บารากู่ (Baraku) กับบารากู่ไฟฟ้า ต่างกันอย่างไร
อ.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
จากการที่พบภาพวัยรุ่นโดยเฉพาะผู้หญิงที่สูบอุปกรณ์ที่เรียกว่า บารากู่ไฟฟ้า โดยคิดว่าเป็นเรื่องเท่ ทันสมัยในสังคม online โดยวัยรุ่นและประชาชนจำนวนมากได้มีการเข้าใจผิดหรือมีความเชื่อที่ว่า บารากู่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ โดยที่ไม่รู้ว่าการใช้บารากู่ไฟฟ้านั้นเสี่ยงต่อสารพิษหลายชนิด และยังไม่มีการรับรองทางการแพทย์ใด ๆ ว่าสามารถเลิกบุหรี่ได้
บารากู่ คือยาสูบที่นำมาใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้เสพที่มีชื่อเรียกว่า ฮุคคา (hookah) หรือมีชื่อเรียกที่ต่างกัน เช่น water pipe, narghile, shisha, hubble-bubble เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยเรียกว่า เตาบารากู่ โดยการสูบยาสูบโดยใช้อุปกรณ์นี้เป็นวัฒนธรรมแถบตะวันออกกลางมานานแล้ว ซึ่งปัจจุบันนี้นอกจากจะพบในโลกตะวันออกกลางแล้ว ยังพบในประเทศตะวันตกด้วย
รูปที่ 1 ฮุคคา (hookah) หรือเตาบารากู่(2)
สารที่นำมาสูบที่ใช้กับฮุคคานั้นไม่จำเป็นต้องแห้งสนิท ที่ใช้กันมักมีชื่อว่า โทบาเมล หรือมาแอสเซล ซึ่งประเทศไทยรู้จักในชื่อว่า บารากู่ เป็นส่วนผสมของใบยาสูบ (tobacco) กับสารที่มีความหวาน เช่น น้ำผึ้งหรือกากน้ำตาล (molasses) หรือผลไม้ตากแห้ง ในแถบตะวันออกกลางและตุรกีสามารถพบได้ในร้านอาหารและภัตตาคารทั่วไป ใช้สูบหลังอาหารแทนบุหรี่ บางแห่งสูบกันในแหล่งที่ใช้เป็นที่สังสรรค์ ดูรายการยอดนิยม หรือดูกีฬาระดับชาติร่วมกัน เมื่อไม่นานมานี้หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ห้ามการสูบในที่สาธารณะ ที่สกอตแลนด์และอังกฤษก็ห้ามเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็เริ่มเป็นที่นิยมในบางแห่ง เช่น สเปนและรัสเซีย ส่วนในเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มรู้จักกันมากขึ้น เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นในปากีสถานและอัฟกานิสถาน ที่อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ก็มีความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนในประเทศไทยบารากู่พบแพร่หลายในสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป
บารากู่ (Baraku) เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับสูบ/ดูดควันที่ผ่านน้ำ มีลักษณะคล้ายขวดรูปทรงสูง ด้านฐานป่องออกเพื่อบรรจุน้ำ ส่วนคอขวดยาวทรงสูงแคบ และด้านบนสุดมีถ้วยบรรจุสาร/ตัวยาที่ต้องการเสพ โดยใช้กระดาษอะลูมินัมฟอยล์หุ้มปิดด้านบน และเจาะรูไว้ ซึ่งจะใช้ถ่านหรือความร้อนจากไฟฟ้าเพื่อชักนำให้เกิดการเผาไหม้สารภายในถ้วยได้ควันที่ต้องการ นอกจากนี้การควบคุมระดับน้ำที่ใส่ไว้ด้านล่างซึ่งมีความสำคัญต่อรสในการเสพ เพราะ ควันจะลงไปผ่านน้ำ จากนั้นผู้เสพจะดูด/สูบด้วยท่อสายยาวที่ต่อออกมาบริเวณด้านล่าง ทั้งนี้การสูบบารากู่ต่างจากการสูบบุหรี่ทั่วไป โดยการสูบบารากู่จะสูบจากควันผสมกลิ่นที่ผ่านน้ำแทน(3)
ส่วนการทำงานของแท่งบารากู่ไฟฟ้าเหมือนกับบุหรี่ไฟฟ้า เพียงแต่แท่งบารากู่ไฟฟ้า แบตเตอรี่และน้ำยาใช้หมดในแต่ละมวน ไม่มีการเติมน้ำยาใหม่ หรือชาร์จแบตเตอรี่ใหม่ น้ำยาที่อยู่ภายในแท่งบารากู่ไฟฟ้านั้นชุบอยู่กับใยสังเคราะห์ น้ำยาดังกล่าวเป็นสารเคมีที่สังเคราะห์ให้เกิดกลิ่นผลไม้ชนิดต่าง ๆ ขณะที่น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินเหลว สารนิโคตินไม่มีกลิ่น แต่นิโคตินเหลวที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จากการเติมสารเคมี 10-20 ชนิด รวมถึงสารเคมีที่ทำให้น้ำนิโคตินเหลวระเหยเป็นละอองไอน้ำง่ายขึ้น เพื่อทำให้เวลาสูบแล้วพ่นออกมาเห็นเป็นควันเหมือนการสูบบุหรี่ โดยสรุปก็คือ บารากู่ไฟฟ้ากับบุหรี่ไฟฟ้ามีอุปกรณ์การสูบที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่น้ำยาที่ใช้แตกต่างกัน ถ้าหากน้ำยาที่ใช้กับบารากู่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินผสมอยู่ด้วยก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “บุหรี่ไฟฟ้าชูรส” คือเป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่ปรุงแต่งให้เกิดกลิ่นและรสชนิดต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่เป็นรสผลไม้(4)
รูปที่ 2 บารากู่ไฟฟ้า(4)
อันตรายจากบารากู่และบารากู่ไฟฟ้า
ความแตกต่างของบารากู่นั้น เนื่องจากบารากู่ต้นตำรับเป็นการหมักยาเส้นกับกากผลไม้ต่าง ๆ ทำให้เวลาสูบบารากู่จะมีกลิ่นผลไม้ แต่บารากู่ไฟฟ้านั้น กลิ่นผลไม้มาจากสารเคมีสังเคราะห์ให้เกิดกลิ่นผลไม้ชนิดต่าง ๆ อาจจะเรียกบารากู่ไฟฟ้าว่าบุหรี่ไฟฟ้าชูรสก็คงจะไม่ผิด ส่วนที่ผู้ขายบอกว่าไม่มีสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้านั้นอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ถึงไม่มีสารนิโคตินในบารากู่ไฟฟ้า แต่สารเคมีชนิดต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นผลไม้ แม้ยังไม่ทราบว่าเป็นสารเคมีตัวใดบ้าง เมื่อสูดเข้าสู่ปอดแล้วถือว่าเป็นอันตราย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ให้ข้อมูลจากการแกะแท่งบารากู่ไฟฟ้าออกดูพบสารคล้ายน้ำมันกลิ่นฉุนจัด โดยสารเคมีปรุงแต่งกลิ่นซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมนี้เป็นอันตรายต่อปอดและร่างกาย และการรับควันอะไรก็ตามเข้าไปในปอดล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งนั้น เพราะปอดของคนเราต้องการเพียงอากาศบริสุทธิ์(4) จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า
บารากู่
อันตรายจากสารพิษจากการเผาไหม้ ผู้ที่สูบบารากู่อาจติดเชื้อโรคจากกรรมวิธีการสูบที่ใช้อุปกรณ์สูบร่วมกัน โดยพฤติกรรมการสูบมักจะเป็นการผลัดเปลี่ยนเวียนกันสูบหลาย ๆ คน ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อหลายชนิด เช่น วัณโรค ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คอตีบ ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และมีโอกาสจะติดโรคร้ายแรงในช่องปากด้วย
การมีพฤติกรรมเสี่ยงในการเสพร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่น ๆ เช่น ยาอี ยาเค ยาบ้า กัญชา หรือผงขาว
หากมีการใช้ยาเส้นหรือใบยาสูบร่วมด้วยจะมีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่ตามปกติ เพราะมีสารนิโคตินและสารทาร์มากกว่าบุหรี่ทั่วไป รวมทั้งวิธีการสูบผ่านน้ำนั้นไม่สามารถกรองสารพิษต่าง ๆ ออกได้ และการปรุงแต่งรสของยาเส้นกับผลไม้หรือกลิ่นต่าง ๆ นั้น ทำให้ความเข้มข้นของควันจางลง ซึ่งส่งผลให้สามารถสูบได้ลึกมากขึ้น
จากการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ฮุคคานั้น ถ้าใช้เวลาสูบนาน 45 นาที จะได้รับสารทาร์เป็น 36 เท่า คาร์บอนมอนอกไซด์เป็น 15 เท่า และนิโคตินเป็น 70เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้บุหรี่ 9 มวน (ซึ่งคำนวณว่า 1 มวนใช้เวลา 5 นาที) และอีกการศึกษาหนึ่งพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สูบยาแล้ว มีโอกาสเป็นโรคเหงือกมากกว่าถึง 5 เท่า(1)
บารากู่ไฟฟ้า(4)
จากการตรวจวิเคราะห์สารเคมีในบารากู่ไฟฟ้า โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค พบว่าบารากู่ไฟฟ้ามีสารพิษชนิด Organic Compound (กลุ่มของสารประกอบอินทรีย์) ดังต่อไปนี้
บารากู่ไฟฟ้าในรูปแบบแท่งตรวจพบสาร propylene glycol, menthol, cyclohexanol และ triacetin
บารากู่ไฟฟ้าในรูปแบบของเหลวตรวจพบสาร propylene glycol, menthol, cyclohexanol และ triacetin
และส่วนประกอบของสารพิษชนิด Metals (กลุ่มโลหะหนัก) ได้แก่ chromium manganese, copper, zinc, arsenic, cadmium, mercury และ lead ซึ่งเป็นสารอันตรายที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังในการใช้งาน
มาตรการด้านกฎหมายกับผลิตภัณฑ์บารากู่ไฟฟ้า/บารากู่(3)
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์บารากู่ไฟฟ้าสามารถถูกควบคุมดำเนินการโดยใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่
1. พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 ห้ามผลิตนำเข้าเพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไป หรือโฆษณาสินค้าอื่นใดที่มีรูปลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประเภทบุหรี่ซิกาแรต หรือบุหรี่ซิการ์มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (กรณีทำรูปร่างเลียนแบบบุหรี่ซิกาแรตหรือบุหรี่ซิการ์)
2. พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ห้ามมิให้นำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้ามหรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือทั้งจำทั้งปรับ
การละเมิดกฎหมาย
กรณีบารากู่ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบ
กรณีมีส่วนประกอบของใบยาสูบ หากสูบในเขตปลอดบุหรี่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 มาตรา 6 ห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
กรณีบารากู่ที่ไม่มีส่วนประกอบของใบยาสูบ
กรณีไม่มีส่วนประกอบของใบยาสูบ หากสูบในเขตปลอดบุหรี่ หรือสถานที่อื่น ๆ หากทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นจะเป็นความผิดเรื่องก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เอกสารอ้างอิง
1. ศูนย์บริการวิชาการและพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติดกลุ่มท้องถิ่นและภูมิภาคศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. บารากู่ คืออะไร?. http://www.sri.cmu.ac.th/~srilocal/drugs/knowledge-details.php?knowledge_id=24
2. http://board.postjung.com/562703.html
3. สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. “บารากู่ไฟฟ้า” อันตรายกว่าที่คิด เข้าใจแบบผิด ๆ ชีวิตจะอันตราย. http://www.vcharkarn.com/varticle/58744
4. 17 เรื่องควรรู้ “บารากู่ไฟฟ้า”. http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9560000156654
5. เตือนควัน 'บารากู่ไฟฟ้า' มีอันตราย. http://www.thairath.co.th/content/390734