เรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 (มาตรา 32) : พิจารณาในเชิงความซับซ้อนแห่งเนื้อหา

เรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.. 2525 (มาตรา 32) : พิจารณาในเชิงความซับซ้อนแห่งเนื้อหา

The Accusation Of The Medical Practitioner Under The Medical Profession Act B.E. 2525 (Section 32) : Concentrated In Complication Of The Content

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*

*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ “ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.. 2549”1 ที่แพทยสภาออกมามีถึง 11 หมวด 62 ข้อ และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยกระบวนพิจารณาคดีด้านจริยธรรม พ.ศ. 25482 ที่มีบัญญัติไว้นั้น ขัดกับกฎหมายหลักคือ “พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.. 2525”3 หรือไม่ ประการใด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “เรื่องร้องเรียน การร้องเรียน ผู้กล่าวหา ผู้กล่าวโทษ” ตามบทบัญญัติในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525

มาตรา ๓๒ บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นโดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา

บุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา

คณะกรรมการมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้มีพฤติการณ์ที่สมควรให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม

สิทธิการกล่าวหาและสิทธิการกล่าวโทษ สิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมดังกล่าวและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด ทั้งนี้ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม

การถอนเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษที่ได้ยื่นไว้แล้วนั้นไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

 

วิเคราะห์มาตรา 32

การพิจารณาถึงมาตรา 32 วรรคแรกจะพบว่า ในวรรคนี้มีคำที่สำคัญอยู่ 5 คำคือ 1) ความเสียหาย 2) การประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม 3) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม 4) กล่าวหา 5) แพทยสภา ซึ่งสามารถวิเคราะห์อย่างเป็นระบบได้คือ

ประเด็นที่ 1: การกล่าวหา

บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นโดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา

……………………..ฯลฯ”

เมื่อพิจารณาอย่างคร่าว ๆ ถึงตัวเนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าว อาจแปลความอย่างง่าย ๆ (ตามตัวอักษร) คือ “ผู้ได้รับความเสียหายเพราะแพทย์ผู้ใดมีสิทธิกล่าวหาแพทย์ผู้นั้น”

องค์ประกอบ:

1. ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตฯ) ทั้งนี้เป็นไปตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25253

มาตรา 4: ในพระราชบัญญัตินี้

วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนส์สัมผัส การแทงเข็มหรือการฝังเข็มเพื่อบำบัดโรคหรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายความรวมถึงการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสสาร การสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย ทั้งนี้เพื่อการคุมกำเนิด การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกายด้วย

ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา

2. ต้องมีการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (เรียกย่อว่า “กฎ”)

หมายความถึง “กฎ” หรือ “กฎเกณฑ์” ที่เกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ได้ระบุถึง (ในที่นี้คือ “ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549” นั่นเอง)1 ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวอาจเป็นการ “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” หรือ “ไม่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม” ก็ได้ แต่ถือว่าเป็น “จริยธรรมที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ที่มีอยู่ตามกฎเกณฑ์ฯ และก็ต้องถือว่า “เป็นความผิดจริยธรรม” โดยปริยาย ซึ่งจริยธรรมในที่นี้ “เป็นเรื่องจิตสำนึกของมนุษย์แต่ละคนที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และมีต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว” (.นพ.ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์) และความหมายตามพจนานุกรม4 ในภาษาไทย จริยธรรม หมายถึง “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ศีลธรรมอันดี ตามธรรมเนียมยุโรปอาจเรียกจริยธรรมว่า Moral philosophy (หลักจริยธรรม) จริยธรรม น. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม” อันเป็นไปตามเกณฑ์แห่งหลักของจริยธรรมในสังคมทั่วไป

ดังนั้น การประพฤติผิดจริยธรรมสำหรับแพทย์ (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) อาจพิจารณาได้ 2 ประการดังนี้

ก. ต้องประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ผิดกฎ) ทั้งนี้เป็นไปตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25253 และ “เมื่อผิดกฎ” นั้นหมายความว่า การประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้นจะต้อง “ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม” ข้อหนึ่งข้อใด (ดูหมายเหตุ A)

ข. มิได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมก็มีความผิดได้ (เพราะกฎเขียนไว้ว่า “ผิด”) (ดูในหมายเหตุ B)

3. ต้องเกิดความเสียหายขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ จะต้องพิสูจน์เสียก่อนหรือไม่ว่า ผู้กล่าวหา “เกิดความเสียหายขึ้นจริง” และ “ความเสียหายนั้นเกิดจากการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม” ข้อหนึ่งข้อใด ในประเด็นนี้สมควรต้องเป็นไปตามนั้น กล่าวคือ “จะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นเสียก่อนจึงจะเกิดสิทธิในการกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” หรือในการตีความกลับกัน “หากได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) แต่มิใช่เป็นการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (กฎเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนด) เช่น ผิดตามหลักศาสนา จารีตประเพณี ฯลฯ ย่อมไม่สามารถร้องเรียนได้” ตามวรรคแรกของมาตรา 32 นี้

4. กรณีที่ผู้เสียหายนั้นไม่สามารถใช้สิทธิได้ ผู้อื่นอาจใช้สิทธิแทนได้ (ตามกฎหมายที่รับรองไว้)

หมายความว่า เมื่อผู้เสียหายนั้น ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง (มีสิทธิแต่ไม่สามารถใช้สิทธินั้นได้) ย่อมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายทั่วไป เช่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์5

ก. ผู้เสียหายตาย (death) ผู้ใช้สิทธิแทนเป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับ “การสืบสิทธิ” (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ข. ผู้เสียหายเป็นผู้ด้อยตามกฎหมาย (vulnerable patients) เช่น เป็นผู้เยาว์ เป็นคนไร้ความสามารถ เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น

ค. ผู้เสียหายเป็นผู้ด้อยตามสภาพแห่งข้อเท็จจริง เช่น เป็นผู้ไร้ความสามารถ (นอนสลบอยู่) เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ (สมองเสื่อมบางส่วน) เป็นต้น

5. ต้องกล่าวหาต่อแพทยสภา

หมายความว่า ต้องทำเรื่องร้องเรียนหรือการกล่าวหา เป็น “ข้อกล่าวหา” ต่อแพทยสภา (องค์กรวิชาชีพตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525)3 หมายความว่า

ความเห็นที่ 1: ต้องกล่าวหาต่อแพทยสภาโดยตรง เป็นการตีความที่จำกัดและเฉพาะตามตัวบทของกฎหมายอย่างชัดเจน เช่น ในขณะนี้แพทยสภาตั้งอยู่ ณ ตึก 6 ชั้น 7 ในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจะทำเรื่องร้องเรียนในหัวข้อ “การกล่าวหา” ย่อมต้องมายื่นที่ ตึก 6 ชั้น 7 เป็นต้น

ความเห็นที่ 2: อาจกล่าวหาโดยหน่วยงาน องค์กร ฯลฯ ที่ผู้กล่าวหาไปร้องเรียนแล้วหน่วยงาน องค์กรฯ ส่งเรื่องมายังแพทยสภา อาจเรียกว่าเป็น “การกล่าวหาโดยอ้อม” ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เพราะ

ก. ผู้กล่าวหาไม่เข้าใจเรื่องการร้องเรียนว่าจะต้องกระทำต่อแพทยสภาเท่านั้น ข. ผู้กล่าวหาทราบและเข้าใจแต่ต้องการให้หน่วยงานนั้น ๆ ทำหน้าที่แทนตน

6. ต้องดำเนินการในสามปี (รู้เรื่องและรู้ตัวผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) หรือหนึ่งปี (รู้เรื่องหรือรู้ตัวผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) แล้วแต่กรณี

เป็นกรอบเวลาหรือ “อายุความ” ในการร้องเรียนด้วย “การกล่าวหา” นั่นเอง

ก. รู้เรื่องและรู้ตัว หมายถึง การที่รู้ว่าเกิดความเสียหายนั้น ๆ เกิดจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด

ข. รู้เรื่องแต่ไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวแต่ไม่รู้เรื่อง

- รู้เรื่องแต่ไม่รู้ตัว เช่น การที่ปวดท้องประจำแต่ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นเนื่องจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (การที่ได้รับการรักษาจากแพทย์มา)

- รู้ตัวแต่ไม่รู้เรื่อง เช่น รู้ว่าแพทย์ท่านใดทำการผ่าตัดทำหมันมาแต่ไม่ทราบว่าการทำหมันนั้นไม่เป็นหมัน หลังจากนั้น 3 ปีถัดมากลับมาพร้อมแฟนใหม่ และตั้งท้องขึ้นเพราะรักความสนุกโดยมิได้หวังว่าจะมีลูก

หมายเหตุ: A: การวิเคราะห์ในประเด็นที่ว่า “ต้องประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้นจึงเข้าข่ายได้” อาจพิจารณาได้ดังนี้ (ภาพที่ 1 และ ภาพที่ 2)

ก. ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องเกิดจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เท่านั้น หากมิใช่การประกอบวิชาชีพเวชกรรม เช่น การผสมยาฉีดโดยมิได้ฉีดให้แก่ผู้ป่วยเลย (แต่เป็นการเตรียมยาเท่านั้น) แล้วเกิดกลิ่นขึ้น เช่นนี้มิใช่เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามความหมายแห่งมาตรา 43

ข. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้นจะได้กระทำต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือไม่ก็ได้ หมายถึง “แม้ว่าผู้เสียหายจะมิได้เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเลย แต่การประกอบวิชาชีพเวชกรรมส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อตนเองก็สามารถใช้สิทธิกล่าวหาได้”

ค. การประกอบวิชาชีพเวชรรมแม้มิได้กระทำต่อผู้ร้อง หากความเสียหายที่เกิดจะต้องเป็นโดยตรงเท่านั้นจึงร้องเรียนได้ หากเป็นโดยอ้อมไม่เกี่ยวข้องกล่าวหาไม่ได้ (แต่มีข้อยกเว้นเมื่อใช้ทฤษฎีแตกต่างในการอธิบาย) เช่น

โดยตรง: มีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว คนข้างบ้านได้รับกลิ่นยาแล้วแพ้ยา ย่อมเกิดความเสียหาย (โดยตรงจากยา) แล้ว ทั้ง ๆ ที่มิได้เกิดจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม “ต่อตนเองเลย” ก็ตาม (อีกทั้งผู้ป่วยที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้กระทำต่อนั้นจะเกิดความเสียหายหรือไม่ก็ไม่สำคัญ)

ก. ถ้าไม่ผิดจริยธรรม (กล่าวหาไม่ได้)

ข. ถ้าผิดจริยธรรม (กล่าวหาได้)

โดยอ้อม: 1) เป็นทางอ้อมแล้ว ไม่อาจกล่าวหาได้ (ใช้ทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม)6 เช่น ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้วสุนัขได้กลิ่นยาจึงเกิดเห่าหอน ทำให้ข้างบ้านนอนไม่หลับ เช่นนี้ การนอนไม่หลับมิได้เกิดจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยตรงแต่เป็นโดยอ้อมผ่านสุนัขที่เห่าหอน

ก. ถ้าไม่ผิดจริยธรรม (กล่าวหาไม่ได้)

ข. ถ้าผิดจริยธรรม (กล่าวหาไม่ได้)

2) เป็นทางอ้อมแล้วไม่อาจกล่าวหาได้ (ใช้ทฤษฎีเงื่อนไข)6 เช่น ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้วสุนัขได้กลิ่นยาจึงเกิดเห่าหอน ทำให้ข้างบ้านนอนไม่หลับ เช่นนี้ การนอนไม่หลับมิได้เกิดจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยตรงแต่เป็นโดยอ้อมผ่านสุนัขที่เห่าหอน

ก. ถ้าไม่ผิดจริยธรรม (กล่าวหาไม่ได้)

ข. ถ้าผิดจริยธรรม (กล่าวหาได้โดยใช้ทฤษฎีเงื่อนไข)

หมายเหตุ: B: การวิเคราะห์ในประเด็นที่ว่า “ไม่ต้องประกอบวิชาชีพเวชกรรมก็เข้าข่ายความผิดได้” (หากกฎเขียนไว้)

เหตุผลแห่งกรณี:

อาจมีผู้ที่สงสัยว่า “เมื่อมิได้เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะผิดตามข้อบังคับที่มีเนื้อหาอันมิได้เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้อย่างไร” ในเรื่องดังกล่าวนี้อาจพิจารณาได้จากข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเป็นข้อบังคับว่าด้วย “การรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม” มิใช่เป็น “การรักษาจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม” คำว่า “แห่ง” จึงเป็นการกินความที่กว้างกว่า “ในขณะ” โดยต้องหมายรวมถึง “สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม” ด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ก่อนการประกอบวิชาชีพเวชกรรม” หรือ “คุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” และอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความอย่างกว้างจนไม่อาจประมาณได้

จริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพเวชกรรม” จะต้องเป็น “พฤติกรรม” หรือ “คุณสมบัติ” ซึ่ง “เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ทางหนึ่งทางใด หรือประการหนึ่งประการใดด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง ชื่อเสียง ความรู้ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 25557 ซึ่งมีด้วยกัน 6 ด้านนั่นเอง

การพิจารณา:

ก. ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น เช่น การผสมยาฉีดโดยมิได้ฉีดให้แก่ผู้ป่วย (เป็นการเตรียมยาเท่านั้น) แล้วเกิดกลิ่นขึ้น เช่นนี้มิใช่เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามความหมายแห่งมาตรา 4 แต่ “กลิ่นที่เกิด” ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายแล้ว

ข. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น (ขณะกระทำการมิได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) จะได้กระทำต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือไม่ก็ได้ หมายถึง “แม้ว่าผู้เสียหายจะมิได้เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเลย แต่การกระทำนั้น ๆ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อตนเองก็สามารถใช้สิทธิกล่าวหาได้”

ค. การกระทำนั้นแม้มิได้กระทำต่อผู้ร้อง (ขยายความในข้อ ข.) หากความเสียหายที่เกิดจะต้องเป็นโดยตรงเท่านั้นจึงร้องเรียนได้ หากเป็นโดยอ้อมไม่เกี่ยวข้องกล่าวหาไม่ได้ (แต่มีข้อยกเว้นเมื่อใช้ทฤษฎีแตกต่างในการอธิบาย) เช่น

โดยตรง: เช่น มีการกระทำ (ผสมยา) แล้ว คนข้างบ้านได้รับกลิ่นยาแล้วแพ้ยา ย่อมเกิดความเสียหาย (โดยตรงจากยา) แล้ว ทั้ง ๆ ที่มิได้เกิดจากการกระทำต่อตนเอง (ผู้ร้อง) เลยก็ตาม ก. ถ้าไม่ผิดจริยธรรม (กล่าวหาไม่ได้)

ข. ถ้าผิดจริยธรรม (กล่าวหาได้)

โดยอ้อม: 1) เป็นทางอ้อมแล้วไม่อาจกล่าวหาได้ (ใช้ทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม)6 เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ได้กระทำการผสมยา แล้วสุนัขได้กลิ่นยาจึงเกิดเห่าหอน ทำให้ข้างบ้านนอนไม่หลับ เช่นนี้ การนอนไม่หลับมิได้เกิดจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยตรง แต่เป็นโดยอ้อมผ่านสุนัขที่เห่าหอน และความเสียหายคือ “นอนไม่หลับ”

ก. ถ้าไม่ผิดจริยธรรม (กล่าวหาไม่ได้)

ข. ถ้าผิดจริยธรรม (กล่าวหาไม่ได้)

2) เป็นทางอ้อมแล้วไม่อาจกล่าวหาได้ (ใช้ทฤษฎีเงื่อนไข)6 เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ได้กระทำการผสมยา แล้วสุนัขได้กลิ่นยาจึงเกิดเห่าหอน ทำให้ข้างบ้านนอนไม่หลับ เช่นนี้ การนอนไม่หลับมิได้เกิดจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยตรง แต่เป็นโดยอ้อมผ่านสุนัขที่เห่าหอน และความเสียหายคือ “นอนไม่หลับ”

ก. ถ้าไม่ผิดจริยธรรม (กล่าวหาไม่ได้)

ข. ถ้าผิดจริยธรรม (กล่าวหาได้โดยใช้ทฤษฎีเงื่อนไข)6

ดังนั้น การกล่าวหาจะพิจารณาที่ “มีความเสียหายเกิดขึ้น” และ “ต้องผิดจริยธรรม” เป็นหลัก

หมายเหตุ:

ประการที่ 1: ในที่นี้ความผิดจริยธรรมหมายถึง การกระทำผิดตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 นั่นเอง

ประการที่ 2: หากไม่มีการกระทำผิดจริยธรรม กล่าวหาไม่ได้เด็ดขาด ดังนั้น องค์ประกอบที่สำคัญในการพิจารณาว่าจะมีความผิด (ตามมาตรา 39) หรือไม่นั้นจึงขึ้นอยู่กับการที่จะต้องพิสูจน์ว่า “เข้าเกณฑ์แห่งการกระทำผิดจริยธรรม” เสียก่อน หาใช่การพิจารณาว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ กล่าวคือ

ก. หากผิดจริยธรรมและเกิดความเสียหายจะเข้าข่ายมาตรา 39

ข. หากผิดจริยธรรมแต่ไม่เกิดความเสียหายจะกล่าวหาไม่ได้ (เด็ดขาด) ต้องไปพิจารณาเรื่อง “การกล่าวโทษ” แทน

ค. หากไม่ผิดจริยธรรมแต่เกิดความเสียหาย ไม่เข้าข่ายมาตรา 39 แต่เป็นเรื่องทางแพ่ง แพทยสภาต้อง “ยกข้อกล่าวหา” นั้นเพียงสถานเดียว

ง. หากไม่ผิดจริยธรรมและไม่เกิดความเสียหาย ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 39 แพทยสภาต้อง “ยกข้อกล่าวหา” นั้นเพียงสถานเดียว

 

ประเด็นที่ 2: การกล่าวโทษ

“…………………ฯลฯ

บุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา”

องค์ประกอบการกล่าวโทษ:

1. ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้เป็นไปตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25253

2. ต้องมีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรม (กฎเกณฑ์การประกอบวิชาชีพเวชกรรม)1

3. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้นจะต้องกระทำ “ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม” (ใน ขณะประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมก็ได้) เป็นการกระทำผิดจริยธรรม (ตามข้อบังคับ) ประการหนึ่งประการใด โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

4. ทำเรื่องกล่าวโทษยื่นต่อ “แพทยสภา”

5. ผู้ทำเรื่อง

ก. ผู้ทำเรื่องต้องมิใช่ผู้ที่เกิดความเสียหาย (เพราะหากผู้นั้นเกิดความเสียหายต้องเป็นเรื่อง “ข้อกล่าวหา” มิใช่ข้อกล่าวโทษ) แต่ทราบถึงการที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้มีการ “ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม” (ในที่นี้คือ ประพฤติผิดตามกฎเกณฑ์ในเรื่องจริยธรรม) เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

ข. ผู้ทำเรื่องเป็นผู้ใดก็ได้ก็ยังสามารถกล่าวโทษได้ (เพราะในตัวกฎหมายใช้คำว่า “บุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษ”)

6. หากเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยแท้แล้ว

1. ผู้กล่าวโทษจะถูกหรือไม่ถูกผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อตนก็สามารถกล่าวโทษได้ เช่น ผู้กล่าวโทษเป็นเพื่อนของผู้ป่วยก็ย่อมกล่าวโทษได้แล้ว (แต่จะต้องไม่เกิดความเสียหาย)

2. ความเสียหาย

2.1 ผู้กล่าวโทษต้องไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นเลยก็กล่าวโทษได้แล้ว เพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นย่อมต้องเป็น “การกล่าวหา” อยู่แล้ว

2.2 จะมีความเสียหายต่อผู้ป่วยหรือไม่ หรือไม่มีความเสียหายต่อใครเลยแต่กฎเกณฑ์ระบุไว้ว่าจะต้องมีจริยธรรมด้านนั้น ๆ ประการนั้น ๆ บัญญัติไว้ก็กล่าวโทษได้แล้ว

7. หากมิได้เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

พิจารณาเพียงแต่ว่าเข้าข่ายแห่งกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ในเรื่องจริยธรรมด้านนั้น ๆ ก็เป็นการเพียงพอแล้วเช่นเดียวกัน จึงเป็นการยึดเอากฎเกณฑ์ทางจริยธรรมเป็นสำคัญ เพราะหากมีพฤติการณ์ประการหนึ่งประการใดที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้กระทำโดยไม่สนใจว่าจะเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ก็ตาม แต่ผิดข้อบังคับจริยธรรมแล้วก็กล่าวโทษได้แล้ว

 

สรุป

ในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมนั้นบัญญัติขึ้นเพื่อ “ควบคุมจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” และมิได้หมายความว่าเฉพาะในขณะประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น และหากบัญญัติไว้ประการใดก็ย่อมต้องถือว่าเป็นจริยธรรมแล้ว โดยมีผู้ได้รับความเสียหายสามารถกล่าวหา (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ได้ แต่หากไม่ได้รับความเสียหายย่อมสามารถกล่าวโทษ (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ได้แล้วเช่นเดียวกัน

 

เอกสารอ้างอิง

1. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549. http://www.tmc.or.th/service_law02_17.php

2. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2548. ราชกิจจานุเบกษา. 2548; 122 (ตอนพิเศษ 50ง) ลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2548: 18-38. http://law.longdo.com/law/532/sub39995.

3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

4. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-6-search.asp

5. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%BB03/%BB03-20-9999-update.pdf

6. เกียรติขจร วัจนสวัสดิ์. คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1. กรุงเทพมหานคร; โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์ 2528: 210-39.

7. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.