คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จัดประชุมวิชาการ Pharmacy Review and Update Series 2014:“Pharmacotherapy in Geriatrics”
วิทยาการด้านยาในปัจจุบันต้องอาศัยการบูรณาการความรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการนำไปใช้ ซึ่งความก้าวหน้าในด้านดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น บุคลากรทางสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนความรู้ในเชิงบูรณาการและติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาความสามารถของการทำงานในอาชีพของตนเองในทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย จึงมีความประสงค์ที่จะนำเสนอการประชุมวิชาการในรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2553 และมีแผนการจัดประชุมในลักษณะเป็นรายปี ในแต่ละปีจะมีปรัชญาการประชุมที่เหมือนกันคือ เน้นบูรณาการ แต่เนื้อหาการประชุมอาจจะแตกต่างกันออกไปตามศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อ.ภก.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะกรรมการจัดการประชุม Pharmacy Review and Update Series 2014 กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลักในการให้บริการทางวิชาการ เพิ่มพูนความรู้แก่เภสัชกรที่ปฏิบัติงานในสาขาต่าง ๆ ซึ่งถ้าดูจากกำหนดการงานประชุมอบรมวิชาการของคณะในแต่ละปีจะพบว่า มีความหลากหลายและครอบคลุมในทุกด้านของงานเภสัชกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานเภสัชกรรมโรงพยาบาล งานเภสัชกรรมชุมชน งานเภสัชอุตสาหการ รวมถึงงานด้านการพัฒนายาและสมุนไพร นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ยา และสมุนไพรบริการให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย
สำหรับปี พ.ศ. 2557 ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักเห็นว่าประชากรผู้สูงอายุไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยา จึงได้จัดให้มีการประชุมวิชาการที่เน้นการดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยสูงอายุขึ้น ภายใต้ การประชุมวิชาการเรื่อง Pharmacy Review and Update Series 2014: “Pharmacotherapy in Geriatrics” ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ณ ห้องประชุม 302 อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบการเปลี่ยนแปลงของสรีรวิทยาในผู้สูงอายุ และความสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา ทราบวิธีการประเมินผู้ป่วยสูงอายุแบบองค์รวม เข้าใจและอธิบายบทบาทของการรักษาด้วยยาในสภาวะต่าง ๆ ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยอ้างอิงตามหลักฐานทางวิชาการที่ทันสมัยได้
เนื้อหาการประชุมครอบคลุมตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผู้สูงอายุ การทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ วิธีการประเมินผู้ป่วยสูงอายุอย่างองค์รวม แนวทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ที่สามารถป้องกันได้ การใช้ยาและแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเสียจังหวะ ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า ภาวะท้องผูกเรื้อรัง ภาวะอาหารไม่ย่อย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน ปัญหาความจำและสติปัญญา ภาวะนอนไม่หลับ และโรคมะเร็งที่พบบ่อย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่เภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุร่วมกับทีมบุคลากรสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยจากการใช้ยาสูงสุดต่อไป
“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมีค่อนข้างมาก ประชากรในวัยนี้เป็นกลุ่มที่มักจะได้รับความเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะโรคเรื้อรังซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยสูงอายุกลุ่มนี้จึงต้องรับประทานยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ป่วยทำให้การตอบสนองต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทางคณะฯ จึงจัดงานประชุมวิชาการเพื่อเป็นการเตรียมการให้แก่เภสัชกรทุกท่านในการดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยสูงอายุที่คาดว่าจะเป็นปัญหาในอนาคต”
อ.ภก.ธนรัตน์ กล่าวอีกว่า เนื้อหาการประชุมในแต่ละหัวข้อล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจ โดยไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้อยู่ที่หัวข้อ Autonomic Dysregulations in Elderly: Basis for Drug Therapy เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในมุมการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการออกฤทธิ์ของยาส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะยาส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะออกฤทธิ์กับตัวรับที่อยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งจะมีความผิดปกติมาก หัวข้อนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และน่าสนใจ เพราะถ้าหากลองกลับไปดูเนื้อหาจากตำราแล้ว เนื้อหาส่วนนี้มักจะถูกสอดแทรกอยู่ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผู้ป่วยสูงอายุ ไม่ค่อยได้ถูกกำหนดหรือเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสำคัญของการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งหัวข้อนี้ รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ จะมาเป็นวิทยากรทบทวนให้ฟัง จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมประชุมอย่างมาก
นอกจากนี้วิทยากรที่ให้เกียรติมาบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ เป็นอาจารย์เภสัชกรซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยในแต่ละสาขานั้น ๆ อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์, รศ.ดร.ภญ.สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล, อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์, ผศ.ดร.ภก.สุรกิจ นาทีสุวรรณ, อ.ดร.ภญ.กฤตติกา ตัญญะแสนสุข, รศ.ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์, อ.ภก.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์, อ.ดร.ภก.กฤษฎา ศักดิ์ชัยศรี และ ผศ.ดร.ภก.ปรีชา มนทกานติกุล เป็นต้น
อ.ภก.ธนรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุมีความแตกต่างจากผู้ป่วยในวัยหนุ่มสาวหรือคนปกติทั่วไปในหลายประเด็น ประเด็นแรกคือ การเปลี่ยนแปลงร่างกายของผู้ป่วยสูงอายุทั้งด้านจลนศาสตร์และพลศาสตร์ ทำให้ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อยาได้ไวกว่าคนปกติ หรือในทางกลับกันอาจจะไวต่ออาการข้างเคียงได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องของขนาดยาเป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนนั้นจะตอบสนองต่อการใช้ยาในขนาดยาที่ต่างกัน ประเด็นที่สองคือ การเลือกใช้ยา ยาหลายตัวที่สามารถใช้ในผู้ป่วยสูงอายุได้มักจะมีอาการข้างเคียง ซึ่งในฐานะเภสัชกรต้องพยายามตัดสินหรือพยายามใช้หลักฐานทางวิชาการเข้ามาประกอบว่าจะมีวิธีการเลือกชนิดของยาที่อยู่ในกลุ่มโรคนั้น ๆ หรือการรักษาโรคนั้น ๆ อย่างไรให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด ประเด็นที่สามคือ ผู้ป่วยสูงอายุมีโอกาสที่จะใช้ยามากกว่าหนึ่งชนิดอย่างแน่นอน จากการศึกษาหลายการศึกษาไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือในประเทศไทยเองแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยสูงอายุคือผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และเป็นโรค โดยทั่วไปผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับประทานยาอย่างน้อยที่สุดคือ 3-5 ชนิดต่อวันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยรับประทานยาหลายตัวร่วมกันแล้วจะเกิดปัญหาปฏิกิริยาระหว่างยาหรือยาตีกันก็จะมีสูงมากขึ้น ทั้งหมดเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำไมเภสัชกรต้องทราบข้อมูลการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ นั่นเป็นเพราะมีจุดที่แตกต่างจากประชากรวัยหนุ่มสาวอย่างชัดเจน
“ผู้ป่วยสูงอายุเป็นกลุ่มหนึ่งที่ดูแลยาก ด้วยวัฒนธรรมของประเทศไทยทำให้แบ่งผู้สูงอายุออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ ไม่ดูแลตัวเอง ไม่ยอมรับประทานยา ดังนั้น ในผู้ป่วยสูงอายุกลุ่มนี้จึงเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางสาธารณสุขที่จะต้องทำงานเชิงรุกในการเข้าไปสืบค้นในการประเมินปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวผู้ป่วย กลุ่มที่สองคือ ดูแลตัวเอง ชอบมากกับการมาโรงพยาบาล ชอบการขอยาไปติดไว้ที่บ้าน ชอบรับประทานยา เพราะฉะนั้นเราก็คงจะต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในอีกมุมหนึ่ง”
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งได้แก่ เภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรชุมชน และบุคลากรสาธารณสุขที่ให้ความสนใจในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ สามารถจะนำความรู้ไปใช้ในการดูแลการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และยังสามารถนำองค์ความรู้ไปกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ กระจายยา การบริบาลทางเภสัชกรรม และการติดตามดูแลผู้ป่วยสูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สักวันหนึ่งเราทุกคนก็ต้องแก่ ถ้าเรารู้ถึงพื้นฐานการใช้ยาในผู้สูงอายุ รู้หลักการใช้ยาในผู้สูงอายุที่ถูกต้องย่อมทำให้เกิดประโยชน์แก่ตัวผู้ป่วยสูงอายุ และคงหนีไม่พ้นบทบาทของเภสัชกรทุกคนที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง หากใครสนใจก็อยากให้สมัครเข้ามา รับรองว่าจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน” อ.ภก.ธนรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ทาง www.pharmacy.mahidol.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ 0-2644-8677-91 ต่อ 1118, 1121