) หรือยาหลอกในระยะเวลา 6 สัปดาห์ 

            มาตรวัดผลลัพธ์ประกอบด้วย การเกิด MSIMI ประเมินจากการดีขึ้นหรือแย่ลงของ regional wall motion abnormality, left ventricular ejection fraction ลดลง 8% หรือมากกว่า และ horizontal หรือ down-sloping ST-segment depression อย่างน้อย 1 mm ในอย่างน้อย 2 leads และเกิดขึ้นในอย่างน้อย 3 beats ติดต่อกันระหว่างการทดสอบความเครียดตั้งแต่ 1 ครั้งจากการทดสอบรวม 3 ครั้ง

            จากผู้เข้าร่วมวิจัย 127 รายที่สุ่มให้ได้รับ escitalopram (n = 64) หรือยาหลอก (n = 63) มีผู้เข้าร่วมวิจัยที่เสร็จสิ้นการประเมิน endpoint 112 ราย (88.2%) (n = 56 ในแต่ละกลุ่ม) เมื่อสิ้นสุด 6 สัปดาห์พบว่า ผู้ป่วยที่ได้ escitalopram (34.2% [95% CI, 25.4-43.0%]) มีจำนวนผู้ที่ไม่ปรากฏ MSIMI ระหว่างการทดสอบความเครียดทั้ง 3 ครั้งมากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก (17.5% [95% CI, 10.4-24.5%]) ตาม multiple imputation model ที่ยังไม่ได้ปรับสำหรับ intention-to-treat analysis นักวิจัยพบผลต่างที่มีนัยสำคัญซึ่งชี้ให้เห็นผลดีของ escitalopram (odds ratio, 2.62 [95% CI, 1.06-6.44]) และพบว่าอัตราการเกิดหัวใจขาดเลือดจากการออกกำลังกายต่ำลงเล็กน้อยที่ 6 สัปดาห์ในกลุ่ม escitalopram (45.8% [95% CI, 36.6-55.0%]) เทียบกับกลุ่มยาหลอก (52.5% [95% CI, 43.3-61.8%]) แต่ผลต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (odds ratio ที่ปรับแล้วเท่ากับ 1.24 [95% CI, 0.60-2.58]; p = 0.56)

            ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีซึ่งมี MSIMI ที่เส้นฐานทรงตัวพบว่า การรักษาด้วย escitalopram 6 สัปดาห์ ส่งผลให้อัตรา MSIMI ต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก แต่ไม่พบผลต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติด้านการขาดเลือดจากการออกกำลังกาย ซึ่งควรที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมแบบ multicenter และศึกษากับยาตัวอื่นสำหรับการลด MSIMI