ผลสำเร็จ Antibiotics Smart Use ลดยาปฏิชีวนะทั่วประเทศ 50%
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีประชาชนใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ โดยพบว่ามูลค่าการผลิต การนำเข้าของยาฆ่าเชื้อและยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2550 คิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 20 ของมูลค่ายาทั้งหมด โดยประชาชนในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่ใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคหวัดมากที่สุดในอัตราสูงถึงร้อยละ 70-80 ในขณะที่มีการใช้ในต่างจังหวัดอยู่ที่ร้อยละ 40-60 ซึ่งอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมนั้น ที่สำคัญและเป็นที่กังวลกันมากทั่วโลกคือ การทำให้เกิดเชื้อดื้อยา
โครงการ Antibiotics Smart Use (ASU) จึงได้เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อใน 3 โรคเป้าหมายที่พบบ่อยคือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัดเจ็บคอ โรคท้องร่วงเฉียบพลัน และแผลเลือดออก ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินโครงการมาถึงระยะที่ 3 แล้ว โดยมีหลายองค์กรที่มองเห็นความสำคัญและร่วมให้การสนับสนุน เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เป็นต้น รวมทั้งยังมีหลายโรงพยาบาลที่ได้นำโครงการ ASU ไปปฏิบัติเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด
นพ.วิบูลย์ศักดิ์ วุฒิธนโชติ นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองแพทย์ฝ่ายวิชาการ โรงพยาบาลชุมแพ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยามากเกินความจำเป็น ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อนี้เองทำให้เป็นสาเหตุของการดื้อยาที่อยู่ในระดับอันตรายโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยอาการเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น และเมื่อปี พ.ศ. 2549 พบว่า มูลค่าการใช้ยารวมของประเทศสูงถึง 76,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มยาที่มีมูลค่าการใช้สูงสุดอยู่ในกลุ่มของยาฆ่าเชื้อ
จากผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า ร้อยละ 50 เป็นการใช้ยาโดยไม่จำเป็น และผลจากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า มีการใช้ยาปฏิชีวนะในด้านจุลชีพไม่เหมาะสมถึงร้อยละ 25-91 ซึ่งจากรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาดังกล่าวทำให้พบปัญหาจากการใช้ยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับ 1 โดยมีอัตราเชื้อดื้อยาเพิ่มสูงถึงร้อยละ 25-50 ทั้งนี้รายงานการสำรวจพบว่า มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมเกิดขึ้นบ่อยมากในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2521 พบ 41%, แคนาดา ในปี พ.ศ. 2523 พบ 63%, ออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2526 พบ 48% และปี พ.ศ. 2533 พบ 64% และประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2533 พบ 91% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
จากปัญหาดังกล่าวทำให้มีการเริ่มตระหนักถึงปัญหาในด้านการใช้ยาปฏิชีวนะ และร่วมกันหยุดใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ ทำให้มีการริเริ่มโครงการ ASU ขึ้น โดยเป้าหมายของโครงการคือ กลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์ ให้ลดการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาผู้ป่วย โดยในกลุ่มผู้ป่วยนอกพบว่า มี 3 กลุ่มโรคที่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ได้แก่ 1. โรคหวัดเจ็บคอ 2. ท้องร่วงเฉียบพลัน 3. แผลเลือดออก
ตั้งแต่มีการเริ่มโครงการในโรงพยาบาลชุมแพ ปัจจุบันพบว่าสามารถลดการใช้ยาในโรคหวัดไม่ถึง 20% โรคท้องร่วงไม่ถึง 20% และสามารถลดค่าใช้จ่ายของยาใน 2 กลุ่มโรคดังกล่าวได้ถึง 6-7 แสนบาทต่อปี ซึ่งในกลุ่มโรงพยาบาลทั่วประเทศเฉลี่ยมีการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง 50%
ด้าน ภญ.พนารัตน์ บูรณะชนอาภา เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลชาติตระการ กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2555 โรคติดเชื้อเฉียบพลันของทางเดินหายใจส่วนบนเป็นอันดับโรคของผู้ป่วยนอกที่มารักษาที่โรงพยาบาลชาติตระการสูงสุดอันดับที่ 1 (เฉลี่ย 550 ครั้งต่อเดือน) พบว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเพียงร้อยละ 5 แต่กลับพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 53 เช่นเดียวกับโรคท้องร่วงที่พบว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียร้อยละ 0.3 แต่พบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 38
ในมุมมองของแพทย์ต่อการใช้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วย จากผลสำรวจพบว่าสาเหตุเกิดจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1. ผู้ป่วยร้องขอเพราะได้รับยามาตลอด 2. ผู้ป่วยอาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล 3. กลัวผู้ป่วยไม่พึงพอใจและร้องเรียน 4. การวินิจฉัยว่าติดเชื้อ GAS ยากและไม่คุ้มค่าหากต้องมีการเพาะเชื้อในห้องทดลอง 5. re-visit จะเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้จึงมีความคิดริเริ่มในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลเข้ามาใช้ โดยเป้าหมายในการพัฒนาจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และชุมชน ซึ่งโรงพยาบาลจะทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจ ปรับความเชื่อเกี่ยวการใช้ยา และเสริมสร้างความมั่นใจในการรักษาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ด้าน รพ.สต. คือการกำหนดนโยบายระดับอำเภอ และในส่วนของชุมชนจะมีการติดตามและประเมินผลด้านความพึงพอใจและทัศนคติว่ามีผลอย่างไรต่อคนในชุมชน
สำหรับการจัดองค์ความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ มีการรวบรวมความรู้ที่มีอยู่มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ในการพัฒนาตนเองและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้การพัฒนาดังกล่าวประสบความสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญคือการผลักดันนโยบายของผู้บริหารและการเรียนรู้ รวมถึงการร่วมมือกันของบุคลากรทางการแพทย์ในองค์กร ซึ่งจากการสุ่มประเมินผู้ป่วยที่รักษาในทุกกลุ่มอายุ พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 91 หายจากโรคโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ การใช้ยาปฏิชีวนะในโรคติดเชื้อเฉียบพลันของทางเดินหายใจส่วนบนลดลงจากร้อยละ 53 เหลือร้อยละ 31 และโรคท้องร่วงลดลงจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 18
นอกจากนี้ยังมีโครงการและนวัตกรรมที่มีส่วนช่วยให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลเกิดขึ้นด้วย อย่าง RxMyanmar: Application for Thai-Myanmar pharmacy ซึ่ง ภญ.ดวงแก้ว อังกูรสิทธิ์ เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวถึงผลงานว่า เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครมีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและการประมง ทำให้มีแรงงานชาวพม่าเข้ามาทำงานมาก ผลการสำรวจพบว่า แรงงานต่างด้าวที่มาเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสมุทรสาครมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2556 พบว่าจำนวนคนไข้ต่างด้าวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า แบ่งเป็นคนไข้นอกประมาณ 414 คนต่อวัน และคนไข้ในประมาณ 30 คนต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น การสื่อสารที่ไม่เข้าใจ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลที่มีแนวคิดในการแก้ปัญหาในการสื่อสารกับผู้ป่วย เช่น โรงพยาบาลแม่สอด และโรงพยาบาลบันนังสตา เป็นต้น
จากปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการริเริ่มในการพัฒนา Application ที่มีชื่อว่า “RxMyanmar” เพื่อรวบรวมคำที่ใช้บ่อยในการจ่ายยา เพื่อเป็นประโยชน์ในการสื่อสารกับผู้ป่วยชาวพม่าในสถานพยาบาลไทยที่ไม่มีล่ามแปล และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งผลจากการทดลองใช้ในโรงพยาบาลสมุทรสาครพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการและบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่พึงพอใจมาก เพราะช่วยทำให้การสื่อสารระหว่างกันเข้าใจมากขึ้น และผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้ถูกต้อง อนาคตหากมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะมีการพัฒนาต้นแบบในหลาย ๆ ภาษา รวมถึงการพัฒนาด้านการแปลและฟังก์ชั่นอื่น ๆ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
โครงการเภสัชกรประจำครอบครัวของ ภญ.สุธิดา ศรีวิทยานันต์ โรงพยาบาลป่าตอง ซึ่งได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียง/ติดบ้าน และผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีการใช้ยาหลายชนิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ยาไม่ถูกต้องและไม่สม่ำเสมอ การที่ไม่มีผู้ดูแล การไม่ได้มารับยาตามนัดทำให้ไม่ได้รับยา รวมถึงอาจใช้ยาที่ไม่ควรใช้ ซึ่งส่งผลให้ควบคุมอาการที่เป็นอยู่ไม่ได้และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา จากปัญหาดังกล่าวจึงมีการริเริ่มทำกิจกรรมเกี่ยวกับเภสัชกรประจำครอบครัวขึ้น เพื่อดูแลและตรวจเยี่ยมผู้ป่วยเป็นประจำทุกเดือน พร้อมทั้งประเมินแก้ไขปัญหาในการใช้ยาร่วมกับผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมถึงให้คำแนะนำในการสอนวิธีการใช้ยาและปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล ซึ่งจากกิจกรรมพัฒนาดังกล่าวพบว่าทำให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ถูกต้องมากขึ้น และสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น