30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ (ต่อ)
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยไม่เหมือนเดิม ผู้ป่วยมาเรียกร้องสิทธิการรักษา ถ้าแพทย์ไม่ทำตามใจ (ไม่พอใจ) ก็ร้องเรียน/ฟ้องร้องแพทย์ พยาบาลเครียด ต้องระมัดระวังตัว เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้อง ทำให้ความสัมพันธ์ที่เอื้ออาทรและพึ่งพาอาศัยกันฉันญาติมิตรแบบไทย ๆ หายไป การที่ประชาชนมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมารับการรักษาตลอดเวลาจากสโลแกนที่ว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ทำให้ประชาชนไม่สนใจที่จะดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ไม่เห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาพและไม่ป้องกันโรค ถึงแม้เจ็บป่วยเล็กน้อยก็ไม่รักษาตัวเอง เนื่องจากค่ารักษา 30บาทนั้นถูกมาก ๆ ยิ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลจากยุคปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกการจ่าย 30 บาท (โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า “เสียเวลาลงบัญชี”) ทำให้ประชาชนมาใช้บริการที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะนอกจากค่าเดินทางและการเสียเวลารอคอยแล้ว ผู้ป่วยก็ไม่มีค่าใช้จ่ายในการมารับบริการแต่อย่างใด
การที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องรีบเร่งทำงานในการตรวจรักษาผู้ป่วย และมีเวลาให้ผู้ป่วยแต่ละคนน้อยลง มีการไปเก็บสถิติจากโรงพยาบาลหลายแห่งทั้งจากนักวิจัยของแพทยสภา และนักวิจัยจาก ก.พ. ได้พบตรงกันว่า แพทย์มีเวลาตรวจรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยเพียง 2-4 นาทีต่อคน
papaz büyüsü aşk büyüsü bağlama büyüsü 2 player gamesการที่แพทย์และบุคลากรจะมีเวลาให้ผู้ป่วยแต่ละคนน้อยลงดังกล่าวแล้ว นอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อความผิดพลาดในการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรแล้ว ยังมีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป กล่าวคือแพทย์มีเวลาพูดกับผู้ป่วยน้อยเกินไปจนอาจทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าใจว่าตนเองเป็นโรคอะไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเร็วที่สุดตามที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้ป่วยเอง หรือบางครั้งแพทย์ได้อธิบายแล้วว่าอาจจะมีอาการแทรกซ้อนหรือไม่หายขาด แต่ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่พอใจผลการรักษา
นอกจากนี้แล้ว ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 41 ยังกำหนดไว้อีกว่า ถ้าผู้ป่วยคิดว่าตนเองได้รับ “ความเสียหาย” จากการรับบริการสาธารณสุขให้ไปร้องขอ “เงินช่วยเหลือเบื้องต้น” ได้จาก สปสช. ฉะนั้นประชาชนจึงไปร้องเรียนและฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายหลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าผู้ป่วยจะไม่หายจากอาการป่วยจากสาเหตุอะไร (โรคแทรกซ้อน เชื้อโรคดื้อยา แพ้ยา หรืออาการหนักเกินเยียวยา หรือจากผลของโรคเอง) ผู้ป่วยหรือญาติก็จะไปร้องเรียนและฟ้องร้องแพทย์/โรงพยาบาลไว้ก่อน
ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เกิดความเครียด ต้องระมัดระวังป้องกันตัวไม่ให้ตกเป็นจำเลยถูกฟ้องร้อง นอกจากนั้นการที่แพทย์หรือพยาบาลต้องดูแลรักษาผู้ป่วยจำนวนมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและความเครียดเพิ่มไปอีก ทำให้ความรู้สึกเอื้ออาทรต่อผู้ป่วยแบบญาติมิตรหรือบุคคลที่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลนั้นลดน้อยลง กลายเป็นต้องทำงาน “ตามหน้าที่รับผิดชอบเท่านั้น” ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ถือว่า “มีสิทธิที่จะได้รับการตรวจรักษาทุกโรค” จึงอาจจะเรียกร้องให้แพทย์สั่งการให้ตนได้รับการ “ตรวจพิเศษ” โดยที่ยังไม่จำเป็น กลายเป็น “สั่งให้แพทย์ทำตามการเรียกร้องตามสิทธิ” ไม่ได้รู้สึกว่าตนได้รับความ “ช่วยเหลือ” ให้หายจากความทรมานจากการเจ็บป่วย ไม่มีความรู้สึก “ดี ๆ เหมือนญาติมิตร” เหมือนเดิม กลายเป็นว่า “แพทย์ต้องทำตามหน้าที่ ส่วนผู้ป่วยก็ต้องได้รับการรักษาตามสิทธิของตน ไม่มีความรู้สึกแบบญาติมิตรตามวัฒนธรรมไทยเหมือนเดิม”
ทั้งนี้เมื่อก่อนนั้นประชาชนคนป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ต่างมีความสัมพันธ์ในแบบเอื้ออาทรตามแบบวัฒนธรรมไทย คือให้การดูแลรักษาด้วยความเอาใจใส่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีต่อกันเป็นส่วนมาก (บางท่านอาจจะโต้แย้งว่าไม่จริง อาจจะไปเจอบุคลากรชนิดที่หน้างอ รอนาน ซึ่งก็คงจะมีบ้าง)
แต่หลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ประชาชนมาโรงพยาบาลเพราะนึกว่าตัวเองมีสิทธิที่จะได้รับบริการทุกชนิดตามที่ สปสช. โฆษณาไว้ ประชาชนจึงมาเรียกร้องสิทธิที่จะต้องได้รับจากโรงพยาบาล เช่นหกล้มหรือถูกรถชนเล็กน้อยมีรอยฟกช้ำดำเขียวแต่ก็เรียกร้องจะต้องไปเอกซเรย์ หรือเป็นไข้หวัดธรรมดา อาการเจ็บคอเล็กน้อยก็จะขอให้หมอสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดไข้แก้หวัดธรรมดา ทั้ง ๆ ที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาเห็นว่าเป็นการเจ็บคอจากเชื้อไวรัสไข้หวัดธรรมดา ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา แต่เมื่อแพทย์อธิบายให้ผู้ป่วยฟัง ผู้ป่วยก็อาจจะไม่ยอมเข้าใจ แต่อาจจะกล่าวหาว่ารัฐบาลบอกว่าให้การรักษาทุกโรค แต่ทำไมหมอจึงไม่รักษา ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่สาเหตุแห่งความไม่เข้าใจกันระหว่างประชาชนคนป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ก็มีมากขึ้น
มาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้ประชาชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากขึ้น
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์จะเลวลงแล้ว ประชาชนก็มีแนวโน้มที่จะฟ้องร้องแพทย์เพิ่มขึ้นจากการที่มีบทบัญญัติในมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายหรือคิดว่าตนเองหรือญาติได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการสามารถไปร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ทำให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยไม่พอใจผลการรักษา ทั้ง ๆ ที่เป็นความผิดพลาดของการรักษา หรือเกิดจากมีโรคแทรกซ้อน หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษา เช่น แพ้ยา เชื้อโรคดื้อยา หรืออาการหนักเกินเยียวยา หรือป่วยอาการหนักจนไม่สามารถรักษาได้แล้ว ต่างก็มาร้องเรียนขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไว้ก่อน จนถึงกับมีปรากฏการณ์ที่มีทนายคอยรับฟ้องร้องแทนผู้ป่วยรออยู่ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็มี
จึงพบว่า ภายหลังจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว มีคำพูดทั่วไปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเลวลง มีการฟ้องร้องแพทย์เพิ่มมากขึ้นทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา จนนำไปสู่การเรียกร้องที่จะให้รัฐบาลออกกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อต้านไม่ให้มีการตราพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้มีการตรวจวิธีพิเศษทางการแพทย์มากมายเพื่อป้องกันการวินิจฉัยผิดพลาดเอาไว้เป็นประจักษ์พยานสู้คดีในศาลทั้ง ๆ ที่ยังไม่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลเสียหายทางด้านงบประมาณที่จะต้องใช้ในการตรวจพิเศษโดยยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จะต้องทำการตรวจพิเศษนั้น เหมือนกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่มีการฟ้องแพทย์เป็นจำนวนมากจนแพทย์ทุกคนต้องหามาตรการที่จะไม่ให้ถูกฟ้องร้อง โดยส่งการตรวจพิเศษโดยยังไม่มีข้อบ่งชี้ (เรียกพฤติกรรมนี้ว่า “Defensive Medicine”) ซึ่งมีผลให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียเงินมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เพียงเพื่อจะเอาผลการตรวจไปเป็นพยานในศาลว่าแพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยอย่างครบถ้วนแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลตัดสินลงโทษเท่านั้น
นอกจากพฤติกรรมการส่งตรวจพิเศษดังกล่าวแล้ว แพทย์ในสหรัฐอเมริกาทุกคนจะต้อง “ซื้อประกันการประกอบวิชาชีพเวชกรรม”เรียกว่า “Malpractice Insurance” เป็นการซื้อประกันการประกอบวิชาชีพเวชกรรมไว้ ในกรณีที่ถูกฟ้องและศาลตัดสินว่าแพทย์ทำผิด ให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ป่วย บริษัทประกันก็จะเป็นผู้จ่ายเงินให้ผู้ป่วยแทนแพทย์
ส่วนแพทย์ที่แพ้คดีในศาลทำให้บริษัทประกันต้องจ่ายสินไหมทดแทนแก่ผู้ป่วย ปีต่อไปก็จะถูก “เพิ่มอัตราค่าประกันการประกอบวิชาชีพ” เพราะเป็นผู้ “มีความเสี่ยงสูง” ที่บริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนมากกว่าแพทย์ที่ยังไม่เคยแพ้คดีเลย
ทั้งพฤติการณ์เรื่อง “Defensive Medicine” และ “Malpractice Insurance” นี้เองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาสูงมากกว่าประเทศอื่น และยังมีแนวโน้มที่จะสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกปี และได้สรุปผลว่า ประชาชนชื่นชอบระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากกว่า 90% ทุกปี แต่ สปสช. ไม่เคยสำรวจว่าประชาชนพึงพอใจกับคุณภาพมาตรฐานการบริการ หรือผลที่ได้รับจากการบริการหรือไม่ เช่น ผลการรักษาอาการเจ็บป่วย หาย ตาย พิการ มีโรคแทรกซ้อน หรือได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และพอใจกับผลการรักษาหรือไม่ แต่ สปสช. ถามความเห็นเพียงว่านิยมชมชอบกับระบบ 30 บาทหรือไม่ ซึ่งก็จะได้รับคำตอบว่าประชาชนมีความนิยมชมชอบระบบ 30 บาทมากกว่า 90% ทุกปี เนื่องจากได้รับการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าตัวเองเลย
แต่ประชาชนคงไม่พอใจผลการรักษาเท่าไรนัก เพราะถ้าพอใจจริงคงไม่มีเรื่องฟ้องร้องหมอมากขึ้นในศาล มีเรื่องร้องเรียน/กล่าวหาหมอในแพทยสภา หรือตามหน้าหนังสือพิมพ์และรายการโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น ดังที่มีข่าวเพิ่มขึ้นมากมายภายหลังระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ