“เซเรบอสอวอร์ด 2014” ทุนวิจัยด้านสุขภาพของคนไทย ต่อยอดองค์ความรู้ ยกระดับการวิจัยทางสุขภาพ
ปัจจุบันนี้บุคคลในวงการต่าง ๆ หลาย ๆ หน่วยงานได้ให้ความสนใจในการทำวิจัยกันมากขึ้น ทั้งนี้เพราะได้เล็งเห็นประโยชน์ของงานวิจัยที่เข้ามาช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่การก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และสามารถใช้ทำนายปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากกว่าการคาดคะเนแบบสามัญสำนึก ทำให้สามารถใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และยุติธรรม อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นบุคคลให้มีเหตุผล รู้จักคิด และค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า งานวิจัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ ความจริง และเป็นวิธีการที่มีความเชื่อถือได้มากกว่าวิธีการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการอื่น ๆ เนื่องจากการวิจัยจะต้องผ่านกระบวนการซึ่งประกอบด้วย การกำหนดปัญหา การตั้งสมมุติฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปผล และเขียนรายงานการวิจัย ทำให้ข้อมูลความรู้ที่ได้จากการวิจัยสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่าง ๆ มากมาย
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานวิจัยโครงการ “ทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ด” เป็นโครงการสนับสนุนให้นักวิจัยไทยร่วมส่งผลงานเพื่อขอรับทุนที่เกี่ยวข้องกับด้านโภชนศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของไทย ส่งเสริมด้านโภชนาการและสุขภาพให้แก่คนไทย ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 14 ได้มอบทุนวิจัยเป็นจำนวนเงินปีละ 500,000 บาท โดยไม่มีข้อผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิจัยได้รับทุนจากโครงการไปแล้วกว่า 40 ผลงาน
ศ.นพ.จอมจักร จันทรสกุล ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย และประธานคณะกรรมการพิจารณาทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ด เปิดเผยว่า โครงการทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ด (Cerebos Awards) ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการทั่วไป ได้ร่วมส่งผลงานวิจัยเพื่อขอรับทุนทางด้านการแพทย์ โภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และยา รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคที่มีผลต่อโภชนบำบัดและการส่งเสริมสุขภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม อีกทั้งเพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของประเทศไทยไปสู่การยอมรับในระดับโลก ซึ่งงานวิจัยที่ถูกคัดเลือกให้ได้รับทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ดจะผ่านการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาทุนฯ ประกอบด้วยนักวิชาการอิสระ เช่น แพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ โดยมีแนวทางในการพิจารณาประกอบด้วย 1. การนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป 2. ความคิดริเริ่ม 3. โอกาสที่จะทำงานวิจัยให้สำเร็จ และ 4. ความสำคัญทางวิชาการ วิธีการวิจัย และการดำเนินงาน โดยโครงการทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ดจะมอบทุนวิจัยประเภทวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ซึ่งสามารถแบ่งให้โครงการวิจัยได้ไม่เกิน 5 โครงการต่อปี
นายตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท เซเรบอส เรียกได้ว่าเป็นบริษัทแรก ๆ ของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางคลินิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ศึกษาถึงคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมสังคมและแวดวงทางวิชาการ อย่างเช่น โครงการทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ดนี้ก็ได้ร่วมกับมูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จวบจนบัดนี้นับเป็นปีที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของนักวิจัยไทยไปสู่การยอมรับในระดับโลก เนื่องจากบริษัทฯ ได้เล็งเห็นว่านักวิจัยไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใด ๆ แต่อาจจะยังขาดการสนับสนุนด้านทุนวิจัย และโอกาสในการต่อยอดผลงานให้สามารถใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
“ที่ผ่านมาทางโครงการได้ให้ทุนวิจัยไปแล้วถึง 40 ทุนวิจัย โดยมีงานวิจัยที่วิจัยสำเร็จและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว 23 ผลงานวิจัย ซึ่งเซเรบอสรู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้าและพัฒนาด้านวิชาการในประเทศไทยต่อไป”
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สริน ทัดทอง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยเซเรบอสอวอร์ด 2011 ในการวิจัยเรื่อง “ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทและฤทธิ์กระตุ้นการงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาทของสารสกัดจากผลไม้” (Neuritogenic and Neuroprotective activities of fruit residue) ได้กล่าวถึงผลงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยให้ฟังว่า งานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาทและฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทของสารสกัดผลไม้ โดยผู้วิจัยเลือกศึกษาสารสกัดเปลือกผลลิ้นจี่ (Litchi chinensis Sonn., วงศ์ Sapindaceae), เปลือกผลสละ (Salaccca edulis Reinw., วงศ์ Arecaceae), เปลือกเมล็ดละมุด (Achras sapota L., Sapotaceae) และเปลือกเมล็ดมะขามพันธุ์ปลูก (cultivated variety) ศรีชมภู (Tamarindus indica L., Srichompu cultivar., วงศ์ Caesalpiniaceae) หลังจากทำการวิจัยและทดสอบอัตราการรอดชีวิตของเซลล์ประสาทเมื่อได้รับสารสกัดผลไม้ทั้ง 4 ชนิดนี้ที่ความเข้มข้นต่ำ ระดับนาโนกรัมต่อปริมาตรในหน่วยมิลลิลิตรพบว่า สารสกัดเปลือกผลลิ้นจี่และสละที่ความเข้มข้น 1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดเปลือกเมล็ดละมุดที่มีความเข้มข้น 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร และสารสกัดเปลือกเมล็ดมะขามที่มีความเข้มข้น 100 นาโนกรัม/มิลลิลิตร สามารถทำให้เซลล์ประสาทมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่ากลุ่มควบคุม
นอกจากนี้ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า สารสกัดทั้ง 4 ชนิดนี้สามารถกระตุ้นให้เซลล์ประสาทเกิดงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาทได้มากกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารทดสอบ และยังแสดงฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทจากสภาวะเครียดออกซิเดชันที่จำลองขึ้น ผู้วิจัยได้ทำการตรวจวัดปริมาณฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์รวมในสารสกัด พบว่ามีปริมาณสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสารออกฤทธิ์หลักในการกระตุ้นการงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาทและปกป้องเซลล์ประสาทของสารสกัดเหล่านี้ และทำหน้าที่เป็นสารส่งสัญญาณภายในเซลล์มากกว่าที่จะเกิดจากการทำหน้าที่เป็นเพียงแค่สารต้านอนุมูลอิสระ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของเปลือกผลไม้ ซึ่งเป็นเพียงขยะเหลือใช้ในครัวเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาพัฒนาไปเป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นการงอกและเพิ่มจำนวนของแขนงประสาทและฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาท เพื่อใช้ในการรักษาหรือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติ Natural Product Communications เมื่อปี ค.ศ. 2013 เล่มที่ 18 ฉบับที่ 11 หน้า 1583-1586