บรรยายใต้ภาพ
1. ผศ.ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร
2. ภก.คฑา บัณฑิตานุกูล
3. ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา
4. คุณเศรณีย์ จุฬาเสรีกุล
บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ยาสูบ “แปลงร่าง” คนบาปในคราบนักบุญ
บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (e-cigarette) ถือเป็นภัยอันตรายที่เคลือบแฝงไว้ในความเข้าใจผิดว่าจะช่วยทำให้ลดการสูบบุหรี่ก้นกรอง หรือบุหรี่มวนเองได้ ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่รับรองประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะรูปร่างของผลิตภัณฑ์และวิธีการสูบเช่นเดียวกับบุหรี่ คือมีลักษณะเป็นแท่งยาวกว่าบุหรี่ธรรมดาเล็กน้อย ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกสำหรับบรรจุแบตเตอรี่เพื่อทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋วทำงานแทนการจุดไฟ ส่วนที่สองคือส่วนที่ทำให้เกิดอะตอมเพื่อทำให้สารเกิดการแตกตัวด้วยความร้อน และส่วนที่สามคือแท่งหลอดบรรจุ ใช้สำหรับบรรจุขวดของเหลวขนาดเล็ก (cartridge) และสารโพรไพลีน ไกลคอล (propylene glycol) อยู่ในสถานะของเหลวที่จะทำให้เกิดเป็นละอองหมอก มองดูคล้ายควันบุหรี่เวลาสูบ แท่งหลอดบรรจุเหล่านี้สามารถถอดเปลี่ยนได้ โดยสามารถเลือกความเข้มข้นของนิโคตินได้ และต่ออยู่กับส่วนที่ใช้สูบลักษณะแบน (mouthpiece) บริเวณปลายมวนจะมีไฟสีแดงแสดงขณะสูบ
องค์การอนามัยโลกจัดบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ส่งผ่านนิโคตินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Nicotine Delivery Systems: ENDS) พบแพร่หลายในประเทศร่ำรวยอย่างน้อย 16 ประเทศ เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเป็นรูปแบบใช้แล้วทิ้ง โดยวางจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ พบแพร่หลายสูงสุดทางอินเตอร์เน็ต และห้างสรรพสินค้า
ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ค้นพบว่าแท้จริงแล้วบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์คือคนบาปในคราบนักบุญ ทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มมีการตื่นตัวที่จะควบคุมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว อย่างนครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ที่มีการห้ามสูบบุหรี่ เช่น สถานที่ราชการ และสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนรัฐสภาสหภาพยุโรปได้ผ่านร่างกฎหมายห้ามจำหน่ายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แก่เยาวชน และห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 หลายประเทศในยุโรป อาทิ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก มอลตา และสโลเวเนีย ที่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ห้ามสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในที่สาธารณะด้วยเช่นกัน อิตาลีและฝรั่งเศสห้ามจำหน่ายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่เยาวชน ลิทัวเนียมีกฎหมายห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบบุหรี่ใด ๆ ทั้งสิ้น รัสเซียซึ่งประชากร 1 ใน 3 ของประเทศสูบบุหรี่มีกฎหมายห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ มาเลเซียไม่อนุญาตให้ทำการตลาดหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และสิงคโปร์ถือว่าการนำเข้าและการจำหน่ายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ได้แพร่หลายในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเป็นอย่างมาก ด้วยความเชื่อผิด ๆ ที่มักได้รับการโฆษณาชวนเชื่อว่าไม่มีนิโคติน ไม่มีอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง สูบแล้วไม่ติด ทำให้มีนักสูบหน้าใหม่พร้อมที่จะเข้าไปลิ้มลองมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการแถลงข่าวเรื่อง “เตือนภัยบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เสี่ยงมะเร็ง” ขึ้น ณ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ผศ.ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มี 3 ประเภทคือ บุหรี่ไฟฟ้า บารากุไฟฟ้า และซิการ์ไฟฟ้า ซึ่งมีการจำหน่ายแพร่หลายทั้งในโลกออนไลน์ หน้าห้างสรรพสินค้า และที่น่ากังวลมากคือ แพร่หลายผ่าน Social Media ทุกประเภท ถ้านับเฉพาะบารากุไฟฟ้าที่มีการเผยแพร่ผ่าน Social Media พบว่า ใน Facebook มีประมาณ 1,200 ทั้งที่เป็น Facebook และ Fanpage ใน Line มีประมาณ 1,300 ID IG มีประมาณ 350 ID WhatsApp มีประมาณ 450 ID และเว็บไซต์มีประมาณ 1,700 เว็บ ที่สำคัญคือ ทุกสื่อสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด ดังนั้น การเข้าถึงสินค้าเหล่านี้จึงง่ายมากเพียงแค่ปลายนิ้ว
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการส่งเสริมการขายอย่างโจ่งแจ้ง ส่วนมากจะโฆษณากันด้วยเรื่องของราคา มีจำหน่ายในทุกหน้าห้างสรรพสินค้า ทุกแหล่งช็อปปิ้งในกรุงเทพฯ เข้าถึงได้ในระยะเวลา 15 นาที แพร่กระจายด้วยความเชื่อผิด ๆ เช่น หอม สูบง่าย ไม่มีนิโคติน สูบได้ทุกที่ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่รบกวนใคร ถูกใช้เพื่อทดแทนการสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ เพราะระบุว่าไม่มีควัน ไม่รบกวนใคร ไม่มีนิโคติน แม้แต่เด็กมัธยมในปัจจุบันก็ยังรู้จักดี มีวิธีการโฆษณาการสูบผ่าน Youtube ซึ่งแพร่หลายและไร้การควบคุม มีการโฆษณาชวนเชื่อด้วยกลิ่น รส และความหอมเลียนแบบผลไม้ ทำให้เข้าใจผิด ถือเป็นแฟชั่นที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบารากุไฟฟ้า เนื่องจากราคาถูกกว่าบุหรี่ไฟฟ้า
จากการศึกษาสถานการณ์ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ “แปลงร่าง” จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 13-18 ปี จำนวน 2,426 ราย พบว่า เยาวชน 42% สูบบุหรี่ธรรมดา, 44% สูบบารากุไฟฟ้า, 25% สูบบารากุธรรมดา, 21% สูบบุหรี่ชูรส, 20% สูบบุหรี่กานพลู และ12% สูบบุหรี่ไฟฟ้า หากมาพิจารณาเฉพาะบารากุไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวพบว่า เยาวชนกลุ่มนี้รู้จักบารากุไฟฟ้าถึง 78%, เคยสูบ 44% และอีก 28% ที่ไม่เคยสูบ อยากลอง โดยรู้จักจากทางอินเตอร์เน็ต 32%, เพื่อนบอก 40% รู้จักและเห็นตามหน้าห้างสรรพสินค้า 28% และซื้อจากในอินเตอร์เน็ต 18% โดย 67% ซื้อด้วยตัวเองที่จตุจักร สะพานพุทธ ผู้ขาย 86% ขายให้โดยไม่ถามอายุ มีรุ่นพี่หรือเพื่อนนำมาขายให้ที่โรงเรียน 60% มีการนำไปสูบที่โรงเรียน 18% อีก 51% แอบสูบที่บ้าน ส่วนใหญ่ 70% สูบตลอดเวลา เพราะคิดว่าปลอดภัย และสูบได้เพราะไม่มีควัน ทำให้ครูไม่สามารถตามไปพบได้เหมือนกับสูบบุหรี่ธรรมดา โดยเหตุผลที่สูบ 83% คิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แปลกใหม่ ลองได้ ไม่อันตราย และหลงเชื่อตามโฆษณาคือ เป็นความเชื่อผิด โดยเชื่อว่าสูบง่ายกว่าบุหรี่ 76% เชื่อว่าดีกว่าบุหรี่ 48% เชื่อว่าปลอดภัย 41% เชื่อว่าไม่มีนิโคติน 53% คิดว่าสูบแล้วไม่ติด 53% ซึ่งเป็นความเชื่อผิดที่อันตรายและน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง
“สถานการณ์การบริโภคยาสูบไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนอายุ 13-18 ปี เป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะกลายเป็นเด็กอายุน้อยที่สูบบารากุไฟฟ้า และสูบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า สิ่งที่ควรทำคือ เร่งดำเนินการพิสูจน์สารที่อยู่ในบารากุไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อลบล้างโฆษณาชวนเชื่อ ลบล้างความเชื่อผิด และควบคุมแหล่งขายอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะตามหน้าห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดสวนจตุจักร และสะพานพุทธ และควรเร่งพิจารณาควบคุมการนำเข้าสินค้าบารากุไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว
ภก.คฑา บัณฑิตานุกูล เครือข่ายเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ กล่าวว่า ปัญหาบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยมากกว่าบุหรี่ทั่วไป โดยยกตัวอย่างว่า บุหรี่ปกติมีสารพิษกว่า 6,000 ชนิด แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีแค่นิโคติน แต่การศึกษาพบว่า ในบุหรี่ไฟฟ้าจะมีปริมาณนิโคตินที่เข้มข้นสูงกว่าใบยาสูบทั่วไป และไม่สามารถควบคุมปริมาณนิโคตินได้ ซึ่งอันตรายคือ นิโคตินจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง และอาจส่งผลต่อความดันโลหิต และเมื่อมีการเผาไหม้ สารโพรไพลีน ไกลคอล (propylene glycol) ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดสารตกค้างที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ และจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ต่ำ และงานวิจัยไม่ชัดเจนเพราะกลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป อีกทั้งยังพบว่า แม้จะหยุดสูบบุหรี่ธรรมดาได้ แต่ผู้สูบกลับต้องการบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น หมายถึงทำให้ติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน
ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ปัญหาของการใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์กำลังเป็นปัญหาคุกคามต่อคนไทยและเยาวชนไทยอย่างมาก จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้ขายซึ่งขายโดยผิดกฎหมายทั้งสิ้นในประเทศไทยพยายามกล่าวอ้างคือ บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย บุหรี่ไฟฟ้าสูบแล้วไม่มีพิษภัย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วงานวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันเริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
“มนุษย์เพิ่งรู้จักพิษภัยของบุหรี่เมื่อไม่ถึง 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบไฟฟ้าก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน คือเริ่มต้นเราคิดว่ามันไม่มีพิษภัย แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น เราจะเห็นว่ามันมีอันตรายมากกว่าเดิม”
แม้ว่าจุดขายของผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือมีระดับนิโคตินที่มีความเข้มข้นไม่เท่ากับบุหรี่ก้นกรอง หรือบุหรี่มวนเอง และพยายามอ้างว่าสามารถใช้เลิกบุหรี่ได้ โดยใช้ปริมาณนิโคตินลดหลั่นเป็นขั้นบันไดลงมา ถ้าเทียบสารนิโคตินมวนต่อมวนแล้ว จะเห็นว่าขนาดของนิโคตินที่อยู่ในสารหรือน้ำยาที่ใช้กับบุหรี่ไฟฟ้ามีความเข้มข้นสูงกว่ามาก บุหรี่หนึ่งมวนโดยปกติจะมีปริมาณนิโคตินอยู่ประมาณ 1-2 มิลลิกรัมต่อมวน แต่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าความเข้มข้นจะขึ้นอยู่กับว่าใช้สารนิโคตินที่มีความเข้มข้นเท่าไหร่ บางยี่ห้อเข้มข้นถึง 24 มิลลิกรัม โดยน้ำยา E-liquid ที่ใช้กับบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันมีรสผลไม้ทุกชนิด ยกเว้นรสทุเรียน นอกจากนี้ยังมีรสซิการ์ รสวิสกี้ รสบุหรี่ยี่ห้อต่าง ๆ เพื่อรองรับการทดลองเสพของลูกค้าใหม่ ตั้งแต่ระดับเยาวชนถึงคนทำงาน
สำหรับผลกระทบของการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไฟฟ้าต่อสุขภาพของผู้ใช้จะมีหลายอย่าง ตั้งแต่มีผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด สารนิโคตินที่ในอดีตใช้เป็นสารฆ่าแมลงมีฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเกิดการตีบตัน ผนังหลอดเลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติ
“ถ้าเกิดการตีบ แตก ตัน ของผนังหลอดเลือดในสมองก็จะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ถ้าเกิดที่หัวใจจะทำให้หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว ถึงขั้นเสียชีวิต ถ้าเกิดที่อวัยวะเพศจะทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม ถ้าเกิดที่ปลายมือปลายเท้าก็จะทำให้เกิดแผลเรื้อรัง ซึ่งจะเห็นได้ชัดในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย ต้องตัดมือ ตัดเท้า ตัดนิ้วทิ้ง”
นอกจากนี้ยังพบว่า มีผลต่อการลดสมรรถภาพปอดและการหายใจเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ก้นกรองนาน ๆ ที่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง แต่สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากต้องใช้เวลาในการติดตามดูผล 5-10 ปี แต่ในขณะนี้เริ่มจะมีข้อมูลออกมาในเบื้องต้นแล้วว่า การเสพไอของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีสารประกอบต่าง ๆ ทั้งที่รู้จักและยังไม่รู้จักทางการแพทย์มีผลทำให้หลอดลมตีบแคบ และบวมมากขึ้น
ล่าสุดเมื่อประมาณต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีงานวิจัยจากสมาคมมะเร็งวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่งานวิจัย ซึ่งเป็นการวิจัยโดยนำเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจออกมาเลี้ยงในน้ำยานอกร่างกายมนุษย์ แล้วนำเซลล์เหล่านั้นไปทดลอง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำไปสัมผัสควันบุหรี่เป็นเวลา 4 ชั่วโมงติดต่อกัน เซลล์อีกกลุ่มหนึ่งนำไปสัมผัสไอของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวลา 4 ชั่วโมงติดต่อกันเช่นกัน จากการศึกษาจากกล้องจุลทรรศน์พบว่า เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งเหมือนกันทั้ง 2 กลุ่ม และเมื่อวิเคราะห์ทางพันธุกรรม คือนำ DNA ไปตรวจผลก็ยืนยันว่า เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานผลข้างเคียงของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาที่เว็บไซต์ MedWatch ของ FDA ของสหรัฐอเมริกาจำนวนมากว่าเกิดผลข้างเคียง อาทิ มีอาการเวียนศีรษะ หมดสติ เป็นลม สับสน ปอดอักเสบ ติดเชื้อ หลอดลมตีบแคบ หอบหืดกำเริบ อาการชัก หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ รวมทั้งรายงานผลการวิเคราะห์บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า มีสารโลหะหนัก ไม่ว่าจะเป็นสารหนู ตะกั่ว ปรอท แมงกานีส สังกะสี แคดเมียม สารก่อมะเร็งหลาย ๆ ชนิด สารพิษชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีพิษต่อร่างกายอย่างไดเอธิลีน ไกลคอล สารอินทรีย์ที่ใช้ในการปรุงแต่งกลิ่น รส สี พวกนี้มีผลกระทบต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ สารพิษชนิดอื่น ๆ ที่ยังไม่รู้จักที่อาจมีผลกระทบต่อร่างกาย และนอกจากนี้ยังมีอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่า PM2.5 ซึ่งเป็นพิษทางอากาศ และก่อผลกระทบต่อทางเดินหายใจได้ในระยะยาว ส่วนควันของบุหรี่ไฟฟ้าสามารถเกาะบนพื้นผิวของวัสดุต่าง ๆ และบนผิวหนังของผู้เสพได้ด้วย เมื่อถูกกับสารเคมีอื่น ๆ บางชนิด เช่น สารพิษ หรือมลพิษชนิดอื่น ๆ ในอากาศจะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องจนกลายเป็นสารก่อมะเร็ง หากอยู่บนผิวหนังจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย หรือหากไปเกาะอยู่ตามพื้นผิวของวัสดุต่าง ๆ เมื่อกลายเป็นสารก่อมะเร็ง หากมีผู้อื่นหรือเด็กไปสัมผัสก็จะได้รับสารก่อมะเร็งไปสะสมในร่างกายด้วยเช่นกัน
สำหรับผลกระทบในระดับประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในเวลาเพียง 1 ปี เยาวชนของสหรัฐอเมริกาเพิ่มการทดลองเสพผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จาก 4.7% เป็น 10% และการมีผลิตภัณฑ์ยาสูบไฟฟ้ายังเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดาอยู่แล้วไปทดลองบุหรี่ไฟฟ้าด้วยความเข้าใจผิดว่าสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ แต่กลายเป็นเลิกไม่ได้ทั้งสองอย่าง ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศอังกฤษและแคนาดา โดยมีการสำรวจอย่างชัดเจนที่อังกฤษพบว่า ในปี ค.ศ. 2010 มีผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้วไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียง 2.7% แต่ในเวลาเพียง 4 ปี กลายเป็น 17.7% ล่าสุด FDA ของสหรัฐอเมริกาได้เสนอให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะก่อหายนะให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคตอันใกล้
“บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกันทั่วไป มีผลกระทบต่อสุขภาพไม่ต่างกับบุหรี่ทั่วไป การเสพบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจนจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะทดลองสูบบุหรี่ชนิดนี้ และภาครัฐควรมีมาตรฐานควบคุมบุหรี่ชนิดนี้แบบเดียวกับที่ควบคุมสารพิษอันตรายอื่น อย่างยาฆ่าแมลง หรือน้ำยาซักผ้าขาว” ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวสรุป
คุณเศรณีย์ จุฬาเสรีกุล กลุ่มพัฒนาภารกิจกฎหมาย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า การขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ กรมควบคุมโรคจึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมกระบวนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร และการแพร่หลายของบุหรี่ไฟฟ้าทางอ้อม คือ 1. ฐานนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 2. ฐานช่วยซ่อนเร้น จําหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจํานํา หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจํากัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านศุลกากร หรือโดยหลีกเลี่ยงอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ 3. ฐานประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 27 กรณีที่เป็นการจำหน่ายทางเว็บไซต์ และ 4. ฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่ฉลากไม่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 30, 31
ทั้งนี้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมบุหรี่ไฟฟ้าในทุกมิติต่อไป “การควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ก็เหมือนกับแมววิ่งไล่หนู และไม่ใช่หนูธรรมดา แต่เป็นหนูติดสเกต เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้มีการพัฒนารูปแบบให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็ว เราจึงต้องพยายามร่างกฎหมาย ออกกฎหมาย ปรับแก้พระราชบัญญัติควบคุมยาสูบ พ.ศ. 2535 ให้ครอบคลุมให้ถึงนิโคตินและผลิตภัณฑ์ยาสูบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย” คุณเศรณีย์ กล่าวทิ้งท้าย